iTAP สวทช.พัฒนาเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง ประหยัดพลังงาน และแรงงานคน

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2009 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--สวทช. ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ธุรกิจการเกษตรเป็นส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ธุรกิจการเกษตรของไทยได้มีการพัฒนาให้มีความทันสมัยขึ้นมาตามลำดับ เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ “เทคโนโลยี” และ “องค์ความรู้ต่างๆ” ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมานานในธุรกิจการเกษตร รวมทั้งตัวเกษตรกร เบาบางลงและหมดสิ้นไปในที่สุด ขณะเดียวกันยังช่วยให้กระบวนการผลิต ผลผลิต และคุณภาพของสินค้ามีศักยภาพมากขึ้นอีกด้วย นายสมศักดิ์ ถนอมเสียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป้าวธุรกิจการเกษตร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ป้าวธุรกิจการเกษตร จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินธุรกิจผลิตและแปรรูปเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด พันธุ์อาหารสัตว์ ภายใต้ทะเบียนการค้าตราเป็ดแดง CD 888 และตรานกอินทรีเหยียบข้าวโพด 8581 ซึ่งในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทฯ นั้น ต้องนำเมล็ดข้าวโพดออกจากฝักด้วยการสี จากนั้นนำเมล็ดข้าวโพดที่ได้มาร่อนแยกขนาดหรือแยกเกรด เมล็ดข้าวโพดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (เกรด A) จะถูกนำมาคัดแยกเอาเมล็ดข้าวโพดที่ไม่สมบูรณ์ออกจากเมล็ดที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปคลุกยาฆ่าแมลงและบรรจุถุงเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป “ขั้นตอนสำคัญและปัจจุบันยังมีปัญหา คือ กระบวนการคัดแยกเมล็ดข้าวโพดที่เสียหรือไม่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากมีรูพรุนภายในจากการกัดกินของแมลงออกจากเมล็ดที่สมบูรณ์ โดยในปัจจุบันยังต้องใช้คนงานในการคัดแยกด้วยมือ ได้ผลผลิตเฉลี่ยของการคัดแยกด้วยคนงาน 1 คน ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งแต่ละวันนั้นต้องใช้คนงานทั้งหมด 50 คน คิดเป็นค่าจ้างคนงานประมาณวันละ 8,000 บาท เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 4,000 กิโลกรัมต่อวัน จะเห็นได้ว่านอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกที่สูงแล้ว ยังมีความล่าช้าและผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เป็นอุปสรรคของบริษัทฯ ในการขยายกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด” ทางบริษัทฯ จึงขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ “การพัฒนาเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ไม่สมบูรณ์ออกจากเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์” โดยทำการวิจัยร่วมกับ ดร.นเรศ อินต๊ะวงศ์ จากสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการออกแบบและจัดสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ไม่สมบูรณ์ออกจากเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้แทนการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ด้วยแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้กับบริษัทฯ “ผลจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวพบว่า บริษัทฯ สามารถสร้างเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดต้นแบบ จำนวน 1 เครื่อง และได้มีการพัฒนาสร้างเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นอีก 1 เครื่องในราคาที่เหมาะสม สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 3 เท่า ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานได้ประมาณ 70% ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลง อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทฯ ในการทำวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรอื่นที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาแพง” หลังจากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น ทางบริษัทฯ ยังได้ขอรับการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากโครงการ iTAP ในเรื่องของการออกแบบและสร้างเตาอบที่ไม่ก่อให้เกิดเขม่าควันในการอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเครื่องคลุกสีและยาฆ่าแมลงในเมล็ดข้าวโพดแบบต่อเนื่อง ซึ่งต้นแบบเตาอบที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมานี้ทำให้บริษัทฯ สามารถลดการใช้พลังงานและเมล็ดข้าวโพดที่เสียจากเขม่าควันที่เคลือบบนเมล็ดลดลง ส่วนเครื่องคลุกสีและยาฆ่าแมลงนั้น สามารถลดการแตกและช้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 37% ขณะที่ต้นทุนในการผลิตลดลงกว่า 40% และปริมาณของเสียลดลงถึง 80% นายสมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทฯ ที่ออกมาจำหน่ายนั้นจะเน้นมากในเรื่องของคุณภาพตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร มีความบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน โดยจะมีระบบตรวจสอบคุณภาพทุกครั้ง มีการช่วยเหลือแนะนำเกษตรกรอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังได้ให้นักวิจัยเข้ามาช่วยปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ ขณะที่เครื่องจักรก็มีความทันสมัยไม่แพ้กัน เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงสุดถึงมือเกษตรกร สำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ผลิตอาหารสัตว์ เช่น อาหารหมู อาหารเป็ด ฯลฯ ตลาดที่ส่งจำหน่ายทั่วไปจะอยู่ที่ภาคเหนือตอนบน ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านผลประกอบการที่ผ่านมานั้นนับได้ว่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่เน้นที่ปริมาณจะเน้นคุณภาพมากกว่า โดยแต่ละวันจะได้ผลผลิตอยู่ที่ 30 ตัน ในปีหนึ่งจะจำหน่ายประมาณ 300-500 ตัน แบ่งเป็นเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี คาดว่าในอนาคตจะขยายพื้นที่เพาะปลูกจากเดิมประมาณ 1,000 ไร่ เพิ่มเป็น 1,500 ไร่ “ทุกคนในบริษัทฯ มีความประทับใจการดำเนินงานที่รวดเร็วของ สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ โครงการ iTAP เป็นอย่างมากที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ทำให้งานเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องสามารถพัฒนาการผลิตได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และประหยัดแรงงาน ที่สำคัญประหยัดพลังงานไฟฟ้าในขั้นตอนต่างๆ ลงได้มาก จากส่วนนี้เองที่ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ตรงตามเวลาและเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามดูแลแก้ไขตลอดเวลา ทำให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจยิ่งขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ