เปิดโลกทัศน์ มุมมองใหม่ กับ “ประเทศแห่งการเรียนรู้ ดินแดนแห่งผจญภัย” ในนิทรรศการศึกษานิวซีแลนด์ 2006

ข่าวทั่วไป Tuesday June 6, 2006 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--พีอาร์ แอนด์ คอนซัลเทนส์
ศูนย์การศึกษานิวซีแลนด์ ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพาณิชย์นิวซีแลนด์ และสถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ได้จัดงานนิทรรศการศึกษานิวซีแลนด์ 2006 ขึ้น โดยงานนี้ได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 13 ภายใต้แนวคิด “นิวซีแลนด์ ประเทศแห่งการเรียนรู้ และดินแดนแห่งผจญภัย” โดยจัดขึ้นในวันเสาร์ และ วันอาทิตย์ที่ 3 — 4 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เวลา 11.00 — 18.00 น. ณ. ห้องบอลรูม ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์
พิธีเปิด และวัตถุประสงค์ในการจัดงาน
งานนิทรรศการศึกษานิวซีแลนด์ได้รับเกียรติจากนางสาวโจ แม็คอีวอย ทูตพาณิชย์นิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีปอม ปอม ตัวน้อยๆ ช่วยเพิ่มสีสันให้กับงาน นอกจากจะมีแขกพิเศษเข้าร่วมในพิธีเปิด ยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก พิธีเปิดเริ่มจากที่ท่านทูตพาณิชย์นิวซีแลนด์ วาง “ใบเฟิร์นสีเงิน” สัญลักษณ์ของชนเผ่ากีวี ลงบนแท่นเปิดงาน ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นงานอย่างเป็นทางการ
นางสาว แม็คอีวอย กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การจัดงานนิทรรศการศึกษานิวซีแลนด์ 2006 นั้นได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งทำให้เกิดการจัดงานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 วัตถุประสงค์ในการจัดงานนั้นเพื่อให้บริการด้านข้อมูล ข่าวสาร และคำแนะนำในการศึกษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์ แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยจะจัดขึ้นใน 3 จังหวัดคือ กรุงเทพ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 3 — 4 มิถุนายน 2549 ขอนแก่น ที่โรงแรมโซพิเทล ราชา ออคิด ในวันที่ 6 มิถุนายน 2549 และเชียงใหม่ ที่โรงแรมโลตัส กาดสวนแก้ว วันที่ 7 มิถุนายน 2549
กิจกรรมภายในงาน
เมื่อทุกคนย่างก้าวเข้าสู่งาน จะได้รับ NZ Passport ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษเพื่อเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานได้เยี่ยมชม ร่วมเล่นกิจกรรมในแต่ละบูธ โดยการสะสมแต้ม เพื่อแลกของที่ระลึกมากมาย นอกจากนั้น ภายในงานจะมีการออกบูธจากตัวแทนของโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสอนภาษา ที่มีชื่อเสียงบินตรงมาจากประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อให้ข้อมูล และตอบคำถามต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ พร้อมพบกับกิจกรรมบนเวที่ เช่น การให้สัมภาษณ์โดยคุณปุระชัย และลูกชาย ถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ การสัมภาษณ์คุณแป้ง อรจิรา ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง นักเรียนเก่านิวซีแลนด์ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การเรียน และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่นิวซีแลนด์ นอกจากข้อมูลที่คุณสามารถหาได้จากบูธของสถาบันจากนิวซีแลนด์แล้ว ภายในงานยังมีข้อมูลด้านการศึกษา ข้อมูลทุนการศึกษา จากเจ้าหน้าที่สถานทูตนิวซีแลนด์ และข้อมูลการท่องเที่ยวโดยคุณอุทุมพร ศิลาพันธุ์ สำหรับผู้ที่ได้ตัดสินใจเลือกประเทศนิวซีแลนด์เพื่อการศึกษาต่อ คุณสามารถรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเข้าประเทศนิวซีแลนด์ พิเศษสุดในแต่ละวันก่อนจบงาน ทุกท่านที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมีสิทธิลุ้นรับตั๋วเครื่องบินไป — กลับ กรุงเทพ — นิวซีแลนด์ทุกวัน วันละ 1 ที่นั่งจากสายการบินแอร์นิวซีแลนด์
ภาพรวมการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์
คุณปิโยรจน์ งามวิไลกรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ — การศึกษา สำนักงานพาณิชย์นิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ กล่าวถึงภาพรวมทางด้านการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ว่า “นิวซีแลนด์ถือว่าเป็นประเทศ อันดับต้นๆ ในด้านมาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกสำหรับผู้ที่สนใจจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพในนิวซีแลนด์มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ความเป็นมิตรของชาวกีวี่สามารถทำให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานไปศึกษานั้นสามารถไว้วางใจถึงความปลอดภัยเมื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมด้านการผจญภัย นิวซีแลนด์มีกิจกรรมที่รอให้คุณได้เข้าไปสัมผัสมากมาย เช่น บันจี้จัมพ์ กีฬาที่เกิดขึ้นครั้งแรกในนิวซีแลนด์ และ รักบี้ กีฬาประจำชาติของชาวนิวซีแลนด์
เกี่ยวกับประเทศนิวซีแลนด์ ( New Zealand)
นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอังกฤษ ทั้งยังมีภูมิประเทศที่ถือว่าสวยงามแตกต่างจากที่อื่นไม่ว่าจะเป็นเนินเขาสีเขียวลูกแล้วลูกเล่า หาดทรายสีทอง ที่ราบสูงภูเขาไฟซึ่งเตียนโล่งหรือแม้แต่ป่าดิบฝนอันชุ่มช่ำ ทั้งหมดนี้สามารถสัมผัสได้ด้วยการขับรถไปไม่กี่ชั่วโมง
นิวซีแลนด์มีประชากรแค่สี่ล้านคน และเป็นผู้คนที่รู้จักกันในอีกชื่อเป็นอย่างดีว่าชาว ‘กีวี’ (Kiwis) พวกเขามีบุคลิกเรียบง่าย อบอุ่น สบายๆและมีไมตรีให้กับเพื่อนบ้านตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอยู่เสมอ ชาวนิวซีแลนด์เป็นผู้คนที่รักการผจญภัย ชื่นชอบในการประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนมีความสุขกับการเล่นกีฬาหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรักบี้ ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติ จนกระทั้งถึงกีฬาสุดท้าทายอย่างบันจี้จัมพ์ (Bungee Jumping) ซึ่งเป็นกีฬาที่ถูกคิดค้นโดยชาวนิวซีแลนด์เอง
นิวซีแลนด์มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างสบาย ในฤดูหนาวจะมีฝนตกโดยอุณหภูมิมิจะอยู่ที่ 10- 15 องศา ส่วนฤดูร้อนนั้นจะแห้งและอากาศก็ไม่ร้อนจัดโดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ 20-30 องศา ฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ ส่วนฤดูหนาวจะอยู่ในระหว่างเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม
การเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพไปนิวซีแลนด์ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ในขณะที่หากเดินทางไปจากซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง สายการบินระหว่างประเทศหลายสายมีเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยไปยังนิวซีแลนด์ซึ่งนั่นทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น
เมืองต่างๆของนิวซีแลนด์มีบริการรถประจำทางและรถไฟที่มีประสิทธิภาพ บางเมืองก็มีทั้งสองอย่าง นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเดินทางอย่างอื่นเช่นบริการรถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยาน หรือแม้กระทั่งการเดิน การปั่นจักรยานในประเทศนิวซีแลนด์นั้นผู้ขับขี่ต้องสวมหมวกกันน็อคตลอดเวลาและต้องเคารพกฏจราจรอย่างเคร่งครัด
ด้วยเหตุที่สถานที่สำคัญของเมืองตลอดจนร้านรวงต่างๆไม่ได้ตั้งอยู่ไกลห่างกัน การเดินจึงเป็นการเดินทางอย่างหนึ่งที่สะดวกสบายและได้รับความนิยมมาก โดยปกติร้านค้าต่างๆในนิวซีแลนด์จะเปิดวันจันทร์ถึงวันเสาร์แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เปิดวันอาทิตย์ด้วยเช่นกัน ร้านค้าจะเปิดทำการตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาถึง 5.30 นาฬิกาและจะปิดช้ากว่าปกติหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์สำหรับเทศการพิเศษซึ่งอาจขยายเวลาปิดไปถึง 21.00 น. สำหรับวันเสาร์และวันอาทิตย์นั้นเวลาเปิดปิดของแต่ละร้านอาจแตกต่างกัน บางร้านอาจเปิดช้า บางร้านก็ปิดก่อน บางร้านก็ปิดตั้งแต่บ่ายโมง
เวบไซต์ที่มีประโยชน์
www.newzealandeducated.com
กระทรวงศึกษาธิการ www.minedu.govt.nz
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง www.immigration.govt.nz
New Zealand Qualifications Authority www.nzqa.govt.nz
สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่
คุณจุฑาทิพย์ จิตรสุจริต (แป้ง) / 01.812.6496
คุณกิ่งอารยา สารนพคุณ (กิ่ง) / 09.150.8409
บริษัท ทาซา สตราติจิกส์ พีอาร์ แอนด์ คอนซัลเทนส์ จำกัด
โทรศัพท์ 02.477.2801 — 2 โทรสาร 02.477.2803
e-mail: jutathip@tasapr.com , kingaraya@tasapr.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ