กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--องค์การแอ็คชันเอด
องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วยเครือเอเพ็กซ์, นิตยสาร Bioscope เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (Save Andaman Network), มูลนิธิเด็ก, เว็บไซต์ www.thaingo.org , เว็บไซต์ www.thaishortfilm.com และรุ้งอ้วน เปิดโครงการ Action for Change ครั้งที่ 2 “วิถีมอแกน” ตีแผ่เรื่องราวชาวมอแกนในหลากหลายแง่มุม ผ่านเลนส์กล้องเสนอเป็นผลงานหนังสั้นฝีมือทีมหนังสั้นมือรางวัลในระดับนิสิตนักศึกษา และ พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับหญิงอินดี้เมืองไทยที่เคยคว้ารางวัลจากต่างประเทศมากมาย
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้ประสานงานโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วง 1 ปีกว่า ที่ผ่านมาที่ทางองค์การได้ช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนมอแกนในเกาะเหลานอก จังหวัดระนอง และชุมชนมอแกนอีกหลายแห่งในพื้นที่สึนามิ ทำให้เห็นปัญหามากมายของชาวมอแกน ซึ่งประกอบด้วยปัญหาด้านทัศนคติที่มองชาวมอแกนเป็นคนอื่นของสังคมไทย ถึงแม้ว่าชาวมอแกนบางส่วนจะได้รับสัญชาติไทยมานานแล้วก็ตาม ซึ่งกลายเป็นผลพวงโยงไปสู่ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน และการเลือกปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคต่อชาวมอแกน รวมถึงชาวมอแกนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เช่น กรณีของชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในเกาะเหลานอก จังหวัดระนอง ซึ่งเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมา ชาวมอแกนกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินชดเชยหรือการช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ อีกทั้งยังประสบปัญหาการถูกหลอกจากนายทุนให้ไปลักลอบระเบิดปลาในน่านน้ำพม่า ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายที่ได้รับจากระเบิดและถูกทหารพม่าจับกุม หรือการที่ถูกโกงตราชั่งเมื่อนำสัตว์น้ำที่จับได้มาขายให้พ่อค้าคนกลาง ซื้ออาหารหรือนมหมดอายุ เนื่องจากชาวมอแกนอ่านหนังสือไม่ออก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของโครงการ Action for Change ครั้งที่ 2 “วิถีมอแกน” ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละชุมชนมอแกน ด้วยมุมมองของหนังสั้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เกิดความตระหนัก รับรู้ และเข้าใจในชาติพันธุ์ของชนเผ่ามอแกนในมุมมองใหม่ ยอมรับชาวมอแกนเป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมไทยที่มี วิถีชีวิตที่แตกต่าง หลากหลาย แต่เปี่ยมด้วยปรัชญา คุณค่า และศักดิ์ศรี พร้อมทั้งร่วมกันผลักดันให้ชาวมอแกนได้รับสัญชาติไทยโดยถ้วนหน้ากัน เกิดการระดมทุน และจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวมอแกนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อให้ชาวมอแกนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
โครงการ Action for Change ครั้งที่ 2 “วิถีมอแกน” ได้เปิดรับสมัครทีมนักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งโครงเรื่องหนังสั้นมอแกนเข้าร่วมประกวด โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณา หนังสั้น 3 เรื่อง คือ เรื่องมอแกน ฟรีแมน (Moken Freeman) ทีม Frog in Feb & Illumina ผลงานของ อนุชิต มวลพรม, อรรถพล ธารรัตน์, ไพรัตน์ คุ้มวัน เรื่องมอแกน, ป่ะ? (Moken, Right?) ทีมสีเขียว ผลงานของ ทายาท เดชเสถียร, ณัฐวิทย์ ขาวศรี, พิศาล แสงจันทร์ และเรื่อง มะนุด มอแกน (The Moken) ทีมเวชนิทัศน์ ผลงานของ กิตตินันท์ อยู่เนียม, วรากร หมวดสิงห์, ชนัญชิดา ทรงโฉม รับทุนและลงพื้นที่เพื่อทำหนังสั้น หลังจากที่การถ่ายทำเสร็จสิ้น หนังสั้นทั้ง 3 เรื่องได้เปิดฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ 2 ก่อนที่จะนำไปฉายที่โรงภาพยนตร์พฤฒินันท์ จังหวัดระนอง เพื่อให้ชาวมอแกนในพื้นที่ได้ลงคะแนนคัดเลือกหนังสั้น 1 เรื่องรับรางวัลขวัญใจมอแกน ซึ่งผลปรากฏว่าหนังสั้นเรื่องมอแกน, ป่ะ? (Moken, Right?) ทีมสีเขียว ผลงานของ ทายาท เดชเสถียร, ณัฐวิทย์ ขาวศรี, พิศาล แสงจันทร์ ได้รับคะแนนสูงสุด
ทีมสีเขียว กล่าวถึงผลงานที่ได้รับการโหวตเป็นขวัญใจมอแกนว่า “ได้ยินคำว่า “มอแกน” ครั้งแรกตอน สึนามิ พอมาเข้าร่วมกับโครงการนี้ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจังซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของเกาะเหลา อยู่บ้านริมทะเล ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง อยู่แบบดั้งเดิม เราจึงติดภาพนั้นแล้วมาเขียนบท จนกระทั่งมาลงพื้นที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา เราจึงรู้ว่ามอแกนได้พัฒนามาอีกขั้นหนึ่งแล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนบทใหม่ หลังจากที่เราได้อยู่กับชาวมอแกน คุยกับเขามากขึ้น ก็เลยได้รับทราบปัญหาบางอย่างที่เราคาดไม่ถึง เช่นกรณีที่คนไทยมีความรู้สึกเหยียดๆ มอแกนมาก่อนหน้าที่เขาจะได้รับบัตรประชาชน เป็นคนไทยอย่างเราๆ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวยังคงอยู่ในปัจจุบัน คำถามก็คือ ชาวมอแกนรู้สึกว่า ทำไมต้องมาดูถูกเขา มอแกนก็เป็นคนเหมือนกัน เราก็คาดหวังอยากให้หนังสั้นที่ออกไปสื่อถึงปัญหาตรงนี้ด้วย”
ส่วนทีม Frog in Feb & Illumina เปิดเผยว่า “เราคิดว่ามอแกนก็คือมนุษย์ที่อยู่บนโลก เพียงแต่อยู่ในอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่ไม่ใช่กรุงเทพ เพียงแต่เขาถูกคนอื่นคิดถึงหรือมองถึงน้อย เราได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตธรรมดาของชาวมอแกนที่เราอยู่ด้วยแล้ว ไม่มีเรื่องเดือดร้อน วุ่นวายใจ ชีวิตมอแกนเรียบง่ายมาก จนเรารู้สึกว่า เราอยากมีบางช่วงที่เหมือนกับเขาบ้าง ถ้าไม่มีโครงการครั้งนี้ เราอาจจะไม่รู้จักมอแกนอย่างนี้ก็ได้ เพราะเกาะเหลาที่จังหวัดระนองไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว”
สำหรับทีมเวชนิทัศน์ได้สื่อหนังสั้นเรื่อง “มะนุด มอแกน” ออกมาว่า “เราได้เรียนรู้อะไรที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน รู้สึกว่า เราได้ความพอดีจากการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวมอแกนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง เราอยากให้คนข้างนอกได้เห็นวิถีชีวิตของเขา ซึ่งเป็นชีวิตที่น่าสนใจ เป็นชีวิตที่คนเมืองอย่างเราต้องดู ดูว่าคนที่เขามีอยู่ชีวิตอยู่กินกันอย่างง่ายๆ อยู่ด้วยความพอเพียงเป็นอย่างไร รวมถึงความเจริญที่เขามาสู่หมู่บ้านมอแกนที่หาดทับตะวัน จังหวัดพังงา ทำให้ชาวมอแกนต้องใช้ชีวิตร่วมกับความเจริญ ซึ่งเราจะได้เห็นว่า ชาวมอแกนใช้ชีวิตระหว่างวิถีดั้งเดิมและวิถีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันควบคู่กันได้อย่างไร”
และพิมพกา โตวิระ สะท้อนมุมมองในฐานะคนทำหนังว่า “ส่วนใหญ่คนทำหนังมักเกิดความคาดหวังในรูปแบบต่างๆ ก่อนทำหนัง แต่หนังเรื่องนี้เป็นความรู้สึกประทับใจที่เราได้มีโอกาสและประสบการณ์อยู่ร่วมกับชาวมอแกน ซึ่งเป็นอีกภาพหนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพที่เราเคยคิดมาก่อนหน้านี้ เราจึงอยากถ่ายทอดภาพความประทับใจ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่สวยงาม แต่เป็นสุนทรียภาพที่สื่อว่า เราไม่ควรเอามาตรฐานบางอย่างของเราไปวัด ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอย่างนี้ เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้แม้กระทั่งชาวมอแกน ซึ่งเรื่องนี้เราได้ “แพเน็ต” ชาวมอแกนที่เกาะเหลา จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และสามารถถ่ายทอดแง่มุมที่น่าสนใจมากๆ ของการเดินทางในท้องทะเลของเขาด้วยความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงของเขาและมอแกน เกาะเหลา จังหวัดระนอง”
สำหรับท่านที่สนใจต้องการหนังสั้น “วิถีมอแกน” เพื่อ เผยแพร่สู่สาธารณชน สามารถขอรับได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย เลขที่ 717 ถนนบรมราชชนนี 4 ซอยบรมราชชนนี 4 แขวงบางบำหรุ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทร. 02-8865276, 02-8866369 โทรสาร. 02-8865483
ที่มาขององค์การแอ็คชันเอด
องค์การแอ็คชันเอด อินเตอร์เนชันแนล เป็นองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 มีสำนักงานเลขาธิการใหญ่อยู่ที่กรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก การสร้างเครือข่าย งานด้านการศึกษา งานด้านสิทธิและโอกาสของผู้หญิง งานด้านการให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการทำงานมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2544 ในระยะแรก ได้ให้การสนับสนุนแก่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาที่ยั่งยืน และผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจโลก ต่อมาได้ขยายเครือข่ายการทำงานโดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาต่างๆ รณรงค์แก้ไขปัญหาความยากจน โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
วิมาลา สุธีอดิศัย Communication Officer
องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย
717 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์ 02 886 5276, 02 886 6369 โทรสาร 02 886 5483 มือถือ 01 960 2208
Email : wimala.sutheeadisai@actionaid.org
www.actionaid.org/thailand
ประวัติและผลงานของทีมผลิตหนังสั้น “วิถีมอแกน”
พิมพกา โตวิระ
หนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์อิสระ หรือหนังอินดี้ของไทย
“แม่นาค” ได้รับรางวัล Special Jury Prize ในงาน Image Forum Festival ที่ประเทศญี่ปุ่น
ภาพยนตร์เรื่อง “คืนไร้เงา” ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 19 โปรเจ็คที่น่าจับตามองจาก PPPn (Pusan Promotion Plan) และสายหนังของคนรุ่นใหม่ใน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลินครั้งที่ 53 ความสำเร็จของ“คืนไร้เงา”จากนานาชาติเอื้อให้พิมพกากลายเป็นผู้กำกับหญิงไทยคนแรกที่เป็นที่รู้จักของวงการภาพยนตร์นานาชาติและนักวิจารณ์ต่างประเทศ
เรื่องย่อ : The Sea Vogage
เราคงจะไม่มีวันเข้าใจวิถีของชาวมอแกนเพียงแค่การได้อยู่ร่วมกับเขาเพียงแค่ไม่กี่วัน หนังเรื่องนี้จึงเป็นเป็นดั่งลำนำที่สะท้อนอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของกลุ่มคนผู้ปรารถนาผืนแผ่นดินพอๆ กับท้องทะเลที่ขับกล่อมให้ชีวิตพวกเขาดำเนินไปทุกเมื่อเชื่อวันทีม Frog in Feb & Illumina : อนุชิต มวลพรม, อรรถพล ธารรัตน์, ไพรัตน์ คุ้มวัน
หนังสั้นเรื่อง ‘เขาวานให้หนูทำหนัง’ (The Director) 1 ใน 10 ของงานเทศกาลเด็กของมูลนิธิหนังไทย
หนังสั้นเรื่อง ‘เมื่อปีกฉันโบยบิน’ 1 ใน 5 ของงานเทศกาลหนังชนเผ่า ของมูลนิธิกระจกเงา
หนังสั้นเรื่อง “คำตอบ” (Answer) 1 ใน 5 ของงานเทศกาลหนังชนเผ่า ของมูลนิธิกระจกเงา
หนังสั้นเรื่อง “สาวบริการ” 1 ใน 5 ของงานเทศกาลหนังชนเผ่า ของมูลนิธิกระจกเงา
เรื่องย่อ : มอแกน ฟรีแมน (Moken Freeman)
เรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านรอยบาดแผลแห่งชีวิตหนึ่งถึงอีกชีวิตหนึ่ง อาจไม่ใช่เรื่องพิเศษอัศจรรย์กว่าเรื่องไหน หากแต่ผู้ใดเปิดใจรับฟัง เปิดตามองดูเรื่องราวที่คนจากท้องทะเลได้เล่าขาน อาจสัมผัสผิวเผินในธรรมดาชีวิตที่งดงามเป็นอิสระแห่งยอดนักสู้
ทีมสีเขียว : ทายาท เดชเสถียร, ณัฐวิทย์ ขาวศรี, พิศาล แสงจันทร์
หนังสั้นเรื่อง 'เหรียญบาท' เข้าสู่รอบสุดท้ายของงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ประจำปี 2544
มิวสิควิดีโอเพลง Adventure ของวงดนตรีมิสเตอร์ทีม รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจาก Chennel V Thailand Music VDO Contest ประจำปี 2545
หนังสั้นเรื่อง 'ย้ำ' รางวัล "สารคดีโดดเด้ง" ในโครงการประกวดหนังสั้นมันโคตรของแฟตเรดิโอ ประจำปี 2546
หนังสั้นเรื่อง ‘กลางวันแสกๆ' รางวัลที่ 3 ประจำปี 2546 และรางวัลป๊อปปูล่าร์ โหวต ของโครงการจัดประกวดของห้างสรรพสินค้าเซน, รางวัลชนะเลิศใน โครงการฟิล์มอินยู โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัลวิจิตรมาตรา ของมูลนิธิหนังไทย และนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นต่างประเทศ ได้แก่ Magma Short Film Festival ที่อิตาลี, Lausanne Undergroud Film& Music Festival ของสวิตเซอร์แลนด์, Chicago Reel Short Film Festival ที่สหรัฐอเมริกา และ Fantastisk Film Festival ในสวีเดน, Gwangju International Film Festival 2005 ที่เกาหลีใต้, The 13th Mardi Gras Film Festival 2006 ที่ออสเตรเลีย และ Philadelphia International Gay & Lesbian Film Festival 2006 ที่สหรัฐอเมริกา
เรื่องย่อ : มอแกน, ป่ะ? (Moken, Right?)
“ เกาะพระทอง... ตั้งอยู่ที่ละติจูด 9.0966 ลองติจูด 98.291 มีลักษณะเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ในจังหวัดพังงา ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,124.7 มิลลิเมตร อุณหภูมิสูงสุด 37.8 องศาเซลเซียส ....... “
ไม่ !
มันไม่เกี่ยวอะไรกับหนังของเราเลย
เปล่า! เราไม่ได้หลอกให้คุณอ่าน
แต่เมื่อคุณดูหนังเรื่องนี้จบ.. คุณจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว ใครกันแน่ที่หลอกคุณ
( ตัดตอนจากหนังสือ “มอแกนที่ดี” พิมพ์ครั้งที่ 82 หน้า 76 )
ทีมเวชนิทัศน์ : กิตตินันท์ อยู่เนียม, วรากร หมวดสิงห์, ชนัญชิดา ทรงโฉม
ส่งผลงานหนังสั้นเรื่อง “รถใหม่” เข้าโครงการ ‘เมาไม่ขับ’ ของ สสส.
ส่งผลงานหนังสั้นเรื่อง “เปลือก” เข้าโครงการ Little R
เรื่องย่อ : มะนุด มอแกน (The Moken)
ชาวมอแกนใช้ชีวิตอยู่บนรากฐานคำว่าพอเพียง ไม่แสวงหา หรือดิ้นรนสิ่งที่เกินความจำเป็น “โกบัง” เป็นเพียงหนึ่งชีวิตเล็กๆ ที่หาดทับตะวันจะสามารถเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมอแกน
ตำนานมอแกน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชินีไซเปียน (Sibian) แห่งโพ้นทะเลสมรสกับ กามาน (Gaman) พระสวามีรูปงามชาวมาเลย์ ทว่าหนุ่มคนรักกลับปันใจให้กับ แกน (Ken) พระกนิษฐาของนาง พระนางไซเปียนจึงสั่งให้ลงโทษ “แกน” ด้วยการเนรเทศและห้ามมีชีวิตอยู่บนพื้นดิน ด้วยบัญชาตามภาษาของชาวโปรโตมาเลย์ว่า “lemo Ken” แปลว่า นำแกนไปลอยแพ พร้อมรับสั่งให้ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่มาขุดเป็นเรือ
“Moken” แปลว่า “ลงน้ำหรือจุ่มน้ำ” ตามคำสั่งของไซเปียนจึงกลายเป็นชื่อชนเผ่าที่ถูกตัดขาดจากสังคมบนบก มีแต่ชีวิตเร่ร่อนกลางท้องทะเล เริ่มต้นตำนานความผูกพันระหว่างทะเล เรือ และมนุษย์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ความเชื่อ
มอแกนไม่นับถือศาสนา ไม่บูชาพระเจ้า แต่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในนาม ผีมอแกน ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษ ผีน้ำ เจ้าป่าเจ้าเขา มอแกนยังนับถือวิญญาณลึกลับที่สิงสถิตอยู่ในท้องทะเลอีกด้วย หากมีสมาชิกในกลุ่มเสียชีวิต มอแกนจะไม่โยนทิ้งทะเลแต่จะนำซากศพไปวางไว้ในป่าบนเกาะ และผู้จะติดต่อกับผีเหล่านี้เพื่อให้ความคุ้มครองก็มีแต่ชาวมอแกนเท่านั้น ผี จึงเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าพื้นที่ของมอแกนยังมีอยู่
เสาหล่อโบงกับพิธีลอยเรือ
เสาหล่อโบง คือสัญลักษณ์ของผีบรรพบุรุษ เป็นเสาไม้แกะสลักทาสีงดงาม
มอแกนจัดพิธีหล่อโบงเพื่อวอนขอสิ่งมีอำนาจ ก็คือผีมอแกน ผีบรรพบุรุษ ผีน้ำ หรือผีเจ้าป่าเจ้าเขาให้ ปกปักคุ้มครองลูกหลานไม่ให้เจ็บป่วยหรือประสบเหตุร้าย โดยมีพิธีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของปี ในพีธีมอแกนจะตั้งเครื่องเซ่น เข้าทรง ร้องรำทำเพลงและกินเลี้ยงกันตลอดทั้งคืน
มอแกนจะช่วยกันทำก่าบางจำลอง สำหรับพิธีลอยเรือในวันสุดท้ายของงานหล่อโบง เพื่อขจัดเคราะห์ร้ายออกจากชุมชน ก่อนนำเสาหล่อโบงไปปักในพื้นที่ที่กันไว้เป็นสุสานมอแกน เข้าใจว่าพิธีลอยเรือได้รับอิทธิพลจากกลุ่มอูรักลาโว้ย
ภูมิปัญญาและวิถีมอแกน
ก่าบางและฉ่าพัน
มอแกนอาศัยอยู่ใน “ก่าบาง” ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือเป็นทั้งที่พักอาศัย พาหนะ และยังเป็นเครื่องมือย้ายถิ่นทำมาหากินไปตามเกาะแก่งต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อจับปลา ดำน้ำหาหอย ปลิงทะเล และของทะเลอื่นๆ นำไปเป็นอาหารยังชีพ พอถึงฤดูมรสุม ก็จะหลบคลื่นลมขึ้นฝั่ง สร้างบ้านพักชั่วคราว แต่เมื่อมอแกนเริ่มตั้งหลักแหล่ง ก่าบางก็ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ทุกครัวเรือนมอแกนมี “ฉ่าพัน” เรือขุดขนาดเล็กเอาไว้เป็นพาหนะเดินทางระยะใกล้ๆ โดยใช้กรรเชียงหรือแจว แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็คุ้นเคยกับการใช้ ฉ่าพัน เป็นอย่างดี
อาหารการกิน
แม้จะมีชีวิตในท้องทะเล แต่มอแกนยุคก่อนไม่กินและจับปลา จึงไม่ใช้เบ็ด แห หรืออวน ปลาชนิดเดียวที่พวกเขาล่าคือ กระเบนยักษ์ เพราะการล่าปลาพวกเขามองว่าเป็นงานอันตราย และเกรงจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ
มอแกนนิยมล่าสัตว์เปลือกแข็ง เช่น หอยชนิดต่างๆ ปลิงทะเล หมึก เต่าทะเล ปู ด้วยการไม่กินปลาทำให้ มอแกนเป็นนักดำน้ำตัวยง เพราะต้องลงลึกไปถึงก้นทะเลเพื่อล่าสัตว์น้ำชนิดมีเปลือกหุ้มมาเป็นอาหาร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมอแกนใช้เครื่องมือที่เรียบง่ายไว้จับปลาและสัตว์ทะเล เช่น ฉมวกแทงปลา เบ็ดมือ สำหรับล่าเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก
ไม่ยึดติดในทรัพย์สิน
มอแกน มักจะใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้ให้หมดไปโดยไม่กังวลถึงอนาคต หากมีอาหารเหลือเฟือก็จะกินจนเกลี้ยง หากเหลือก็จะแบ่งปันให้ญาติหรือเพื่อนบ้าน แต่มอแกนรู้จักเทคนิคการเก็บรักษาอาหารเป็นอย่างดี แต่เพื่อนำไปจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกับข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นอื่นๆ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net