ข้อเท็จจริงความจำเป็นในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--ปตท. ปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นับเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขมานานของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ในปี 2534 รัฐบาลสมัย คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันทุกชนิดให้ลอยตัวตามตลาดโลก ยกเว้น LPG และต่อมาในปี 2544 ได้ปรับราคา LPG เป็น “กึ่งลอยตัว” โดยยังคงควบคุมราคา ณ โรงกลั่นซึ่งเป็นราคาขายของผู้ผลิตทั้งจากโรงกลั่นและ โรงแยกก๊าซฯ แต่ปล่อยให้ราคาขายปลีกและค่าการตลาดให้ผู้ค้าก๊าซฯ เป็นผู้กำหนด และต่อมาในรัฐบาลหลายสมัยได้มีความพยายามแก้ไขปัญหา LPG แต่ก็มีอันเป็นต้องเลื่อนออกไปจนล่าสุดในสมัยรัฐบาล คมช. ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก็ได้มีแนวทางแก้ปัญหา โดยยกเลิกการชดเชย พร้อมกับปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุนผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ (60%) และราคาส่งออก (40%) แต่ต่อมานโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ วันนี้ท่ามกลางความสนใจในประเด็นการเสนอปรับราคา LPG ของกระทรวงพลังงาน ได้เกิดความสับสนและความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นที่มีการเข้าใจผิด ดังนี้ 1. มีการเข้าใจผิดที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้เพียงพอ และยังเหลือส่งออกอีกด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้า ข้อเท็จจริง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ประเทศไทยยังไม่ประสบปัญหาการขาดแคลน LPG ผู้ผลิตจึงยังมี LPG ส่งออกเฉลี่ย 5,000 ตันต่อเดือน อย่างไรก็ดี ไทยเริ่มขาดแคลน LPG ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 เป็นต้นมา โดยมีปริมาณนำเข้ารวมระหว่างเดือนเมษายน — ธันวาคม 2551 รวม 450,000 ตัน สำหรับสาเหตุที่ว่า ทำไมไทยยังมีการส่งออก LPG ทั้งๆที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถนำเข้า LPG ได้เอง รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาวและพม่าจึงได้ขอความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลไทย ให้ช่วยนำเข้าแทนสำหรับส่งต่อไปยังประเทศผู้ร้องขอ โดยปริมาณนำเข้าเพื่อส่งไปยัง ลาวและพม่า นั้น ผู้นำเข้าจะไม่ได้รับการชดเชยเงินจากกองทุนน้ำมันฯ 2. มีการเข้าใจผิดที่ว่า การขาดแคลน LPG เกิดจากการที่ ปตท.สร้างโรงแยกก๊าซฯ ไม่เพียงพอ ข้อเท็จจริง การขาดแคลน LPG ในปี 2551 เกิดจากความต้องการ LPG ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมราคาของภาครัฐโดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกและประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2548 — 2551 ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 15% โดยเฉพาะในภาคขนส่งสูงขึ้นถึง 37% ทั้งนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโรงแยกก๊าซฯเพิ่มขึ้นให้ทันต่อความต้องการดังกล่าว เนื่องจากการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและทำการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งถ้าหากย้อนหลังกลับไปในปลายปี 2547 ตอนเริ่มวางแผนสร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ความต้องการ LPG เป็นเชื้อเพลิงขณะนั้นอยู่ในระดับ 2.2 ล้านตัน และประเทศไทยยังมีการส่งออก LPG ปีละเกือบ 1 ล้านตัน ซึ่งคาดการณ์ในตลาดขณะนั้นว่า เมื่อโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 แล้วเสร็จประมาณปี 2553 ปริมาณส่งออกจะสูงถึง 1.8-2.0 ล้านตัน/ปี แต่ในปี 2551 ที่ผ่านมา ความต้องการ LPG เป็นเชื้อเพลิงสูงถึง 3.6 ล้านตัน ทำให้ต้องมีการนำเข้ากว่า 4 แสนตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ซึ่งหากการขยายตัวยังอยู่ในอัตราปัจจุบัน แม้จะมีการขยายโรงแยกก๊าซฯ ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และต้องมีการนำเข้า LPG ต่อไป หากไม่มีการแก้ปัญหาให้ถูกจุด 3. มีการเข้าใจผิดที่ว่า การเสนอปรับขึ้นราคา LPG ในครั้งนี้เป็นการสวนกระแสกับราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ร่วงลงมา 60% จากกลางปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริง การขึ้นราคา LPG ในครั้งนี้ไม่เป็นการสวนกระแสกับราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกที่ร่วงลงมา 60% จากกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเสนอปรับขึ้นราคา LPG ในครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน จนทำให้การใช้ LPG บิดเบือน ไม่เกิดประสิทธิภาพ และทำให้ต้องมีการนำเข้าและเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันราคา LPG ในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 380 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่หากบวกค่าขนส่งถึงประเทศไทยก็จะอยู่ที่ 430 เหรียญสหรัฐ/ตัน และต้องนำมาจำหน่ายในราคาควบคุมที่ 10.996 บาท/ก.ก. หรือ 314 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) ทำให้รัฐยังคงรับภาระอยู่อีกประมาณกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 4 บาท/ก.ก. ในขณะที่การปรับขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพียง 2.70 บาท/ก.ก. 4. มีการเข้าใจผิดที่ว่า การเสนอปรับขึ้นราคา LPG 2.70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ผู้ผลิต LPG คือ โรงแยกก๊าซและโรงกลั่น ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ข้อเท็จจริง รัฐเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการเสนอปรับราคา LPG ดังกล่าวเนื่องจากข้อเสนอของ กระทรวงพลังงานในการปรับราคา LPG ขึ้น 2.70 บาท/ก.ก. ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมนั้น เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของกองทุนน้ำมันฯจำนวน 2.52 บาท/ก.ก. และอีก 0.18 บาท/ก.ก. เป็นส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ผลิตทั้งโรงแยกก๊าซฯและโรงกลั่นจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากการขึ้นราคาขายในครั้งนี้แต่ประการใด โดยรัฐยังคงควบคุมโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นเท่าเดิมที่ 10.996 บาท/ก.ก. หรือ 314 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งผู้ผลิตยังคงต้องรับภาระส่วนต่างของราคาตลาดโลกกับราคาควบคุมอยู่ต่อไป หมายเหตุ * ณ อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นส่วนต่างของราคาขายปลีกหลังการปรับราคากับราคาตลาดโลกจะเป็นส่วนที่รัฐเก็บในรูปภาษีต่างๆ และกองทุน 6.57 บาท/ก.ก. ผู้ค้าน้ำมันตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าจะได้ค่าการตลาด 3.26 บาท/ก.ก. ในขณะที่ผู้ผลิตต้องรับภาระ 2.30 บาท/ก.ก. สรุป การเสนอปรับราคา LPG ในภาคขนส่ง อุตสาหกรรม จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายการแก้ปัญหาราคา LPG และเพื่อให้เกิดการใช้ LPG เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุดและลดการนำเข้าโดยผู้ผลิต LPG มิได้มีส่วนได้รับประโยชน์อันใดจากการปรับขึ้นราคาดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ