รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2551

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2009 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาก ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่หดตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศในด้านการบริโภคยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอและปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 ต่อปี เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าสอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -2.5 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.8 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี สะท้อนถึงการใช้จ่ายที่ลดลงของประชาชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร และกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 47.5 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากช่วงปลายปี 2550 ที่มีการรอซื้อรถที่ได้ปรับลดภาษี E20 ในช่วงต้นปี 2551 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 67.7 จุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อันเป็นผลจากความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมทั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคลดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย 2. การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 หดตัวที่ร้อยละ -5.6 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี สะท้อนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะเริ่มปรับตัวลดลงแล้วก็ตาม ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -32.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของยอดจำหน่ายรถปิกอัพและรถบรรทุกขนาด 2 ตันที่หดตัวร้อยละ -34.5 และ -33.7 ตามลำดับ 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 พบว่ารายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 (หรือไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2552) เท่ากับ 272.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -16.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมันตามมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาษีฐานรายได้ในไตรมาสที่ 4 พบว่าขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปี สะท้อนถึงผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาษีฐานการบริโภคในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.8 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และระดับราคาสินค้าที่ลดลง สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 404.3 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณในระดับต่ำในช่วงเดือนตุลาคม 2551 เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ล่าช้า แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2551 รัฐบาลได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายจำนวน 334.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี ในขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่าย 28.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -48.7 ต่อปี เนื่องจากหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2552 ยังมิได้มีการประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ซึ่งจะทำให้มีการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเพื่ออุดหนุนกิจการของ อปท. ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2552 ต่อไป 4. การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 หดตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากการปิดสนามบินภายในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า โดยมูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 38.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -14.6 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี สำหรับการนำเข้าชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เท่ากับ 40.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 39.9 ต่อปี โดยเป็นการชะลอตัวของทั้งปริมาณการนำเข้าที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขาดดุลจำนวน -1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 พบว่าผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีทิศทางหดตัว โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 4 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี เป็นผลมาจากการหดตัวในผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ในขณะที่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงต่อเนื่องตามราคาที่ลดลง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 35.5 ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพาราปรับตัวลดลง ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -9.7 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบในไตรมาสที่ 4 ที่ขยายตัวระดับต่ำที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.2 ต่อปี สะท้อนการชะลอการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมากในไตรมาสที่ 4 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน หดตัวร้อยละ -18.2 ต่อปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์การปิดสนามบินในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม 2551 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเช่นกัน 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าพลังงานและอาหารปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 37.0 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 111.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4.0 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ