กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบแนวทางปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบบูรณาการ ทั้งการผลิตบุคลากร การจัดทำฐานข้อมูลในการหาแรงงาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนร่วมกับเอกชนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นว่า ปัจจุบัน มีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านภาษีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกัน มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการดึงดูดการลงทุน เพราะจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของอุตสาหกรรม
ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ผนวกรวมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุน เข้ากับมาตรการส่งเสริมการลงทุนปัจจุบัน ดังนี้ มาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องบุคลากร มาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนา มาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ในเรื่องที่สำคัญคือ
1. เรื่องบุคลากร ให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จัดทำฐานข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างงานและนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการขออนุญาตทำงานในระบบ Single Window รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันเฉพาะทางและสถาบันฝึกอบรมทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและฝึกอบรมบุคลากรไว้รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น
2. มาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนา เพื่อไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนหลักในการส่งเสริม Regional Innovation System เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และการรวมกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนา Technology Licensing Network รวมทั้งจัดให้มี Matching Fund สำหรับการสร้างนวัตกรรม
3. ให้กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
4. มาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการลงทุน และเห็นควรกำหนดเขตพื้นที่พิเศษและเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด Cluster เพื่อประเมินสถานภาพและความพร้อมของพื้นที่และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และระบบโลจิสติกส์ โดยให้บีโอไอร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการกำหนดพื้นที่และการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
และ 5. ให้มีการจัดหาแหล่งเงินสนับสนุนในรูป Matching Fund จากภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการลงทุนด้วย