กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบัน “ขยะ” นับเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน พื้นที่เทศบาลตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ในแต่ละปี เทศบาลต้องทุ่มงบประมาณกว่า 11 ล้านบาท เพื่อจัดเก็บขยะแล้วนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบ ด้วยวิธีการเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมากเท่านั้น หากแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขยะของชุมชนได้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการทิ้งขยะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขยะในหลุมฝังกลบส่งกลิ่นเน่าเหม็น และมีน้ำขยะไหลออกมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของชุมชน โดยเฉพาะ เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลบ้านร้องกวาง หมู่ 2 ที่อยู่ติดกับหลุมขยะ
จากการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จ.แพร่ ได้เข้าไปทำ โครงการธนาคารขยะลดภาวะโลกร้อนเพื่อความยั่งยืนของชาวบ้านร้องกวาง ในระยะเวลาเพียงประมาณ 5 เดือนเศษ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2551 ถึงช่วงปลายเดือนมกราคม 2552 กลับช่วยให้ชุมชนมีวิธีการจัดการขยะของชุมชนอย่างชาญฉลาด สามารถลดปริมาณขยะได้เกือบ 100% ทำให้โครงการของนักศึกษากลุ่มนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปีที่ 3 ระดับอุดมศึกษา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2551
นายชวนันท์ ทองกลัด หรือ แชมป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จ.แพร่ ประธาน กล่าวว่า การเลือกปัญหาขยะมาพัฒนาเป็นโครงการ เนื่องจากเขาและเพื่อนๆ เห็นถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพราะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกับชุมชน เป้าหมายของโครงการคือ การลดปริมาณขยะ ด้วยวิธีการส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดการและใช้ประโยชน์จากขยะอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
การเข้าไปทำงานกับชุมชน แชมป์ และเพื่อน เริ่มต้นด้วยการเข้าหาผู้นำชุมชน เพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ และกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนเป็นอย่างดี เช่น นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ รองปลัดจังหวัดแพร่ นายอดุลย์ หันพงษ์กิตติกูล นายอำเภอร้องกวาง นายอภิศักดิ์ วรรณภูมิพันธ์ นายกเทศบาลอำเภอร้องกวาง นายอุดม มีปัญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลร้องกวาง และนายศักดิ์ศิลป์ ตาขันทะ ผอ.โรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) เป็นต้น ทุกกิจกรรมที่นักศึกษา ดำเนินการจึงไม่เป็นการกระทำโดยพลการ หากแต่จะมีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบ ผ่านเวทีการประชุมประจำเดือนของชุมชน พร้อมทั้งเปิดรับฟังคิดเห็นของชาวบ้านด้วย
การดำเนินกิจกรรมลดปริมาณขยะ ทีมนักศึกษาเริ่มจากการสำรวจข้อมูลขยะของชุมชน ซึ่งพบว่าขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ รองลงมาคือขยะสดจากบ้านเรือน และเศษพืชผักจากตลาดสด ทำให้เกิดแนวคิดการจัดการขยะเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นขยะที่รีไซเคิลได้ และขยะสด ซึ่งต้องใช้วิธีจัดการที่แตกต่างกัน
ในส่วนของการจัดการขยะรีไซเคิล เยาวชนได้เน้นการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และแนะนำวิธีการเพิ่มมูลค่าขยะด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น การแกะฉลากขวดน้ำชนิดขวดขุ่นออกก่อนชั่งขาย ซึ่งจะทำให้ขายขยะได้ราคาสูงกว่าเดิม คือ จากราคากิโลกรัมละ 17 บาท เป็น 30 บาท เป็นต้น จุดนี้ได้สร้างแรงจูงใจชาวบ้านคัดแยกขยะมากขึ้น ขณะเดียวกันนักศึกษายังได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำขยะมาผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ๆ เช่น แก้วน้ำจากขวดน้ำใช้แล้วในครัวเรือน จนพบว่าเวลานี้ชาวบ้านร้องกวางมีขยะเหลือทิ้งน้อยมาก คือส่วนที่ขายไม่ได้อีกแล้ว เช่น ขวดสเปรย์ และฉลากของขวดน้ำ
สำหรับ ขยะสด ที่เกิดจากการอุปโภค — บริโภค ในครัวเรือน และเศษพืชผักจากตลาดสด ทีมนักศึกษาได้เลือกใช้ วิธีการย่อยสลายสารอินทรีย์ในขยะสดโดยไส้เดือนแดง เนื่องจากแชมป์และเพื่อนได้มีโอกาสเยี่ยมชมงานที่ภาควิชาทรัพยากรดินและปุ๋ย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พบว่าเป็นวิธีที่ย่อยสลายขยะสดได้ดี ไม่มีกลิ่นเหม็น แถมยังได้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินใช้เป็นปุ๋ยพืชและใช้ดับกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ ท่อน้ำ หรือแม้แต่บ่อขี้หมูได้เป็นอย่างดี ทีมเยาวชนจึงคัดเลือกชาวบ้านจำนวน 40 หลังคาเรือนที่มีพฤติกรรมการคัดแยกขยะที่ดีเข้าร่วมกิจกรรม ดูงานกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในขยะสดโดยไส้เดือนแดง ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านที่ไปศึกษาดูงานต่างเห็นว่าวิธีการดังกล่าวน่าสนใจ และกลับมาลงมือทดลองปฏิบัติ
วิธีการเลี้ยงไส้เดือนแดงไม่ยุ่งยาก แชมป์อธิบายว่า ให้ใช้ดินสีดำที่มีแร่ธาตุมากผสมกับขี้วัวในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ใส่ในบ่อซีเมนต์ขนาดหน้ากว้าง 1 เมตร จากนั้นให้นำไส้เดือนแดงน้ำหนัก 1 กิโลกรัมใส่ลงในบ่อและนำเศษผักเทกลบ ในฤดูร้อนให้ใส่เศษผักบางๆ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิในบ่อสูงเกินไป ส่วนฤดูหนาวใส่เศษผักหนาๆ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไส้เดือนแดง อีกทั้งที่ขอบบ่อด้านในยังต้องนำสบู่มาถูโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้ไส้เดือนแดงไต่หนี ทั้งนี้เมื่อไส้เดือนแดงกินเศษผักที่เน่าเปื่อยจนอิ่มแล้วจะฉี่ออกมาเป็นน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน หรือน้ำฉี่ไส้เดือนดิน จากวิธีการนี้ ชาวบ้าน 40 ครอบครัวแรกให้การตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับบ้านไหนที่มีบ่อซีเมนต์อยู่แล้วและไม่ต้องทำงานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งโดยมากเป็นข้าราชการหรือที่เกษียณอายุจำนวน 17 หลังแรกได้เริ่มทดลองเลี้ยงไส้เดือนแดงก่อนใครเพื่อน ส่วนบ้านอื่นๆ อีก 23 หลังเมื่อเสร็จสิ้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ได้เริ่มทำน้ำหมักไส้เดือนแดงตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อทำแล้วพบว่าสามารถลดปริมาณขยะสดในครัวเรือนได้มาก และได้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินใช้ในครัวเรือนเป็นของแถม ขณะที่พนักงานของเทศบาลยังได้รับผลพลอยได้คือไม่ต้องเก็บขยะสดที่เน่าเหม็น สกปรก สร้างความรำคาญ แต่เก็บขยะได้อย่างมีความสุข
นอกจากนักศึกษาจะใช้วิธีการให้ความรู้ในการจัดการขยะกับชาวบ้านแล้ว ระหว่างทางพวกเขายังมี “กลยุทธ์” ในการสร้างแรงจูงใจ และสร้างกำลังใจให้กับชาวบ้านด้วยการประสานกับเทศบาลอำเภอร้องกวางให้จัดทำป้าย “ว่าที่เศรษฐีใหม่ ร่วมใจคัดแยกขยะ” เพื่อยกย่อง และชื่นชม ครอบครัวที่คัดแยกขยะ และมอบป้าย “คนบ้านนี้รักษ์แผ่นดิน พออยู่พอกิน ใช้จ่ายพอเพียง” ให้กับครอบครัวที่มีการคัดแยกขยะร่วมกับการทำน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน โดยได้รับการสนับสนุนจากทางผู้บริหารเทศบาลเป็นอย่างดี
ผลจากความตั้งใจของนักศึกษา ความร่วมมือจากชุมชน และการได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนนี่เองที่ทำให้ 40 ครอบครัวนำร่อง สามารถจัดการขยะในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความสะอาดแล้ว พวกเขายังได้รับประโยชน์อีกหลายอย่าง อาทิ รายได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิล ได้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินใช้เป็นปุ๋ยพืช ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมนำร่องหันมาสนใจ และเข้ามาเรียนรู้ และเริ่มทำการจัดการขยะในครัวเรือนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณขยะของชุมชนก็ลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน รถเทศบาลที่เคยต้องวิ่งเข้า-ออก หมู่บ้านเพื่อเก็บขยะไปทิ้งสัปดาห์ละ 2 ครังก็ลดเหลือเพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือบ้างก็เป็นสองสัปดาห์ต่อครั้ง ชุมชนหมู่1 ตำบลร้องกวางสะอาดขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และเทศบาลอำเภอร้องกวางยังได้ยกย่องให้ชุมชนหมู่ 1 ตำบลร้องกวางเป็นต้นแบบของชุมชนที่มีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ที่ต่อไปถังขยะหน้าบ้านอาจจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว บางบ้านบอกว่าจะใช้พื้นที่ตั้งถังขยะปลูกดอกไม้ — ต้นไม้ ทดแทน
การสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของชุมชนในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ หากแต่ได้มีการขยายผลสู่การทำ กิจกรรมโรงเรียนสีเขียวช่วยลดภาวะโลกร้อน ที่โรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) อีกด้วย เช่น มีการประกวดคำขวัญ จุดสาธิตการย่อยสลายขยะสดโดยไส้เดือนแดง และการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อหารายได้สมทบกองทุนอาหารกลางวัน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการจัดการขยะอย่างถูกวิธีและเปลี่ยนเป็นความเคยชินในอนาคต จุดประสงค์เพื่อปลูกสำนึกให้เยาวชน เพื่อให้การจัดการขยะของชุมชนร้องกวางมีความยั่งยืนในระยะยาวอีกทางหนึ่งนั่นเอง
แม้ว่าขณะนี้ระยะเวลาการดำเนินโครงการของนักศึกษาจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่กิจกรรมจัดการขยะของชุมชนที่นักศึกษาได้ริเริ่มขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป ด้วยมี ลุงวุฒิพันธ์ ไชยฟู ชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลร้องกวาง ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมทำโครงการกับนักศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการจัดการขยะสดด้วยไส้เดือนแดง กระทั่งมีความรู้ ความชำนาญมากพอที่จะทำหน้าที่เป็น “วิทยากร” สอนเพื่อนบ้านแทนนักศึกษาได้
ลุงวุฒิพันธ์ นั้นไม่เพียงเป็นนักเรียนที่ดีของนักศึกษาเท่านั้น หากแต่ลุงยังเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง และชอบทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาลุงได้นำเอาแนวคิดที่เขาได้มาจากการอ่านหนังสือมาทำการทดลองนำเปลือกไข่ไก่ป่นผสมกับสมุนไพร อาทิ สะเดา ตะไคร้หอม ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ผสมเป็นอาหารของไส้เดือนแดง เพื่อให้ได้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งจะช่วยในการออกดอกของพืช และยังทำให้พืชมีความต้านทานโรคและแมลงมากขึ้น
นายอภิศักดิ์ วรรณภูมิพันธ์ นายกเทศบาลอำเภอร้องกวาง กล่าวถึงสิ่งดีๆ ที่เยาวชนทำขึ้นว่า “กิจกรรมที่เยาวชนนำมาแนะนำแก่ชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลร้องกวาง ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและน่ายกย่องความตั้งใจดีของเยาวชน เพราะทำให้ชาวบ้านรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และได้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างใช้ในครัวเรือน หากมีมากก็อาจจำหน่ายสร้างรายได้ โดยกิจกรรมเหล่านี้ล้วนได้รับการตอบรับจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียงหลายแห่งยังได้แสดงความสนใจให้เยาวชนนำกิจกรรมเหล่านี้ไปแนะนำในพื้นที่ตนเองด้วย”
สำหรับนักศึกษาจากรั้วแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งครั้งนี้พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านสามารถจัดการขยะของชุมชนได้เป็นผลสำเร็จนั้น ได้สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้ว่า ผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับจากการทำโครงการคือการได้ลงชุมชนจริงๆ และได้รู้จักชีวิตจริงของชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงนักศึกษาที่เข้าไปอาศัยในพื้นที่ แต่ได้พบและได้หัดทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้เห็นความรักความเอื้ออาทรที่ชาวบ้านมีต่อเยาวชนในโครงการ เห็นพวกเขาเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง หยิบยื่นข้าวปลาอาหารให้ ทำให้รู้สึกสนุกกับการลงชุมชนมากกว่าการเที่ยวสนุกกับเพื่อนๆ อย่างในอดีต ที่สำคัญ ผลสำเร็จของโครงการยังทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้น
นี่คือผลที่เกิดจากงานโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปีที่ 3 ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสออกไปใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ผ่านโครงการเล็กๆ ที่เมื่อเชื่อมต่อกับความร่วมไม้ร่วมมือกับชุมชน ก็สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อชุมชนและนักศึกษาอย่างมากมาย.
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884,
0-2544-5692 หรือติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com