สคร. แจงฐานะทางการเงินรัฐวิสาหกิจเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2009 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สคร. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อหลายฉบับลงข่าวเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ สคร. จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง (รวมรัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 6.86 ล้านล้านบาท มีหนี้สินรวมประมาณ 5.16 ล้านล้านบาท และมีส่วนของทุนรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจไทยในภาพรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุมาจากมาตรการของกระทรวงการคลังให้รัฐวิสาหกิจมีวินัยในการก่อหนี้มากขึ้น สำหรับปัญหาทางการเงิน (โดยเฉพาะในเรื่องหนี้สิน) ของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) นายอารีพงศ์ฯ กล่าวว่า การก่อหนี้ของ ขสมก. รฟท. และ กคช. เป็นการสร้างหนี้เพื่อการดำเนินการตามปกติ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ถูกจำกัดราคาค่าบริการให้ต่ำกว่าต้นทุนเพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจและภาวะน้ำมันแพงในปีผ่านมาทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2551 คาดว่าจะทำให้ฐานะทางการเงิน และปัญหาเรื่องการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้พัฒนา ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับ บกท. นายอารีพงศ์ฯ ชี้แจงว่า บกท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก ปัญหาน้ำมันแพง และปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี 2551 ปัจจุบัน บกท. ได้จัดทำแผนพลิกฟื้นกิจการของ บกท. เพื่อเสนอกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาของ บกท. จะเป็นปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นซึ่ง บกท. จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง ในระยะเวลาอันสั้น สำหรับความสามารถในการทำรายได้ และสร้างกำไรของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมปี 2551พบว่ารัฐวิสาหกิจสามารถทำรายได้รวมกันประมาณ 3.68 ล้านล้านบาท (ปี 2550 มีรายได้ 3.05 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 20%) และมีกำไรรวม 1.7 แสนล้านบาท (ปี 2550 มีกำไร 2.0 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 15%) สาเหตุของกำไรรวมที่ลดลงมาจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน และค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งปัจจุบันเมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลงมากน่าจะมีผลให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจในปี 2552 ไม่ถูกกระทบมากเช่นในปี 2551 ผอ. สคร. กล่าวสรุปว่า “ฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจไทยในภาพรวมยังคงเข้มแข็งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่การดำเนินงานในปี 2552 ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก อย่างไรก็ดี สคร. ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจจะติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดแบบเดือนต่อเดือนเพื่อให้สามารถให้มาตรการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพสูงสุด” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6722 , 6723 โทรสาร 02-298-5809 http :/ www.sepo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ