กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศนำอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่นจำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ออกจาก “เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ” (Rating Watch Negative) หลังจากผู้ถือหุ้นกู้ได้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิในหุ้นกู้มีหลักประกัน ในขณะเดียวกันฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ของ PTTAR เป็น A-(tha) (A ลบ (tha)) จาก ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) เป็น ‘F2(tha)’ จาก ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีหลักประกันชนิดทยอยคืนเงินต้นเป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ เนื่องจากสถานะทางเครดิตของบริษัทที่อ่อนแอลง โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การนำอันดับเครดิตของ PTTAR ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ ซึ่งได้ประกาศไว้ในเดือน ธันวาคม 2551 เป็นผลมาจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิในหุ้นกู้มีหลักประกันในข้อซึ่งบริษัทมีแนวโน้มจะละเมิด โดยผู้ถือหุ้นกู้ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 และยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ (ที่ไม่รวมหนี้ค่าใช้จ่ายค้างชำระและหนี้ในทางการค้าปกติ) ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (net debt/EBITDA) ไม่เกิน 4 เท่า และอัตราส่วนของความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ไม่ต่ำกว่า 1.25 เท่าออกจากข้อกำหนดสิทธิ โดยให้แทนด้วยอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่รวมหนี้สินหมุนเวียนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Non Current Liability to Equity) ไม่เกิน 2 เท่า โดยบริษัทได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.60% เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิดังกล่าว ดังนั้นความเสี่ยงที่เกิดจากการละเมิดข้อกำหนดสิทธิจึงหมดไป
อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับเครดิตเป็นการสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท และการเติบโตของผลการดำเนินงานที่น้อยกว่าที่คาด ซึ่งทำให้ความคล่องตัวทางการเงินของบริษัทลดลง หนี้สินและหนี้สินสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 โดยเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 66.9 พันล้านบาท และ 66.3 พันล้านบาท ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 จาก 35.8 พันล้านบาท และ 33.0 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมันและน้ำมันดิบคงคลังส่วนเกินอันเนื่องมาจากการหยุดดำเนินงานของโรงกลั่นโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูงด้วย ในขณะเดียวกันการอ่อนตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับวัตถุดิบ และผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังทำให้ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (รวมการลดค่าลงของสินค้าคงคลังจำนวน 4.3 พันล้านบาท) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ลดลงเหลือ 7.7 พันล้านบาท จาก 19.5 พันล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทที่พิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า จึงเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 6.5 เท่า (5.6 เท่า ในกรณีที่ไม่รวมหนี้สินด้อยสิทธิที่กู้ยืมจากผู้ถือหุ้น) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 จาก 1.3 เท่า (0.9 เท่า ในกรณีที่ไม่รวมหนี้สินด้อยสิทธิ) ในปี 2550
เนื่องจากแนวโน้มที่อ่อนตัวลงของธุรกิจการกลั่นและอะโรเมติกส์ รวมถึงแผนการลงทุนของบริษัท ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทไม่น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองปีข้างหน้า แม้ว่าฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 และ 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ลดลง แต่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ของบริษัท น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงในช่วงปี 2552 ถึง 2554 ก่อนจะลดลงมาที่ระดับประมาณ 2.5 เท่า ในปี 2555
อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เชื่อมโยงกับ บมจ. ปตท. (AAA/แนวโน้มเสถียรภาพ) ทั้งในด้านกลยุทธ์และการดำเนินงาน รวมถึงขนาดของกิจการที่ใหญ่ขึ้นและมีความคล่องตัวและการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทลงได้ในระดับหนึ่ง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีสัญญาซื้อขายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ระยะยาวมารองรับ และการดำเนินธุรกิจระบบการกลั่นของโรงกลั่นที่ซับซ้อนและทันสมัย รวมถึงความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึง การที่ฟิทช์คาดว่า PTTAR จะสามารถรักษาความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างการกลั่นน้ำมันและการผลิตอะโรเมติกส์และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมถึงการคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างมากของผลการดำเนินงานซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญและรักษาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ จะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้สิน (กล่าวคือ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า มากกว่า 6 เท่าในปี 2552) และระดับค่าการกลั่นเฉลี่ย (ที่ไม่รวมผลกำไรขาดทุนจากสินค้าคงคลัง) อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ติดต่อกันเป็นเวลา 18-24 เดือน จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท