ผลการส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์สู่คุณหนู ๆ ระดับภูธร...พบว่า “วัยซนเมืองวาปีปทุม จ. มหาสารคาม คว้าชัยระดับประเทศ”

ข่าวทั่วไป Monday January 19, 2009 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สสวท. เมื่อวันที่ 9-10 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดการแข่งขัน “ผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ระดับประเทศ” ระดับประถมศึกษา เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบรอบ 36 ปี การแข่งขันดังกล่าวเป็นการใช้โปรแกรม GSP สร้างรูปเพื่อใช้สำรวจหรือพิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ เรขาคณิต รวมทั้งใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างชิ้นงานอย่างสร้างสรรค์สืบเนื่องมาจากการที่ สสวท. ได้พยายามหาหนทางยกระดับการศึกษาคณิตศาสตร์ของเด็กไทยให้ดีขึ้นมาโดยตลอด และพบว่า สาเหตุหนึ่งที่เรียนคณิตศาสตร์แล้วไม่เข้าใจ เพราะการสอนคณิตศาสตร์จะต้องสอนแบบนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือจับต้อง เห็นภาพได้ ถึงจะเข้าใจ และที่สำคัญการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันจะทำให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าและเป้าหมายจากการเรียนคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น หลายปีที่ผ่านมา สสวท. จึงได้นำ โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) มาใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ และส่งเสริมให้โรงเรียนทั่วประเทศได้ใช้กันในระดับท้องถิ่นทุกจังหวัด เนื่องจากโปรแกรมดังกล่าวช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการนึกภาพ และทักษะกระบวนการแก้ปัญหา สำหรับการส่งเสริมการใช้โปรแกรม GSP ในสถานศึกษาทั่วประเทศนั้น ได้มีการร่วมมือร่วมแรงจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สสวท. ที่ได้จัดอบรมครูไปแล้วปีละหลายรุ่น ทั้งอบรมวิทยากรหลักจากโรงเรียนต่าง ๆ และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะไปขยายผลต่อ และจัดอบรมให้แก่ผู้สนใจ จัดทำเว็บไซต์ thaiGSP.ipst.ac.th เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจ จัดบรรยายและเวิร์คช็อปในการประชุมวิชาการต่าง ๆ ให้เยาวชน ครูและผู้สนใจตลอดทั้งปี นอกจากนั้น สสวท. ยังมีโรงเรียนแกนนำ และศูนย์ GSP ระดับท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง ที่จะไปขยายผล GSP ให้เพื่อนครูในท้องถิ่น เป็นเครือข่ายโยงใยถึงกันไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้น คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ต่างก็อบรมและเผยแพร่ความรู้ด้าน GSP ให้แก่ครูและผู้สนใจ เสริมอีกแรง และในส่วนของโครงการโรงเรียนในฝัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ก็ได้ดำเนินการโปรแกรม GSP ไปส่งเสริมให้แก่โรงเรียนสังกัด สพฐ. ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างตั้งใจ ผลที่ได้นั้น ครูคณิตศาสตร์ต่างก็ให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม บอกว่า GSP เป็นสื่อในฝันที่หามา นานแล้ว คราวนี้ได้ใช้กันสักที จนนักเรียนเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างสนุก เข้าใจ นำไปสู่การทำโครงงานคณิตศาสตร์มากมาย อาทิ การนำ GSP ออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของนักเรียนโรงเรียนพะเยาพิทยาคม จ.พะเยา โรงเรียนศรีสวัสด์วิทยาคาร จ. น่าน โรงเรียนกะทู้วิทยา จ.ภูเก็ต โรงเรียนเซนต์แมรี่ จ. อุดรธานี หรือโครงงานใช้ GSP พิสูจน์ทฤษฎีคณิตศาสตร์ต่าง ๆ กว่าที่จะมาถึงเวทีระดับประเทศนั้น สสวท. ได้จัดแข่งขันระดับภูมิภาคมาแล้ว 5 ศูนย์ ที่ ศูนย์โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนสุราษฏร์ธานี โรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ โรงเรียนธัญรัตน์ และโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วคัดเลือกทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 มาร่วมแข่งขันในเวทีระดับประเทศดังกล่าว สำหรับชั้นประถมศึกษา ในเวทีระดับประเทศ มีเยาวชนจาก 12 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 จากศูนย์แข่งภูมิภาค เข้ามาร่วมชิงชัย ได้แก่ โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต โรงเรียน อบจ. เมืองภูเก็ต โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น โรงเรียนเมืองวาปีปทุม โรงเรียนวัดเขียนเขต โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนอนุบาลเชียงของ (ส่ง 2 ทีม) โรงเรียนอุบลวิทยาคม โรงเรียนบ้านเด็กวารินชำราบ และโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ผลการแข่งขัน “ผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ระดับประเทศ” ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศและเหรียญทอง เด็กหญิงสิรญาณ์ วงษาไฮ เด็กหญิงมินตรา เทเวลา โรงเรียนเมืองวาปีปทุม จ. มหาสารคาม รองชนะเลิศอันดับหนึ่งและเหรียญเงิน เด็กชายนิธิศ หงษ์ทอง เด็กชายชัชชล พรหมสนิท โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ จ. สุราษฎร์ธานี รองชนะเลิศอันดับสองและเหรียญเงิน เด็กหญิงชลณัฐ วงค์สถาน เด็กหญิงอรพรรณ ใคร้มูล โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ. เชียงใหม่ รางวัลเหรียญทองแดง เด็กชายกันตพงศ์ งานสกุล เด็กชายกันตภณ มิคาทนานนท์ โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต จ.ภูเก็ต เด็กชายศุภโชค อุทามนตรี โรงเรียนอุบลวิทยาคม จ.อุบลราชธานี เด็กชายชนนท์ จันทสูรย์ เด็กชายธฤต วิเชียรขู้ โรงเรียน อบจ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต โจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ การสะท้อนของกระจก โดยนักเรียนจะต้องเข้าใจถึงระดับการมองของสายตา และการสะท้อนของกระจกว่าส่วนไหนที่เห็นหรือมองไม่เห็นและภาพสะท้อนออกมาจะเป็นอย่างไร สมบัติของสี่เหลี่ยมคางหมู สร้างและสำรวจรูปสี่เหลี่ยมคางหมูตามคำสั่ง และการออกแบบสนามเด็กเล่น เป็นการใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างสรรค์ชิ้นงาน เป็นภาพทางเรขาคณิตที่เคลื่อนไหวได้ เพราะ GSP คือหน้ากระดาษเปล่า ๆ ที่นักเรียนใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างชิ้นงานได้ตามความนึกคิดและจินตนาการ อีกทั้งสนามเด็กเล่นนี้เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบ คุ้นเคย และอยู่ใกล้ตัวเขา นายสมนึก บุญพาไสว ผู้ชำนาญสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. กล่าวถึงผลงานที่เยาวชนสร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับเวทีนี้ว่า บางโรงเรียนมีแนวคิดที่น่าสนใจ นักเรียนสามารถนำ GSP ไปแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ดี และขอฝากถึงนักเรียนทุก ๆ คนที่ได้เรียนรู้การใช้โปรแกรม GSP แล้วว่า ให้หมั่นใช้โปรแกรมนี้มาก ๆ เพื่อทดลองฝึกฝนทางคณิตศาสตร์ สิ่งใดที่ยังสงสัยอยู่ก็ทดลองใช้ ทดลองทำได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ เมื่อลองผิดลองถูกไป และได้รับคำชี้แนะจากครูผู้สอน ความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ก็จะติดตัวนักเรียนไปได้ดี เด็กหญิงจุฑามาศ เจริญขวัญ (ปูเป้) ชั้น ป. 5 โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โปรแกรม GSP เป็นสื่อที่ช่วยให้ตนเองเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้น การแข่งขันระดับภูมิภาคนั้นง่ายกว่า ซึ่งโจทย์ระดับภูมิภาคนั้นมีเพียง 2 ข้อ คือ สร้างชิ้นงานไม้กระดก และออกแบบขบวนแห่งานแห่เทียนพรรษา “หนูเพิ่งเริ่มใช้โปรแกรม GSP ตอนเรียนชั้น ป. 5 นี่เองค่ะ อยากรู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ในโปรแกรมให้ถ่องแท้กว่านี้ ก่อนนี้ที่ยังไม่เคยใช้กับหลังการใช้ GSP ในการเรียนรู้คณิตศาสตร์เห็นความแตหต่างกันมาก เพราะสามารถนำโปรแกรมนี้มาประยุกต์เปรียบเทียบหลักการทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ” เด็กชายทวีทรัพย์ แสงเพชร์ (มายด์) ชั้น ป. 6 โรงเรียนอนุบาลเชียงของ จังหวัดเชียงราย บอกกับเราว่า โปรแกรม GSP ใช้คำนวณได้หลายอย่าง ออกแบบงานต่าง ๆ ได้ ทำให้เรียนคณิตศาสตร์เข้าใจง่ายขึ้น ความรู้ที่ใช้ในการสอบครั้งนี้ เช่น การเลื่อนขนาน การรวมจุดสร้างเส้น พอใจกับผลงานของตัวเองมากครับ “ผมเริ่มรู้จักโปรแกรม GSP ตอนเรียนชั้น ป. 4 และอยากพัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอาจมีการใช้งานบางอย่างที่ผมยังไม่รู้ ผมคิดว่า ในการฝึกใช้โปรแกรมนี้ ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจก็ไม่อยาก โดยก่อนอื่นต้องรู้จักใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในโปรแกรม และหัดฝึกทำโจทย์จากง่าย ๆ ไปหายาก เช่น ในระดับเริ่มต้น ฝึกลากเส้น สร้างรูปวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เป็นต้น” ในส่วนของเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้ เด็กหญิงสิรญาณ์ วงษาไฮ (เอิน) ชั้น ป. 6 โรงเรียนเมืองวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เล่าให้เราฟังว่า ได้เริ่มเรียน GSP ตั้งแต่ชั้น ป. 4 ทำให้เรามีประสิทธิภาพในการทำโจทย์คณิตศาสตรืได้เร็วขึ้นและเข้าใจเร็วขึ้นด้วย คิดว่าผลงานที่ทำให้ทีมของหนูได้รางวัลชนะเลิศก็คือการออกแบบสนามเด็กเล่น โดยหนูกับเพื่อนได้นำความรู้จากหนังสือ ประสบการณ์การไปสวนสนุก และสวนสัตว์มาสร้างชิ้นงานชิงช้าที่สามารถแกว่งไกวได้ และมีไม้กระดก บ่อทราย หนูชอบชิ้นงานี้มาก เพราะมันดูน่ารักดีค่ะ ทั้งนี้ นับว่าการแข่งขัน “ผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ระดับประเทศ” นั้น เป็นเวทีให้นักเรียนได้ประมวลความรู้ทางคณิตศาสตร์ มารังสรรค์ผลงานคุณภาพผ่านโปรแกรม GSP ผลงานที่เยาวชนเหล่านั้นตั้งใจจัดทำขึ้นมา ได้สะท้อนองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่พวกเขามีอยู่ได้อย่างยอดเยี่ยม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ