กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
จัดสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจคนทำงาน”
จัดโดย
คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑) หลักการและเหตุผล
จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นระบบที่ต้องพึ่งพาการส่งสินค้าออก และสินค้าการเกษตร ประกอบกับภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมือง จึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ พบว่าสถานประกอบการต่างๆ ได้ปิดกิจการ หรือจำนวนการผลิต การลดจำนวนลูกจ้างโดยการเลิกจ้าง หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย มีปัจจัยและต้นการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยและครอบครัว คาดว่าในปี ๒๕๕๒ จะมีการเลิกจ้างแรงงานมากกว่า ๑ ล้านคน
รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน เป็น โครงการต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรของรัฐ มาตรการลดค่าครองชีพ การประกันรายได้ผู้สูงอายุ การเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานอาจได้รับไม่ทั่วถึง และยังมีแรงงานบางกลุ่ม เช่น แรงงานนอกระบบ หรือผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานในระบบจ้างเหมาค่าแรง รวมทั้งลูกจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ต้องการความชัดเจนจากนโยบายของรัฐเพื่อการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงาน
คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ โดยยึดหลักการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในรูปแบบของเครือข่ายชุมชน บุคคล องค์กรสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน จึงได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจคนทำงาน” เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง และนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
๒) วัตถุประสงค์
๑. เพื่อรับฟังนโยบายและมาตรการของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาคนทำงาน
๒. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนำเสนอปัญหาคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล
๓) กลุ่มเป้าหมาย
ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้แทนองค์กรภาครัฐ นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มลูกจ้างภาครัฐ กลุ่มแรงงานนอกระบบ องค์กรนายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน ๑๐๐ คน
๔) แนวทางดำเนินการ
การประชุม การบรรยายนโยบายและมาตรการโดยรัฐบาล การอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาวะวิกฤตต่อรัฐบาล
๕) วัน เวลา สถานที่
วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๓๐ — ๑๗.๑๕ น. ณ ห้องประชุม ๗๐๙ ชั้น ๗ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
๖) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน นำไปสู่นโยบายและมาตรการที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา/คุ้มครองสิทธิแรงงาน
กำหนดการสัมมนา
เรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจคนทำงาน”
ในวันศุกร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุม ๗๐๙ ชั้น ๗
อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
๑๒.๓๐- ๑๓.๑๕ น. ลงทะเบียน
๑๓.๑๕- ๑๓.๓๐ น. กล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา เรื่อง“ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจคนทำงาน”
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
ประธานอนุกรรมการสิทธิแรงาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๓.๓๐ — ๑๔.๐๐ น. นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการสัมมนา
และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายและมาตรการของรัฐต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ปัจจุบัน”
ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจต่อคนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน”
๑๔.๐๐- ๑๖.๑๕ น. ข้อเสนอจากคนทำงานและภาคเอกชน เปิดประเด็น โดย
๑) นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๒) รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๓) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
๔) นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
๕) นายประสินธ์ นาคกราย ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย
๖) รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
๗) ผู้แทนสภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย
๘) ผู้แทนหอการค้าแห่งประเทศไทย
๙) ผู้แทนสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
๑๐) ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
๑๑) ผู้แทนกระทรวงการคลัง
ดำเนินการโดย
นางสุนี ไชยรส รองประธานอนุกรรมการสิทธิแรงงาน
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๖.๑๕-๑๗.๐๐ น. อภิปรายทั่วไป
๑๗.๐๐-๑๗.๑๕ น. สรุปข้อเสนอแนะ
*กำหนดการอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน โทร ๐-๒ ๑๔๑๓๙๓๘ -๔๐ (นายอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน )