กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ปภ.
1. สถานการณ์พายุดีเปรสชั่น “ทุเรียน”
เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (6 ธ.ค.49) พายุดีเปรสชั่น “ทุเรียน” บริเวณอ่าวไทยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ละติจูด 8.3 องศาเหนือ ลองติจูด 103.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงอีก แต่ยังคงทำให้คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือควรงดออกจากฝั่ง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 6-7 ธันวาคม 2549 นี้
2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ตรวจสอบไปยังจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น “ทุเรียน” ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง และสงขลา ปรากฏว่า สถานการณ์โดยทั่วไปมีฝนตกต่อเนื่อง ลมแรง ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันนี้ (6 ธ.ค.49) ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานสถานการณ์อุทกภัย และความเสียหาย
3. ปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น “ทุเรียน” ตั้งแต่เวลา 07.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.49 — 04.00 น. วันที่ 6 ธ.ค.49 วัดได้ดังนี้
จังหวัดสงขลา (ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่) 46.0 มม.
จังหวัดนครศรีธรรมราช (อ.เมือง) 13.5 มม.
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์) 10.0 มม.
จังหวัดสงขลา (อ.เมือง) 5.7 มม.
จังหวัดนราธิวาส (อ.เมือง) 4.1 มม.
จังหวัดชุมพร (อ.เมือง) 2.2 มม.
4. สรุปสถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 27 ส.ค. — 6 ธ.ค. 49)
4.1 ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2549 วันที่ 9-12 กันยายน 2549 และวันที่ 18-23 กันยายน 2549 ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวผ่าน (24-25 ก.ย.49) และพายุดีเปรสชั่น “ช้างสาร” (1-3 ต.ค.49) ทำให้มีฝนตกหนักมากในพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มริมฝั่งของลำน้ำหลายพื้นที่
4.2 พื้นที่ประสบภัย รวม 47 จังหวัด 439 อำเภอ 40 กิ่งอำเภอ 16 เขต 3,035 ตำบล 20,425 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,176,597 คน 1,420,056 ครัวเรือน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม นครนายก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และกรุงเทพมหานคร
4.3 ความเสียหาย
1) ผู้เสียชีวิต 314 คน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 72 คน อ่างทอง 31 คน พิจิตร 31 คน นครสวรรค์ 25 คน สิงห์บุรี 21 คน สุพรรณบุรี 18 คน สุโขทัย 14 คน พิษณุโลก 12 คน ปราจีนบุรี 12 คน ชัยภูมิ 10 คน ชัยนาท 11 คน ยโสธร 9 คน เชียงใหม่ 7 คน อุทัยธานี 7 คน ปทุมธานี 6 คน ลพบุรี 6 คน แม่ฮ่องสอน 3 คน ลำปาง 3 คน จันทบุรี 3 คน ร้อยเอ็ด 3 คน กรุงเทพมหานคร 2 คน ศรีสะเกษ 2 คน เพชรบูรณ์ 1 คน พังงา 1 คน นครปฐม 1 คน นครราชสีมา 1 คน อุตรดิตถ์ 1 คน และอุดรธานี 1 คน (จากเดิม 303 เป็น 314 เพิ่มขึ้น 11 คน)
2) ด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 645 หลัง เสียหายบางส่วน 36,735 หลัง ถนน 10,040 สาย สะพาน 663 แห่ง ท่อระบายน้ำ 1,065 แห่ง ทำนบ/ฝาย/เหมือง 777 แห่ง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 6,046,111 ไร่ (ข้อมูลจากการบูรณาการระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) บ่อปลา/กุ้ง 60,244 บ่อ วัด/โรงเรียน 1,374 แห่ง ความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเท่าที่สำรวจได้ ประมาณ 6,946,825,521 บาท
4.4 พื้นที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 41 จังหวัด (จ.ปทุมธานี สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มบางจุด และพื้นที่ที่ติดกับริมน้ำซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน)
4.5 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และนนทบุรี ในจำนวน 23 อำเภอ แยกเป็น
1) จังหวัดสระบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของอำเภอดอนพุด ที่ตำบลไผ่หลิ่ว ระดับน้ำสูง 0.20-0.45 ม. ระดับน้ำลดลง
2) จังหวัดอ่างทอง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ (ตำบลมหาดไทย) และอำเภอวิเศษชัยชาญ (7 ตำบล) ระดับน้ำสูง 0.20-0.55 ม. ระดับน้ำลดลง
3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา (ตำบลลุมพลี) อำเภอผักไห่ (ตำบลลำตะเคียน) อำเภอมหาราช (3 ตำบล) อำเภอบางปะหัน (ตำบลพุทเลา) อำเภอ บ้านแพรก (3 ตำบล) อำเภอลาดบัวหลวง (6 ตำบล) อำเภอวังน้อย (ตำบลบ่อตาโล่) และอำเภอบางซ้าย (2 ตำบล) ระดับน้ำสูง 0.20-0.45 ม. (อำเภอเสนา อำเภอบางปะอิน สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ยังคงมีน้ำท่วมในที่ลุ่มบางจุด)
4) จังหวัดสุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ (3 ตำบล) ระดับน้ำสูง 0.20-0.30 ม. อำเภอบางปลาม้า (7 ตำบล) ระดับน้ำสูง 0.50-0.90 ม. และอำเภอสองพี่น้อง (9 ตำบล) ระดับน้ำสูง 0.60-1.20 ม. ระดับน้ำลดลง
5) จังหวัดนครปฐม น้ำที่ระบายจากคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองบางเลน ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน (15 ตำบล) เทศบาลตำบลบางหลวง เทศบาลตำบลลำพญา และเทศบาลตำบลบางเลน ระดับน้ำสูง 0.60-1.40 ม. อำเภอนครชัยศรี (14 ตำบล) เทศบาลตำบลนครชัยศรี (ชุมชนริมคลองบางแก้วฟ้า และชุมชนคลองเจดีย์บูชา) อำเภอพุทธมณฑล (4 ตำบล) น้ำท่วมชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ริมคลองโยง และริมคลองทวีวัฒนา และอำเภอกำแพงแสน (1 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยม่วง หมู่ที่ 1,10) ระดับน้ำสูง 0.30-0.45 ม.
6) จังหวัดนนทบุรี น้ำยังท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรใน 5 อำเภอ โดยในเขตอำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมืองฯ ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูง 0.40-0.60 ม. ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ดผ่านคลองพระยาบรรลือ และคลองพระพิมลยังมีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางกรวย ระดับน้ำสูง 0.50-1.45 ม. ระดับน้ำลดลง
5. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (ข้อมูลวันที่ 5 ธ.ค.49) โดยกรมชลประทาน
- เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 13,192 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุอ่าง ฯ ทั้งหมด
- เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 9,325 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุอ่าง ฯ ทั้งหมด
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 927 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 97 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด
6. สภาพน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ข้อมูลวันที่ 5 ธ.ค.49) โดยกรมชลประทาน
- ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 629 ลบ.ม./วินาที
- ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท 180 ลบ.ม./วินาที
- ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 16 ลบ.ม./วินาที
- ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1,116 ลบ.ม./วินาที
7. สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4,11,12 จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง เตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาพอากาศฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะ 2-3 วันนี้ (5-7 ธันวาคม 2549) เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเขตความรับผิดชอบ โดยจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น ในจังหวัดใด ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนั้น จัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลเข้าสนับสนุนทันที
8. ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์คืบหน้าประการใด จักได้ติดตามและรายงานให้ทราบต่อไป