เผย ๑๐ ศิษย์เก่าดีเด่น รางวัล "มหิดลทยากร" ประจำปี ๒๕๕๑

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2009 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการและการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และสาธารณชนทั่วไป โดยในปี ๒๕๕๑ ได้มีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน ๑๐ ท่าน ได้แก่ นางกมลทิพย์ หิตะนันท์ รองศาสตราจารย์ ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงธิดา นิงสานนท์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ศิริสันธนะ นายนิคม ไวยรัชพานิช ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์นุกูล ปริญญานุสสรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ปณต มิคะเสน ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล ราชบัณฑิต และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม นางกมลทิพย์ หิตะนันท์ สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๐๕ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ ได้ใช้ความรู้ด้านวิชาชีพการพยาบาลปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ อุตสาหะ วิริยะ จนเกิดประโยชน์แก่วิชาชีพ ประชาชน และสังคมตลอดมา เป็นผู้ริเริ่มจัดทำรายการให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนในรายการปัญหาชีวิตและสุขภาพ ทาง TV9 ร่วมกับ นพ.สุรพงษ์ อำพันวงษ์ เป็นประธานออกหน่วยตรวจสุขภาพและให้ความรู้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร จ.แม่ฮ่องสอน จัดโครงการหารายได้สมทบทุนสร้างบ้านพักผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ จ.ระยอง จากผลงานดีเด่นส่งผลให้ได้รับรางวัลเกียรติคุณพยาบาลดีเด่นของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ในสาขาผู้นำในการพัฒนาวิชาชีพ และรางวัลพยาบาลดีเด่นของสภาการพยาบาลในสาขาผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวิชาชีพและสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาล) เกียรตินิยมและเหรียญทอง และประกาศนียบัตรการผดุงครรภ์ จาก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๔ จากนั้นได้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอกสาขาการพยาบาล ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ๒ สมัย รองศาสตราจารย์ ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล เป็นผู้นำที่สำคัญในการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ทุกด้านในช่วง ๑๐ ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการวิจัย และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ในระดับบัณฑิตศึกษา เป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดโครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างประเทศ ทำให้มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ฯ หลายสมัย มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรองศาสตราจารย์ ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา นิงสานนท์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๒ M.S.(Pharmaceutics) จาก Massachusetts College of Pharmacy ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๑๕ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล เลขาธิการสภาเภสัชกรรม นายกสภาเภสัชกรรม ได้รับรางวัลเภสัชกรเกียรติคุณจากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล เป็นผู้นำทั้งด้านความคิดและวิธีปฏิบัติในการพัฒนาระบบการใช้ยาในโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้ยา ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานและสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อให้วิชาชีพเภสัชกรรมมีความเข้มแข็ง ทันสมัย และมีการเจริญเติบโตทางศักยภาพและทักษะในการดูแลผู้ป่วยทางยา อันจะยังประโยชน์ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ศิริสันธนะ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๔ และ แพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จาก คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๖ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการแผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล Adjunct Professor of Epidemiology, Johns Hopkins University กรรมการแผนกวิทยาศาสตร์การแพทย์ สภาวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ริเริ่มศึกษาวิจัยโรคที่ยังไม่มีผู้ใดรายงานมาก่อน อาทิ โรคแอนแทร็กซ์ในช่องปาก (Oropharyngeal anthrax) โรคติดเชื้อ Rickettsia ชนิด Thai Tick Typhus ตลอดจนเป็นผู้จัดทำรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้ออื่นๆ เป็นรายงานแรกในประเทศไทย ได้แก่ โรคติดเชื้อ Eikenella corrodens โรคติดเชื้อ Bacillus cereus และโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากเชื้อ Corynbacterium diphtheriae เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี ๒๕๔๓ จากสภาวิจัยแห่งชาติ จากการวิจัยเรื่อง “โรคติดเชื้อ Penicillium marneffei ในผู้ป่วยโรคเอดส์” ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ประจำปี ๒๕๔๕ (รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์) ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (ทุน “เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปี ๒๕๔๖ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗ จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สกว. ประจำปี ๒๕๔๙ นายนิคม ไวยรัชพานิช สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สุขาภิบาล) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๓ เป็นศิษย์เก่าที่ได้นำองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อดีตเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายของกรุงเทพมหานคร พัฒนาพื้นที่สีเขียว ตกแต่งเมือง วางระบบงานสารสนเทศ (MIS) ริเริ่มจัดทำโครงการถนนปลอดฝุ่น โครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน โครงการลดภาวะมลพิษ การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนโครงการสร้างกรุงเทพมหานครให้ร่มรื่นสวยงามด้วยการปลูกต้นไม้ นอกจากนี้เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างพิพิธภัณฑ์เด็ก และดำเนินโครงการลานกีฬากรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน นายนิคม ไวยรัชพานิช ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและรองประธานสภาวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์นุกูล ปริญญานุสสรณ์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ได้เหรียญทองคะแนนเป็นที่ ๑ ตลอดหลักสูตร จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ปี ๒๔๙๕ - ๒๔๙๖ เกียรติบัตรสมาชิกราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และอนุมัติบัตรความรู้ความชำนาญเฉพาะทางศัลยศาสตร์ตกแต่งจากแพทยสภา เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ประธานกรรมการบริหารศูนย์พิษวิทยา นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn Unit) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตรวจรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยโรคศัลยศาสตร์ตกแต่งและไฟไหม้น้ำร้อนลวก ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นเวลากว่า ๓๕ ปี ตลอดจนเป็นผู้นำแผนการรักษาผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกรวมทั้งวิธีการเก็บและปลูกผิวหนังอย่างได้ผลดียิ่งจากต่างประเทศมาดัดแปลงใช้ในปัจจุบัน และได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเวลาของการผ่าตัดสำหรับเด็กที่เกิดมามีความพิการปากแหว่งเพดานโหว่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลศิริราช เริ่มตั้งแต่ ปี ๒๕๐๘ โดยไม่ทิ้งไว้จนเด็กโต แต่ทำการผ่าตัดให้เร็วขึ้น โดยทำภายใน ๒๔ — ๔๘ ชั่วโมงหลังคลอด เป็นผลให้เด็กดูดนมได้ทันที หลังทำการผ่าตัดและเป็นผลดียิ่งแก่จิตใจของพ่อแม่ จึงในขณะนี้เราจะไม่เห็นเด็กที่มีความพิการนี้ในที่สาธารณะ ตามถนนหนทางและตลาดดังเมื่อ ๓๐ — ๔๐ ปีก่อน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ปณต มิคะเสน ราชบัณฑิต สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อปี ๒๕๐๒ เริ่มรับราชการที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ จนเกษียณในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ ๑๑ เมื่อปี ๒๕๓๗ มีผลงานวิจัยในเรื่องปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบท โดยเฉพาะในเรื่องของโภชนาการ พฤติกรรมการกินอาหารและการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ โรคมะเร็งตับ สารปนเปื้อนในอาหารซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ดังปรากฏในบทวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ และระดับชาติจำนวน ๑๒๗ เรื่อง เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Outstanding Doctor ประจำปี ๒๕๓๓ ในการประชุมใหญ่ The Confederation of Medical Association of Asia and Oceania ประเทศฮ่องกง ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในปี ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ปี ๒๕๔๘ — ๒๕๕๐ และเป็นประธานสภามนตรี สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี ๒๕๐๑ — ๒๕๐๒ สำเร็จการศึกษาปริญญา B.A., Ph.D., M.D.จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศ ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิการบดี ๒ สมัยได้ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยกย่องให้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ปาล์มส์อะกาเดมิกส์ ชั้นอัศวิน จากประเทศฝรั่งเศส และทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับ Prime Minister’s Export Award 2006 ในฐานะที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมากที่สุด นอกจากนี้ได้ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แห่งชาติ (สกอ.) ให้เป็นมหาวิทยาลัยดีเลิศอันดับ ๑ ของไทยทั้งด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ภายในประเทศทั้งหมด ศาสตราจารย์ นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล ราชบัณฑิต สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อปี ๒๕๐๓ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาแพทยศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานการจัดทำระบบคุณภาพ ตามระบบ ISO 9002 จนประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแพทยสภา เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งอาเซียน กรรมการ ก.พ.อ., สมศ., กรรมการอุดมศึกษาของ สกอ. ผู้อำนวยการระบบคุณภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ และคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ประธานโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๑,Fellowship of the Royal College of Physicians,Edinburgh UK. เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เลขาธิการพรรคพลังธรรม เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กทม. ๓ สมัยติดต่อกัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ริเริ่มผลักดันจนสามารถจัดตั้งสถาบันสุขภาพจิต (กรมสุขภาพจิตในปัจจุบัน) และ สถาบันการแพทย์แผนไทย (กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน), ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมสมาริตันส์-ประเทศไทย (ช่วยคนมีปัญหาชีวิตคิดฆ่าตัวตายทางโทรศัพท์) ได้รับรางวัล ”สังข์เงิน” ผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมสุขภาพพลานามัย, “บุคคลตัวอย่างแห่งปี ๒๕๔๑”, บุคคลยอดเยี่ยมด้านการบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส., ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและเครือข่ายลดอุบัติเหตุ, ประธาน Asia Pacific Alcohol Policy Alliance สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ จะจัดพิธีมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นทั้ง ๑๐ ท่าน ในงาน ๔๐ ปีแห่งวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา mu-pr เบอร์โทรศัพท์ : 0-2849-6208-10

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ