กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สสวท.
ไคโตซาน คือ สารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และผนังเซล ของเห็ด ราบางชนิด ไคติน-ไคโตซาน จัดเป็นโคโพลิเมอร์ที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีปริมาณของไคติน มากเป็นอันดับสองรองจากเซลลูโลส ไคติน-ไคโตซาน มีสมบัติพื้นฐานที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไคติน-ไคโตซาน มีหมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติพิเศษหลายประการที่ต่างจากเซลลูโลส เช่น การละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง การจับกับอิออนของโลหะได้ดี และการมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ปัจจุบันมีการนำสาร ไคติน-ไคโตซาน มาประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ทางการแพทย์ และเภสัชกรรม เช่น สารตกตะกอนในการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ เพื่อป้องกัน แบคทีเรียและเชื้อรา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อคุณภาพในการลดไขมันและคอเลสเตอรอล เรื่องความสวยความงามที่เป็นที่สนใจของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย สารเร่งการเติบโตในพืชและสัตว์ แลกเนื้อต่างๆ เช่น สุกร กุ้ง เป็ด ไก่ สารเคลือบผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สารถนอมอาหาร และแผ่นฟิล์มปิดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
นางสาวเบญจวรรณ บุญแก้ว ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ทำวิจัยเรื่อง การศึกษาการดูดซับของ Acid Orange 12 บนไคโตซาน โดยมี อาจารย์สุรจิตร ทีฆสกุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เป็นที่ปรึกษา จากศึกษาการใช้ไคโตซานดูดซับสารละลายสีย้อม Acid Orange 12 ที่อุณหภูมิ 30 Celciovs degree 50 Celciovs degree และ 70 Celciovs degree การดูดซับเป็นไปตาม Freundlich adsorption Isotherm และจากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการดูดซับที่อุณหภูมิต่างๆ โดยพิจารณาจากค่า Q(theoretical monolayer saturation capacity) ตามวิธีของ Langmuir พบว่า การดูดซับทางกายภาพและเคมีเกิดร่วมกัน ซึ่งที่ 30 Celciovs degree ค่า Q = 1,012 mg/g ที่ 50 Celciovs degree ค่า Q =3,603 mg/g และ ที่ 70 Celciovs degree ค่า Q =2,933mg/g
นางสาวนีรนุช ภู่สันติ ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ทำวิจัยเรื่องเตรียมและศึกษาคุณลักษณะของเยื่อแผ่นไคโตซาน โดยมี อาจารย์สุรจิตร ทีฆสกุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เป็นที่ปรึกษาศึกษาการเตรียมและคุณลักษณะของเยื่อแผ่นไคโตซาน ที่เตรียมโดย 2 วิธี วิธีแรกเตรียมเยื่อแผ่นไคโตซานจากสารละลาย 2%
โดยน้ำหนักและปริมาตรของไคโตซานในกรดอะซิติกเข้มข้น 1% โดยปริมาตรแล้วผสมกับ porogens คือ poly(ethylene glycol)(PEG) หรือ poly(vinyl alcohol)(PVA) เมื่อทำการตรวจสอบโครงสร้างเยื่อแผ่นด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด พบว่าเยื่อแผ่นที่ได้ มีลักษณะเป็นเยื่อแผ่นไม่สมมาตรมีชั่นผิวแบบแน่นเกิดขึ้นที่ผิวด้านที่สัมผัสกับอากาศ วิธีที่สองเป็นการเตรียมและศึกษาคุณลักษณะเยื่อแผ่น ไคโตซาน สำหรับกระบวนการ pervaperation โดยใช้เทคนิค response surface methodology(RSM)ในการออกแบบการทดลอง ซึ่งเตรียมเยื่อแผ่นจากสารละลาย 1% โดยน้ำหนักต่อปริมาตรของไคโตซาน ในกรดอะซิติกเข้มข้น 1% หลังจากนั้น ทำการเชื่อมขวางด้วยกรด ซัลฟิวริก
ทั้งนี้ผลงานดังกล่าว จะนำเสนอในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน" ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2549 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง 3 วัย...นักวิทย์กับชีวิตงานวิจัย การบรรยายและจัดแสดงผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่าสี่ร้อยหัวข้อจากนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และนักวิทยาศาสตร์ไทยในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.) และ โครงการอื่นๆ และนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ โดยคลิกไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ เว็บไซต์ www.ipst.ac.th