กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สคร.
รมว.คลัง ชี้ 4 มาตการ 6 เดือน ดีเดย์ 1 ก.พ. 2552 ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ทุกกลุ่ม ทุกคน สคร. พร้อมสนับสนุนรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค ชี้ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้ 4 มาตรการ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 31 กรกฎาคม 2552 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยให้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมทุกกลุ่มได้มากกว่ามาตรการที่ผ่านมา ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกคนได้รับประโยชน์ได้มากที่สุด และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าใช้วงเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 13,901 ล้านบาท
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า หลังจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เสนอ 4 มาตรการ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนระยะ 6 เดือนนั้น และครม.มีมติเห็นชอบในมาตรการดังกล่าว และในฐานะที่ สคร.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี และมีประชาชนได้รับประโยชน์จากมาตรการเป็นอย่างมาก อาทิ มาตรการลดค่าใช้น้ำประปาของครัวเรือนที่ดำเนินการผ่าน การประปานครหลวง(กปน.) การประปาภูมิภาค(กปภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์จำนวน 4 ล้านราย มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือนที่ดำเนินการผ่านการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 11 ล้านราย มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารผ่านขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวนประมาณ 400,000 คนต่อวัน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 3.2 ล้านคนต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 4 มาตรการ 6 เดือนลดภาระค่าครองชีพประชาชนที่ต่องเนื่องจากเดิมใน 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยนั้น ทางกระทรวงการคลังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้กันอย่างครอบคลุม และพอเพียงมากขึ้น เช่น มาตรการลดค่าใช้น้ำประปาของครัวเรือนจากเดิม 0-50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ลดลงเหลือ 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ก็เพราะต้องการให้ประชาชนรู้จักการใช้น้ำมากขึ้นแต่จะให้เพิ่มในครัวเรือนภายใต้ อปท.ด้วยทำให้ได้ใช้กันอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น โดยแบ่งเป็นเขตนครหลวง 1.02 ล้านราย และเขตภูมิภาค 7.25 ล้านราย(ในพื้นที่กปภ. 1.95 ล้านราย พื้นที่ อปท. ที่ครม.อนุมติแล้ว 0.7 ล้านราย และขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ของอปท. ในชนบททั่วประเทศประมาณ 4.60 ล้านราย) ซึ่งในเรื่องนี้จะสามารถช่วยประชาชนให้ประหยัดค่าใช้น้ำประปาทั้งสิ้นประมาณ 197 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในเขตนครหลวง และประมาณ 107 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในเขตภูมิภาค
ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือนทางรัฐได้ลดลงเหลือ 90 หน่วยต่อเดือน จากเดิม 150 หน่วยต่อเดือน เนื่องจากจะทำให้ประชาชนรู้จักการใช้ไฟกันอย่างประหยัดมากขึ้น และคาดว่าสามารถครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศประมาณ 8.81 ล้านราย โดยแบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวงประมาณ 0.75 ล้านราย ภูมิภาค 8.06 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัย 8.59 ล้านราย และประเภทหอพักและอพาร์ทเม้นต์ 0.22 ล้านราย ซึ่งในเรื่องนี้สามารถช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 170.45 บาทต่อเดือน ในเขตนครหลวง และประมาณ 136.66 บาทต่อเดือนในเขตภูมิภาค
ผอ.สคร. กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ประสบปัญหาภาระค่าครองชีพอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีการใช้บริการสาธารณูปโภคอย่างประหยัดและคุ้มค่า
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6722 , 6723
โทรสาร 02-298-5809 http :/ www.sepo.go.th