เปิดตัว “คลังสมอง” ด้านเว็บเซอร์วิส มุ่งเสริมทักษะ และคำปรึกษาแก่องค์กรธุรกิจไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 31, 2005 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
ศูนย์สถาปัตยกรรมแห่งใหม่พร้อมแล้วสำหรับการสร้างทักษะและแอพพลิเคชั่นภายใต้โครงการไทยแลนด์ดอทเน็ต
สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งคลังสมองทางด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสในประเทศไทย ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นเว็บเซอร์วิสชั้นนำระดับโลก และเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางด้านซอฟต์แวร์แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสจะมีพนักงานประจำอยู่จำนวน 20 คน ที่จะดำเนินงานโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการติดตั้งสำหรับใช้งานได้จริง และให้คำปรึกษาแก่โครงการที่พัฒนาบนแพลตฟอร์ม .Net ของไมโครซอฟท์ ซึ่งประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ครบวงจรสำหรับการสร้างและบูรณาการเว็บเซอร์วิส นอกจากนี้ ทีมงานยังได้รับมอบหมายให้สร้างชุมชนนักพัฒนาและให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาบนแพลตฟอร์ม .Net ของไมโครซอฟท์ด้วย
ที่สำคัญ ได้มีการคัดเลือกนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 10 คนจากผู้เข้าสมัครทั้งสิ้น 90 คน ให้เข้าทำงานแบบเต็มเวลากับนักพัฒนามืออาชีพภายใต้โครงการ ‘Microsoft .Net Young Developers Scholarship Program’ ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับการรับรองคุณสมบัตินักพัฒนาภายในเวลา 1 ปี
ดร. ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวสู่การพลิกโฉมของเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่นี้ เว็บเซอร์วิสนับเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าแก่ประเทศอย่างแท้จริง หากเราสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นชั้นเลิศและส่งออกสู่ตลาดโลกได้ เรามีความพร้อมทางด้านความคิดสร้างสรรค์ มีจังหวะที่เหมาะสม ขณะนี้เราเพียงต้องการพัฒนาความเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงในด้านนี้เพื่อให้มั่นใจถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น”
บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ได้ตั้งเป้ารายได้ที่ชัดเจนใน ปีแรกของการดำเนินงาน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้ตามเป้าหมาย นักพัฒนาจะมุ่งพัฒนาและดำเนินการติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้จริงในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนจำนวน 3 โครงการ และพัฒนาโครงการพิสูจน์ทราบในหลักการจำนวน 2 โครงการสำหรับแอพพลิเคชั่นและบริการทางธุรกิจที่ซับซ้อน
นอกเหนือไปจากการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและความคิดแล้ว ศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสยังจะส่งเสริมเว็บเซอร์วิสและให้คำปรึกษาในระดับสูงด้วย โดยในบทบาทของการให้คำปรึกษานั้น ศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกรรมการแสดงความคิดเห็นแก่บริษัทต่างๆ และจัดการแก้ปัญหา รวมถึงการปรับแต่ง แอพพลิเคชั่นเว็บเซอร์วิสที่กำลังใช้งานอยู่ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น นักพัฒนาจะดำเนินการฝึกอบรม การสัมนา และคลีนิคที่ปรึกษา ตลอดจนจัดทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับ .Net นอกจากนี้ ยังจะเปิดตัวเว็บท่าภายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการให้คำปรึกษาออนไลน์
นายนิติกร กฤษณนนท์ หนึ่งในนักพัฒนาที่ทำงานในศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสกล่าวว่า “การนำเว็บเซอร์วิสไปใช้จะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปสำหรับบริษัทที่ต้องการจะประสบความสำเร็จและเอาชนะคู่แข่ง ศักยภาพในการเชื่อมโยงกันของระบบและคนด้วยวิธีการที่หลากหลายและชาญฉลาดจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา สถาปัตยกรรม .Net ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีนั้น หมายถึงข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องนำไปใช้งานนั้นจะไม่ถูกปิดกั้นด้วยความแตกต่างของหน่วยงานแต่ละแผนกหรือระบบอีกต่อไป แต่จะสามารถส่งถึงกันอย่างทันท่วงทีเพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว”
เว็บเซอร์วิสทำงานบนพื้นฐานของมาตรฐานเปิด XML ที่ได้รับการยอมรับจากวงการอุตสาหกรรมว่าเป็นการปฏิวัติแนวทางที่แอพพลิเคชั่นจะสื่อสารระหว่างกันโดยทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันได้ ไม่ว่าแอพพลิเคชั่นนั้นจะเขียนด้วยภาษาโปรแกรมอะไรก็ตาม ซึ่งหมายความว่าระบบที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเช่นระบบบัญชีของบริษัทและระบบสินค้าคงคลัง จะสามารถแบ่งปันใช้ข้อมูลร่วมกันได้นับจากนี้ไป ทำให้สามารถจัดหาโซลูชั่นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด Microsoft(R) .NET คือชุดซอฟต์แวร์เทคโนโลยีสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้คน และระบบรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านการทำงานของเว็บเซอร์วิส
ในขณะที่มีนักพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ 20 คนปฏิบัติงานเป็นหลักอยู่ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิส ยังจะมีนักศึกษา อีก 10 คนจากโครงการ ‘Microsoft .Net Young Developers Scholarship’ เข้ามาช่วยงานที่ศูนย์ฯ อีกด้วย ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จะทำงานร่วมกับนักพัฒนาของศูนย์ฯ โดยได้รับเงินเดือนและมีส่วนร่วมในการทำงานเช่นเดียวกับพนักงานประจำของศูนย์ฯ ซึ่งนอกเหนือไปจากการกระตุ้นให้นักศึกษาใหม่ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมชน นักพัฒนาแล้วพวกเขาจะทำงานจริงบนโครงการ .Net และพัฒนาโครงการต้นแบบสำหรับ ‘Undergraduate Multidisciplinary Study Program’ กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเมืองไทยด้วย
นายนที เจริญดี นักศึกษาในโครงการ ‘Microsoft .Net Young Developers Scholarship’ กล่าวว่า “โครงการนี้นับเป็นโอกาสอันน่าทึ่งสำหรับพวกเรา นี่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งทุกคนในวงการไอทีตระหนักดีว่าสิ่งนี้จะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ลองเริ่มจินตนาการถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับจากเทคโนโลยีนี้ และประเทศไทยก็ควรจะคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมงานกับผู้นำทางด้านการออกแบบเว็บเซอร์วิสและหวังว่าความทุ่มเทของผมจะเป็นประโยชน์แก่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของศูนย์ฯ ด้วย”
ดร. สันติชัย เอมอยู่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเว็บเซอร์วิสนั้น เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะนำเอาแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาชั้นนำเช่น .Net ของไมโครซอฟท์มาใช้ และเริ่มต้นพัฒนาแนวคิดและแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานได้ เพื่อสร้างความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้แก่ประเทศของเรา เราสนับสนุนแนวคิดที่จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเว็บเซอร์วิสภายใต้โครงการ Thailand.Net ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอย่างเต็มที่ มันเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนและภาครัฐจะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในโครงการเช่นนี้เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในอนาคต”
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศุภาดา ใจดี
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 209
โทรสาร: 0-2627-3510
Email: sjaidee@th.hillandknowlton.com
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ