เนคเทคโชว์ผลงานการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม พร้อมเดินเครื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม

ข่าวเทคโนโลยี Friday January 30, 2009 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--เนคเทค วันที่ 30 มกราคม 2552 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เนคเทคประกาศเดินเครื่องถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ หวังลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม โดยพัฒนาให้เครื่องจักรอุตสาหกรรมเก่าที่ล้าสมัยแล้วสามารถนำมาใช้งานได้อีก พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีกว่าเดิม เนคเทค โดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม หรือ ICA มีเป้าหมายสำคัญในการวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นงานวิจัยที่ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์และพลังงาน เปิดห้องวิจัยให้คณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมพร้อมนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จจากความร่วมมือที่มีกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม หรือ ICA ได้กล่าวถึงขีดความสามารถของห้องปฎิบัติการและนักวิจัยว่า ปัจจุบัน ICA มีนักวิจัยและบุคลากรจำนวน 34 คน ซึ่งมีขีดความสามารถและมีความพร้อมในการวิจัยพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมโดยในปีที่ผ่านมามีผลงานเด่นที่ตอบสนองต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ อาทิ ? ระบบควบคุมเครื่องกัดอัตโนมัติ จากข้อมูลพบว่า ความต้องการเครื่องจักรซีเอ็นซีภายในประเทศมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากมีส่วนช่วยประหยัดเวลา แรงงาน และช่วยทำให้คุณภาพของชิ้นงานดีขึ้น แต่เครื่องจักรกลส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ต้องนำเข้าเป็นมูลค่าสูงมาก ซึ่งเครื่องจักรส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี เมื่อหมดอายุก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเรียกว่า การรีโทรฟิต (Retrofit) จากการสำรวจของสมาคมเครื่องจักรกลไทย มีเครื่องจักรที่รอการรีโทรฟิตประมาณ 40,000 เครื่อง ซึ่งมีผู้ประกอบการในประเทศหลายรายที่มีความสามารถในการรีโทรฟิตเครื่องจักรกล แต่ยังต้องนำเข้าระบบควบคุมจากต่างประเทศ นักวิจัยจากห้องปฎิบัติการ ICAได้มีการวิจัยพัฒนาระบบควบคุมเครื่องกัดอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ใช้มากในอุตสาหกรรม การพัฒนาชุดควบคุมนี้จะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิตอัตโนมัติ โดยใช้การ์ดควบคุม DSP ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 2549-2550 สามารถควบคุมเครื่องจักรที่ใช้เซอร์โวมอเตอร์ ซึ่งชุดควบคุมที่จะพัฒนาขึ้นนี้จะเป็นชุดควบคุมสำเร็จรูป ที่ผู้ใช้สามารถนำไปประกอบกับเครื่องจักรได้ง่าย ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง เนคเทค สถาบันไทย-เยอรมัน (ทีจีไอ) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมสำหรับ Retrofit เครื่องกัดอัตโนมัติ โดยทำเป็นโครงการนำร่องให้แก่วิทยาลัยเทคนิคนครปฐมและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม เพื่อทดแทนชิ้นส่วนระบบควบคุมเครื่องกัดอัตโนมัติเก่าที่มีอยู่ รวมถึงจัดอบรมการใช้งานให้กับบุคลากรเพื่อให้สามารถนำระบบควบคุมไปใช้สำหรับงานรีโทรฟิตเครื่องจักรที่สถาบันการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาเครื่องกัด ซี เอ็น ซี เพื่อเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน โดยร่วมกันวิจัยและพัฒนาเครื่องจักร CNC Milling ขนาดเล็กสำหรับเป็นสื่อการสอน และส่งมอบพร้อมกับจัดอบรมให้กับวิทยาลัยสังกัด สอศ. ? ระบบประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติสำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ (Auto Door) ประตูทางออกร้านค้าในปัจจุบันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งลดการสูญเสียพลังงานของระบบปรับอากาศในกรณีที่ใช้ประตูแบบ manual ถูกเปิดค้างไว้ อย่างไรก็ดีระบบที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง เนคเทคจึงได้พัฒนาระบบเพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในราคาที่ถูกลง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบันเทคเทคได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับบริษัท 10 กันยา จำกัด นำไปผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว ? ระบบ Distribution Automation System หรือ DAS จากโจทย์การวิจัยที่พบว่าในอดีตการควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ใช้การสับ Load Break Switch (LBS) โดยใช้คนเป็นผู้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ เมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ การใช้งานของสายส่งเกินขีดความสามารถของสายส่ง ฯลฯ การรับรู้ปัญหาและการแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน กฟน.จึงได้ปรับปรุงระบบให้เป็นการควบคุมจากระบบกึ่งอัตโนมัติ โดยเปลี่ยนจากอุปกรณ์ Load Break Switch (LBS) ที่ควบคุมด้วยคน เป็นอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถควบคุมจากระยะทางไกล แต่ระบบดังกล่าวยังมีความล่าช้าในการส่งผ่านข้อมูลซึ่งมีความสำคัญในเชิงเวลามาก อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับ Protocol ในการสื่อสารเป็นแบบปิดซึ่งประยุกต์ใช้หรือเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับระบบอื่นๆ ได้ยาก และการติดตั้งระบบใหม่ต้องตามเทคโนโลยีของผู้ผลิตซึ่งทำให้ราคาของระบบใหม่มีมูลค่าสูงขึ้นตาม เนคเทคจึงร่วมมือกับ กฟน. วิจัยและพัฒนาระบบ DAS โดยเป็นระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และติดต่อข้อมูลระยะไกลผ่านเครือข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังหน่วยควบคุมระยะไกล (Remote Terminal Unit : RTU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในระบบจำหน่ายหรือสายป้อนทั้งระดับแรงดัน 12 และ 24 เควี และทำให้การควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ ทราบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟฟ้า สามารถจำกัดขอบเขตการเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ? ระบบสื่อสารและจัดเก็บข้อมูลชุดตรวจวัดแรงดันน้ำของเขื่อน เป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารที่เรียกว่า SCADA : Supervisory Control And Data Acquisition ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างระบบอัตโนมัติขนาดใหญ่ๆ ที่มีจำนวนข้อมูลมากๆ และต้องการใช้เวลาในการประมวลผลที่เร็วเช่นเดียวกับระบบ DAS ดังกล่าวข้างต้น ระบบดังกล่าวจะมีขีดความสามารถในการช่วยดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงเขื่อน ปัจจุบันเนคเทคได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วที่เขื่อนรัชชประภา โดยร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ? ระบบตรวจตาทางไกล สืบเนื่องปัญหาการขาดแคลนจักษุแพทย์ในการรักษาโรคตาที่สำคัญ อาทิ ต้อกระจก ซึ่งมีผู้ป่วยในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งปัจจุบันต้องอาศัยแพทย์จากส่วนกลางเดินทางไปร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนในการให้บริการ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรรคในการติดตามผลการรักษา เนื่องจากไม่มีจักษุแพทย์ประจำ เนคเทคจึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยอาศัยเครื่องส่องตรวจตาเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการพัฒนาเครื่องมือสำหรับตรวจดวงตาจากระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เรียกว่า อุปกรณ์ตรวจตาทางไกล ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามและตรวจรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบคนไข้ด้วยตนเอง ในทางปฏิบัติอุปกรณ์ตรวจตาทางไกลสามารถติดตั้งไว้กับโรงพยาบาลชุมชนที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีบุคลากรช่วยจัดผู้ป่วยให้อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะรับการตรวจ ปัจจุบันเนคเทคได้มอบต้นแบบเครื่องตรวจตาทางไกล จำนวน 1 ระบบ ให้กับ รพ. วัดไร่ขิง เพื่อทดสอบการใช้งานจริง ? ระบบขับเคลื่อนและมอเตอร์ชนิดสวิตซ์รีลัคแตนซ์ โดยเหตุผลที่มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นและมีความต้องการใช้งานในปริมาณที่สูงมาก และเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้พลังงานมาก จากการศึกษาพบว่ามากกว่า 10 % ของพลังงานจะสูญเสียไปกับการหมุนตัวเปล่าในช่วงที่ยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันมีความตระหนักและความสนใจเรื่องการอนุรักษ์พลังงานเป็นอย่างมาก เนคเทคจึงได้ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงขึ้นภายในประเทศ โดยสามารถออกแบบ สร้างและทดสอบได้เอง เพื่อให้สามารถผลิตมอเตอร์ขนาดกำลังต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้งานที่แตกต่างกัน และมีความยืดหยุ่นในการออกแบบเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ได้เองภายในประเทศ ปัจจุบันเนคเทคสามารถสร้างต้นแบบมอเตอร์และระบบขับเคลื่อนขนาด 3 kW ได้ 1 ระบบ และต้นแบบมอเตอร์และระบบขับเคลื่อนขนาด 15 kW จำนวน 1 ระบบ ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวถึงทิศทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยว่า เนคเนคมุ่งเน้นและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น พร้อมเดินเคียงคู่กับพันธมิตรในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีของภาคการผลิตในประเทศไทย โดยแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ เนคเทคมีหลายรูปแบบ อาทิ 1. อนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ในผลิตภัณฑ์ ต้นแบบ หรือ องค์ความรู้ที่เนคเทคได้ดำเนินการวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด และผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ 2. ร่วมวิจัย โดยการส่งเสริมภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงด้านเงินทุน บุคลากร หรือเทคโนโลยีการวิจัย 3.รับจ้างวิจัยและพัฒนา โดยการให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่มีโจทย์และแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะทำวิจัยและพัฒนา 4.การให้คำปรึกษา โดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 5 บริการห้องปฎิบัติการวิจัยเปิด เป็นบริการที่ให้บุคคลภายนอกทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา มาร่วมทำงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในการวิจัยพัฒนาของเนคเทค เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญจากนักวิจัย พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวเสริมว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย เนคเทค/สวทช. ได้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อช่วยเหลือและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เนคเทคมีห้องปฎิบัติการวิจัยที่มีความพร้อม บุคลากรวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ จากความพร้อมดังกล่าวเนคเทคจะเร่งสร้างผลผลิตงานวิจัยที่ตอบสนองภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ พร้อมสร้างกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มนักศึกษาด้านไอทีที่กำลังจะจบการศึกษาออกมาสู่ตลาดแรงงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนัทธ์หทัย ทองนะ เจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์เนคเทค โทร. 085-3261854

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ