กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--ตลท.
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล” ในงานสัมมนาเรื่อง “ มาตรการที่รัฐจะส่งเสริมให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนได้รับฟังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเสนอแนะแก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน และผู้บริหารภาคตลาดทุนเข้าร่วมงานกว่า 300 คน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ฯ กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียน มีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเงินและสนับสนุนภาครัฐอย่างต่อเนื่องกว่า 32 ปีที่ผ่านมา ในฐานะแหล่งลงทุนของผู้มีเงินออมกว่า 12 ล้านคน แหล่งระดมทุนที่เป็น Global saving โดยมีการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ กว่าร้อยละ 30 ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภาครัฐ โดยในปี 2550 ภาครัฐได้จัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคลของบจ. และบริษัทในเครือ คิดเป็นร้อยละ 42 ของภาษีนิติบุคคลที่จัดเก็บได้ทั้งหมด
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการสำคัญ คือ สนับสนุนการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน ปรับปรุงกฎหมาย และสนับสนุนการเข้าจดทะเบียน และรักษาบริษัทจดทะเบียนเดิมไว้ และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ให้ความสำคัญกับขนาดของตลาดหลักทรัพย์ ฯ เชื่อมโยงระบบและรวมศูนย์ตลาดตราสารต่าง ๆ และปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งมาตราการสำคัญมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนและจะส่งผลในการฟื้นฟูธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลดรายจ่ายทางภาษี สนับสนุนการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ 1) ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ที่โอนในปี 2552 และการคงสิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้หักลดหย่อนภาษี และต่ออายุลดค่าธรรมเนียมโอนภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2) ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม ได้รับสิทธิขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ0.5 จาก 6 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท 3) วิสาหกิจชุมชนได้รับสิทธิเพิ่มเพดานวงเงินยกเว้นภาษีเพิ่มจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้าน 4) ปรับปรุงเงื่อนไขการลงทุนและภาษีเงินได้ของธุรกิจเงินที่ลงทุนใน SME และ 5 ) งดเก็บภาษีที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างบริษัท ในปี 2552
นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการที่จะลงทุนในไทย โดยในส่วนของ BOI ได้มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการสูงสุดในการได้รับการยกเว้นภาษีถึง 8 ปี และเสียภาษี 50 % 3 ปี สำหรับกิจการ 6 ประเภท คือ กิจการประหยัดพลังงาน และใช้เทคโนโลยีสูง กิจการที่ใช้วัสดุเป็นมิตรกับธรรมชาติ กิจการที่เกี่ยวข้องกับเมกะโปรเจ็ก กิจการเกี่ยวกับท่องเที่ยวและเชื่อมโดยตรงกับอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและธุรกิจที่ทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัย โดยจะได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี แต่ไม่เกิน 70% ของวงเงินที่ได้ลงทุนไป
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บ้านปู และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน กล่าวว่า อยากเสนอให้ธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนของภาษีเงินได้ และลดอุปสรรคในการปรับโครงสร้างธุรกิจ และเพิ่มมาตรการดูแลภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมี Value Chain ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลบจ. ที่มีปัญหาความไม่สะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน อาจอยู่ในรูปแบบการจัดตั้ง Venture Cap ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียน และมีการจ้างงาน
ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนที่สูงถึงกว่า 9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกสำคัญในการจัดเก็บภาษี (Tax Corrector) โดยบจ.มีอัตราเฉลี่ยการจ่ายภาษีโตขึ้นถึง 22 % ต่อปีในขณะที่บริษัทจำกัด มีอัตราเฉลี่ยโตเพียง 8 % ต่อปีซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ของส่วนต่างทางภาษีแก่บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและกำหนดให้ได้รับสิทธิด้านภาษีเป็นการถาวร
ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229-2048 ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229 — 2037 วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797