กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน “ฟันธง” ไบโอดีเซลได้ตามเป้าหมาย เผยการดำเนินงานรุดหน้า พร้อมประกาศใช้ไบโอดีเซล B5 ในปี 2550 ภายหลังการทดสอบกับรถยนต์มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้น้ำมันดีเซล พร้อมเชื่อมั่นต้นปี 2550 ได้เห็นปั๊มไบโอดีเซล 200 แห่ง
นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน รักษาแทนปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ไบโอดีเซล จากพืชสวน สู่พลังงานระดับชาติ” โดยเป็นการบรรยายให้แก่สื่อมวลชนจากระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ โรงแรมสยามซิตี้ ว่า การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ในปี 2550 กระทรวงฯ จะเริ่มจำหน่ายไบโอดีเซลในระดับ B5 ในเขตกรุงเทพมหานครและบางจังหวัดของภาคใต้ พร้อมทั้งขยายการจำหน่ายให้ได้ทั่วประเทศในปี 2554 โดยมั่นใจว่าจะสามารถจำหน่ายไบโอดีเซล B10 จำนวน 8.5 ล้านลิตรเป็นทั่วประเทศ ในปี 2555
สำหรับแนวทางดำเนินการและแผนปฏิบัติเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย ได้มีการกำหนดแผนต่างๆ ดังนี้ 1.การปลูกและการจัดหาวัตถุดิบ ปัจจุบันสามารถจัดหาวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลได้เพียงพอถึงปี 2551 โดยที่ไม่ต้องนำเข้า พร้อมกับเร่งปลูกปาล์มใหม่ในประเทศให้ได้ 4 ล้านไร่ โดยผลิตต้นกล้า และให้แรงจูงใจการปลูกปาล์มแข่งกับยาง ขณะนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนแล้ว 420,000 ไร่ นอกจากนี้ได้มีการเจรจาปลูกปาล์มในประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ 200,000 ไร่ ในปี 2550 และเป็น 1 ล้านไร่ ในปี 2555 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมแหล่งปลูกปาล์มให้มีมากขึ้น
2.การผลิตและจัดตั้งโรงงานไบโอดีเซล ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งโรงงาน B100 เพื่อผลิตให้ได้ 8.5 ล้านลิตร/วัน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีโรงงานเกิดขึ้นแล้ว 6 แห่ง กำลังผลิตไบโอดีเซลที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 930,000 ลิตรต่อวัน ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ไขปาล์ม และน้ำมันปาล์มดิบ และคาดว่าในปี 2551 จะมีโรงงานเพิ่มเป็น 8 แห่ง กำลังผลิตรวม 2.13 ล้านลิตรต่อวัน และเพิ่มมากขึ้นอีก 3-4 เท่าภายในปี 2555
3. การจัดตั้งโครงการไบโอดีเซลชุมชน (Pilot Project) ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตไบโอดีเซลใช้เองจากน้ำมันพืชใช้แล้ว น้ำมันปาล์ม และน้ำมันสบู่ดำ ซึ่งวันนี้สามารถสร้างไบโอดีเซลชุมชนแล้ว 40 ชุมชน ผลิตไบโอดีเซลใช้เองทดแทนน้ำมันดีเซล 2.3 ล้านลิตรต่อปี และคาดว่าภายในปี 2549 นี้ จะมีชุมชนไบโอดีเซลเกิดขึ้นเป็น 70 ชุมชน กำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 7,000-21,000 ลิตรต่อวัน และขยายเป็นโครงการ 1 อำเภอ 1 ไบโอดีเซล เพื่อให้เกิดไบโอดีเซลชุมชนจำนวน 730 แห่ง ภายในปี 2552
4. การจำหน่าย ถึงปัจจุบันมีสถานีให้บริการในปั๊ม ปตท. และบางจาก รวมกัน 50 สถานี โดยในต้นเดือนมกราคม 2550 จะขยายเพิ่มเป็น 200 สถานี และเป็น 300 แห่งภายในปีเดียวกัน ขณะที่การกำหนดให้มีการจำหน่ายไบโอดีเซลต่ำกว่าดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อจูงใจประชาชน
และ 5. การควบคุมคุณภาพ SPEC B100 โดยประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน พ.ศ. 2548 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา ตลอดจนการศึกษาวิจัย โดยทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผสมตั้งแต่ B2 ไปจนถึง B100 กับรถยนต์ดีเซล ผลการทบสอบเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า การใช้ในระดับ B2 และ B5 อัตราการใช้เชื้อเพลิง กำลังรถยนต์และอัตราเร่งไม่แตกต่างกัน โดยยังสามารถช่วยลดควันดำได้ จึงมั่นใจได้ว่าการใช้ไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลทั่วไปจะไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด ส่วนการใช้ในระดับที่สูงขึ้น B20 จนถึง B100 พบว่า จะมีอัตราสิ้นเปลืองที่มากขึ้น ผลต่อกำลังรถยนต์และอัตราการเร่ง เพราะด้วยลักษณะของไบโอดีเซลที่ผสมมากขึ้น แต่ก็พบว่าทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ขึ้นเช่นกัน
นายพรชัย กล่าวช่วยท้ายว่า ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับของการส่งเสริมไบโอดีเซล จะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันให้กับประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการอาศัยความได้เปรียบจากปัจจัยการผลิตวัตถุดิบไบโอดีเซลที่เราสามารถจัดหาได้ในประเทศ การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านมิติสังคม คือ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองในด้านพลังงาน สร้างความเข้มแข้งให้กับชุมชน และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น ด้านมิติเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่พืชที่ให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมิติสุดท้าย การลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด สร้างถนนสีเขียวให้เกิดขึ้น