กบข. เพิ่มพอร์ตตราสารหนี้ภาครัฐ ลดน้ำหนักหุ้นกู้เอกชน ป้องกันความเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2009 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--กบข. กบข.ปรับแผนลงทุนตราสารหนี้ปี 52 รับมือเศรษฐกิจซบ เดินหน้าเพิ่มน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ ลดน้ำหนักลงทุนหุ้นกู้เอกชน ป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ในปี 2552 ว่านโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ของ กบข.ในปีนี้ จะให้น้ำหนักกับการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ (Sovereign) เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน กบข. จะเลือกลงทุนเฉพาะที่มีอันดับเครดิตสูง และต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ โดย กบข. มีกระบวนการกำกับและบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบ ซึ่งรวมถึงมีการกำหนดวงเงินลงทุน โดยประเมินจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านการชำระคืนไปได้มาก สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้คาดว่าอยู่ในช่วงขาลง โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 - 1.5 ภายในเดือนเมษายน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการบริโภคและลงทุน จากปัจจุบันดอกเบี้ยอาร์พีอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยบางเดือนมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบได้ ซึ่งจะส่งผลให้ กนง. สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวอีกว่าในส่วนของการลงทุนตลาดหุ้นในต่างประเทศ แม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาวะตลาดที่มีความผันผวน ทำให้ กบข. ยังไม่ตัดสินใจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม หากความผันผวนในตลาดคลี่คลาย กบข. ก็พร้อมที่จะเริ่มเพิ่มสัดส่วนหุ้นต่างประเทศ โดยอาจจะเริ่มเพิ่มในส่วนของกลุ่มเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นก่อน เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจจริงจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 member@gpf.or.th / www.gpf.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ