กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อียูได้บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารที่เป็นอันตรายบางประเภทในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (RoHS) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 ขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างทบทวนระเบียบ RoHS เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยยื่นร่างข้อเสนอต่อสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผ่านการรับรองก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ปรับคำจำกัดความและขอบข่ายของระเบียบให้มีความชัดเจนขึ้น ดังนี้
1.1 ปรับขอบเขตของระเบียบ หมวดหมู่ประเภทสินค้า และรายชื่อสินค้าในแต่ละหมวดหมู่ให้ชัดเจนขึ้น
1.2 เพิ่มประเภทสินค้าอีก 2 ประเภท ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือควบคุมและตรวจตรา (จากเดิมสินค้าสองประเภทนี้อยู่ภายใต้ระเบียบ WEEE แต่ได้รับการยกเว้นจากระเบียบ RoHS
1.3 เพิ่มคำจำกัดความ เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical devices) และวัสดุเนื้อเดียวกัน (homogenous material) พร้อมปรับคำจำกัดความของคำว่า “ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ” (economic operator) ให้เป็นแนวทางเดียวกับระเบียบว่าด้วยการวางสินค้าในตลาดสินค้า (marketing of products — Commission Decision 768/2008/EC) เช่น การเสนอให้ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจต้องจัดเตรียมและเก็บรักษาข้อมูลต่างๆให้แก่หน่วยงานตรวจสอบทางการตลาด เช่น ชื่อผู้ส่งสินค้า EEE (Electrical and Electronic Equipment) มาให้และชื่อ ผู้ที่ตนส่งสินค้า EEE ให้ต่อไป
2. สารต้องห้าม
2.1 ให้ย้ายสารต้องห้ามและค่าความเข้มข้นสูงสุดไปที่ภาคผนวก และให้คณะทำงานพิจารณาแก้ไขต่อไป
2.2 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อสารต้องห้าม แต่ได้ระบุสาร 4 ตัว ซึ่งจะถูกประเมินผลกระทบก่อน และอาจถูกเพิ่มในรายชื่อสารต้องห้ามในอนาคต ได้แก่ Hexabromocyclododecane (HBCDD), Bis (2-ethylhexyl) phthalate (DEHP), Butyl benzyl phthalate (BBP), Dibutylphthalate (DBP)
2.3 เสนอให้ขยายการอนุญาตการให้ใช้อะไหล่ที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบฉบับนี้ ให้ครอบคลุมถึงอะไหล่ของอุปกรณ์ที่ได้รับการยกเว้นเมื่อวางในท้องตลาด
2.4 เพิ่มภาคผนวกใหม่ (ปรากฎในภาคผนวก 6) เพื่อระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อยกเว้นในสินค้าประเภทใหม่ ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือควบคุมและตรวจตราในกรณีที่ไม่สามารถหาสารอื่นมาทดแทนได้
2.5 เพิ่มกลไกในการเพิ่มรายชื่อสารต้องห้ามให้ไปในแนวทางเดียวกับวิธีการของระเบียบ REACH เพื่อให้ระเบียบทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
3. กลไกในการขอยกเว้น
3.1 ให้กรณียกเว้นมีอายุ 4 ปี และสามารถขอต่ออายุใหม่ได้
3.2 เพิ่มเงื่อนไขการให้ยกเว้นใหม่ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และความปลอดภัยและความยากง่ายในการหาสารทดแทนดังกล่าวนั้น
3.3 เสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจในการตั้งกฎเกณฑ์ในการขอยกเว้น เพื่อให้มีความชัดเจนในเชิงกฎหมาย
4. ข้อกำหนดในการประเมินว่าสินค้าถูกต้องตามระเบียบและกลไกในการตรวจสอบทางการตลาด ซึ่งปรากฎในมาตรา 7-17 โดยให้เป็นไปตามแนวทางระเบียบว่าด้วยการวางสินค้าในตลาดสินค้า marketing of products-Commission Decision 768/2008/EC) โดยจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนถึงภาระหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 229,000 ล้านบาท (2548 — 2550) ในปี 2551 (ม.ค.- พ.ย.) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 212,134 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามการทบทวนระเบียบนี้และเตรียมความพร้อมในการผลิตเพื่อส่งออก EU ต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ โทร 1385
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการค้าต่างประเทศ
โทร. 0 2547 4721 , 08 1700 1817
โทรสาร 02 547 4816 www.dft.go.th, e-mail: tpdft@mocnet.moc.go.th