ม.หอการค้าไทยพัฒนาหุ่นยนต์เอ็กซเรย์และทำลายวัตถุระเบิดมอบให้กองทัพอากาศไทย ร่วมใจช่วยทหารพ้นภัยจากการกู้ระเบิด

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2009 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--พีอาร์พีเดีย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่อยอดโครงการหุ่นยนต์กู้ภัยหลังได้รับรางวัลระดับโลก พัฒนาหุ่นยนต์เอ็กซเรย์และทำลายวัตถุระเบิด (The Explosive Ordnance X-ray and Disruption Robot: EOXD Robot) มอบให้กองทัพอากาศไทย หวังช่วยเหลือทหารเสี่ยงภัยเก็บกู้ระเบิดภาคใต้ อธิบการบดีภาคภูมิใจฝีมืออาจารย์และนักศึกษา ม.หอการค้าไทยเทียบเท่าต่างชาติ ช่วยหลวงประหยัดงบสั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากทีมหุ่นยนต์กู้ภัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้าไทยได้รับรางวัลจากการแข่งขันประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เช่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก (World Robocup Rescue 2007) ณ เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา และรางวัล Gold Medal Award “Best Young Inventor” ปี 2008 ในงานวันนักประดิษฐ์ แห่งชาติและวันนักประดิษฐ์สากล ปี 2551 จากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WITPO) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 องค์กรของสหประชาชาติ เพื่อเป็นการต่อยอดให้หุ่นยนต์ดังกล่าวให้ได้ใช้ประโยชน์จริง ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับการระเบิดในจุดต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์และทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ต้องสูญเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ม.หอการค้าไทยตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ จึงมอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์คิดค้นหุ่นยนต์เอ็กซเรย์และทำลายวัตถุระเบิด (The Explosive Ordnance X-ray and Disruption Robot: EOXD Robot) ขึ้น เพื่อมอบให้กับแผนกทำลายวัตถุระเบิด กองพัสดุสรรพวุธ กรมสรรพาวุธทหารอากาศ นำไปใช้ในการเก็บกู้ระเบิด “หุ่นยนต์ EOXD ฝีมือคณะอาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้าไทยผ่านการทดสอบร่วมกันกับกรมสรรพวุธแล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง โดยหุ่นยนต์ EOXD 1 ตัวใช้งบประมาณไม่ถึงล้านบาท ซึ่งถูกว่าหุ่นยนต์ของต่างประเทศที่มีมูลค่าตัวละหลายสิบล้านบาท ดังนั้นการที่เด็กไทยสามารถพัฒนาหุ่นยนต์เอ็กซเรย์และทำลายวัตถุระเบิดได้เอง จึงเป็นการช่วยประเทศประหยัดงบประมาณ ถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง โดยมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าต่อไปจะสามารถผลิตและจำหน่ายให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกด้วย” อธิการบดีกล่าวเพิ่มเติม ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมร ตันวรรณรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงหุ่นยนต์ EOXD ว่า หุ่นยนต์เอ็กซเรย์และทำลายวัตถุระเบิด EOXD มีหน้าที่ในการทำงานตรวจสอบวัตถุระเบิดในพื้นที่เสี่ยงภัยแทนมนุษย์ด้วยการเอ็กซเรย์วัตถุต้องสงสัย แล้วส่งภาพวัตถุต้องสงสัยกลับมาที่ผู้ควบคุมในระยะไกล จากนั้นหากพบว่าเป็นวัตถุระเบิด ผู้ควบคุมสามารถสั่งให้หุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิดด้วยปืนยิงน้ำแรงดันสูงขนาด 40 มม. ทำลายวัตถุระเบิดไม่ให้เกิดการระเบิดขึ้น ก่อนที่จะเกิดการระเบิดทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ โดยจุดเด่นอีกอย่างของหุ่นยนต์ EOXD ม.หอการค้าไทยที่มอบให้กับกรมสรรพวุธ กองทัพอากาศก็คือหุ่นยนต์ EOXD มีแขนกลขนาดยาว ทำให้สามารถยื่นเครื่องเอ็กซเรย์ไปตรวจจับวัตถุระเบิดบนมอเตอร์ไซด์ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมองเห็นความสำคัญของความสามารถนี้ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายมักซ่อนระเบิดไว้ในเบาะรถมอเตอร์ไซด์ ทำให้ เจ้าหน้าที่ทหารต้องเสี่ยงภัยเข้าไปตรวจและเก็บกู้ระเบิดด้วยตนเอง หุ่นยนต์ EOXD ถูกออกแบบให้มีเมนูระบบสั่งการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน และผ่านการทดสอบร่วมกับกรมสรรพวุธแล้วว่าสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์เดิมซึ่งกองทัพอากาศมีอยู่ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ และปืนยิงทำลายระเบิด เป็นต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้โดยง่ายและไม่เกิดการผิดพลาดจากการใช้งาน “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดหวังว่าหุ่นยนต์ EOXD จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของราชการ สามารถช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารผู้เสียสละ โดยขณะนี้ทางทีมวิศวกรรมศาสตร์กำลังพัฒนาอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้กับหุ่นยนต์ EOXD เพื่อช่วยให้ประเทศไม่ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรกล่าวเพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / จตุพล นาคนิ่ม / พชรวดี จุโลทัย มือถือ: 089 811 7937 / 081 689 8245 / 085 055 1473 โทรศัพท์: 02 662 0550 อีเมล์ : contact@prpedia.co.th กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โทรศัพท์: 02 697 6780-3 โทรสาร: 02 697 6786 อีเมล์: prutcc@utcc.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ