ผลการดำเนินงานของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2009 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ธนาคารนครหลวงไทย การดำเนินงานของธนาคารนครหลวงไทยในรอบปี 2551 ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ผันผวน ทั้งนี้ เป็นผลจากการเตรียมความพร้อมที่ดีและกลยุทธ์สำคัญต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงระบบบริหารจัดการสาขา การเพิ่มและพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย การขยายฐานการตลาด การสร้างความร่วมมือในการทำธุรกิจกับพันธมิตร และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญ ความร่วมมือร่วมใจ ทุมเทพลังกาย พลังความคิด และความรู้ความสามารถ ของพนักงานทุกคน ส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด บุคคลากรซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญสุด นอกจากการยกระดับคุณภาพด้วยโครงการฝึกอบรม ตามโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงต้นน้ำมืออาชีพ โครงการต้นแบบมืออาชีพ โครงการต้นฉบับมืออาชีพ และหลักสูตรใหม่ๆ อาทิ การจัดทำแผนธุรกิจ การบริหาร การเป็นผู้นำ ตลอดจนการสร้างทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Team Building) แล้ว ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นอันดับต้น โดยในปีที่ผ่านได้ปรับเพิ่มสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งปรับฐานเงินเดือน และค่าครองชีพให้กับพนักงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ตลอดจนปรับปรุงสำนักงาน อุปกรณ์ต่างๆในการทำงานให้อำนวยความสะดวกกับพนักงานมากขึ้น จากสาขาที่มีอยู่ 407 แห่งแบ่งเป็น 34 เขต ธนาคารได้ปรับระบบบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็น 7 Cluster ให้ดำเนินงานตามศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ทำให้สาขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เพื่อเป็นการขยายการให้บริการทางการเงินทั้งด้านสินเชื่อ และบริการอื่นๆ ธนาคารได้เริ่มเปิดศูนย์ธุรกิจเป็นปีแรก โดยเปิดแล้วรวม 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ธุรกิจสาขาถนนสุรศักดิ์ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ธุรกิจสาขาถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์ธุรกิจสาขากิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์ธุรกิจถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งเปิดศูนย์ธุรกิจต่างประเทศเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศถนนสุรศักดิ์ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จากเดิมที่มีอยู่ แล้ว 4 แห่ง คือ ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศธนิยะ ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศนิคมอุตสาหกรรมบางปู ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศหาดใหญ่ และศูนย์ธุรกิจต่างประเทศนิคมอุตสาหกรรมนวนคร รวมทั้งทยอยเปิดสาขาของบริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย บนพื้นที่สาขาของธนาคาร เพิ่มมาเป็นระยะ เพื่อขยายฐานลูกค้าในการ Cross-selling และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการใช้บริการด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน ลักษณะเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ภายใต้แนวคิด SCIB Family ซึ่งจนถึงสิ้นปี 2551 มีบริการในลักษณะดังกล่าวแล้วรวม 17 แห่ง ทั่วประเทศ ด้านการขยายการตลาด ธนาคารได้พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทั้งของธนาคารและกลุ่มบริษัทในเครือ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิ “SCIB NGV Loan” ทางเลือกในการแบ่งเบาค่าน้ำมันให้ผู้ใช้รถ “SCIB T-Loan” สินเชื่อเงินสดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อแบ่งเบาภาระ “SCIB Mortgage Cash” สินเชื่อบุคคลอเนกประสงค์ “SCIB Home Loan” สินเชื่อเคหะอัตราดอกเบี้ยพิเศษ “SCIB Home Cash” Top up Loan สำหรับลูกค้าสินเชื่อเคหะ “SCIB Auto 3 Plus” ประกันที่มอบสิทธิคุ้มครองรถอย่างคุ้มค่า “SCIB Auto delivery by Ratchthani” เปลี่ยนรถเป็นเงินสดตรงถึงบ้าน “เงินฝากออมทรัพย์บุฟเฟต์” เงินฝากมอบสิทธิแก่ผู้ฝากในการลุ้นรับทองคำแท่ง “เงินฝากชื่นใจ 4 เดือน 4%” เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดทำการตลาดและส่งเสริมการขาย อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็น SCIB Family ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ นำเสนอบริการร่วมกับบริษัทในเครือที่หลากหลาย การร่วมกับพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์ จัดงาน “SCIB Home Loan 2008” การนำ NPA เด่นบนทำเลศักยภาพ ออกโปรโมชั่นพิเศษ พร้อมสินเชื่อทวีโชค ร่วมงานมหกรรมบ้าน และร่วมกับบลจ. นครหลวงไทย จำกัด บริการซื้อขาย RMF, LTF ด้วยบัตรเครดิต ธนาคาร ฯลฯ สำหรับด้านภาพลักษณ์เพื่อให้มีความชัดเจน โดดเด่นและแสดงความเป็นเอกลักษณ์ ถึงกลุ่มธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารมีแผนในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในปีนี้ โดยก้าวแรก ได้ทำการเปิดตัวเครื่องแบบพนักงานใหม่ในรูปแบบ New Look New Life (Style) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 สาขาต้นแบบ ที่สวยงามสอดคล้องกับอัตลักษณ์ (Identity) ของธนาคาร มีพื้นที่ในส่วนของลูกค้าที่มากขึ้น และมีบรรยากาศสบายกันเอง โปร่งใส ผสมผสาน Graphic แฟชั่นปัจจุบัน เสริมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย จะเริ่มเปิดให้บริการได้ที่สาขาชาญอิสระ (พระราม 4) และสาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ในไตรมาสแรกของปีนี้ และตามด้วยสาขาอื่นๆ อีกกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นความภาคภูมิใจของพนักงานธนาคารนครหลวงไทยทุกคน คือความสำเร็จจากความพยายามยกระดับคุณภาพในทุกด้าน ส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตามงบการเงินรวมสามารถพลิกฟื้นจากขาดทุนสุทธิจำนวน 2,027 ล้านบาทในปี 2550 เป็นกำไรสุทธิ 4,131 ล้านบาท และตามงบการเงินเฉพาะจากขาดทุนสุทธิ 2,097 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 3,821 ล้านบาท หรือกำไร 1.81 บาทต่อหุ้น มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับร้อยละ 9.95 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เท่ากับร้อยละ 0.93 และถ้าไม่รวมกรณีผลกระทบจากการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์บริษัทในเครือของธนาคาร เนื่องจากสินเชื่อ Margin Loan ธนาคารจะมีกำไรสุทธิสูงถึง 4,706 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายในระดับทรงตัว และมีการกันสำรองฯ ที่ลดลง รายละเอียดผลการดำเนินงานตามงบการเงินเฉพาะของธนาคารเป็นดังนี้ ผลจากการขยายธุรกิจและบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 27 bps จากร้อยละ 2.88 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 3.15 ในปี 2551 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 11,952 ล้านบาท เป็น 12,659 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวนเพียง 517 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 649 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2551 ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของปี 2551 เท่ากับ 2,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 2,213 ล้านบาท ธุรกิจสำคัญที่มีการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดี อาทิ ธุรกิจบัตรเครดิตมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 298 ล้านบาท เป็น 406 ล้านบาท ด้าน Bancassurance เพิ่มจาก 129 ล้านบาท เป็น 183 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 36 และร้อยละ 42 ตามลำดับ และผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มทำให้อัตราส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.3 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 15.5 ในปี 2551 ขณะที่มีค่าใช้จ่ายมิใช่ดอกเบี้ยเพียง 10,140 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 349 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3 ทำให้อัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Cost to Income Ratio) ดีขึ้นจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 61 และมีกำไรก่อนการกันสำรองสินเชื่อในปี 2551 สูงถึง 6,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,547 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4,963 ล้านบาท ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นธันวาคม 2551 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 414,400 ล้านบาท เป็นเงินให้สินเชื่อร้อยละ 67 หรือเท่ากับ 278,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 จำนวน 27,357 ล้านบาท หรือร้อยละ 11 ทั้งปีมีการอนุมัติสินเชื่อกับลูกค้าเป็นจำนวนสูงถึง 146,064 ล้านบาท ทำให้การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 532 ล้านบาทในไตรมาสแรก เพิ่มเป็น 4,391 ล้านบาท 10,568 ล้านบาท และ 11,866 ล้านบาทในแต่ละไตรมาส นอกจากนั้นสินเชื่อที่เพิ่มส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของลูกค้าเป้าหมายที่ธนาคารมุ่งเน้น คือ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ขณะที่ธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ทำให้โครงสร้างสินเชื่อของธนาคารปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 19 สินเชื่อ SMEs เพิ่มจากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 39 ขณะที่อัตราส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อ (Gross NPL) เท่ากับร้อยละ 7.56 และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อหลังหักสำรอง (Net NPL) เท่ากับร้อยละ 4.12 ด้านเงินฝากมีจำนวน 343,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 จำนวน 10,336 ล้านบาท สัดส่วนเงินฝากเป็นเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันรวมกันเท่ากับร้อยละ 28 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 ณ สิ้นปี 2550 เป็นร้อยละ 81 ณ สิ้นปี 2551 กำไรสะสมเท่ากับ 13,768 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 40,703 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 19.26 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ