ก.ล.ต. ปรับปรุงวิธีการป้องปรามการปั่นหุ้น โดยกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2009 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. หารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และเห็นร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการป้องปรามการปั่นหุ้นโดยให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่ง ก.ล.ต. มั่นใจว่าวิธีการใหม่นี้จะดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เป็นอย่างดี โดยมาตรการดังกล่าวมีดังนี้ กำหนดให้บล. มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานที่มีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น จากนี้ไป บล. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากขึ้น โดยจะต้องกำกับดูแลพนักงานที่ติดต่อกับผู้ลงทุนอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ในกรณีที่ ก.ล.ต. ตรวจพบว่าพนักงานของ บล. ใดมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น นอกจาก ก.ล.ต. จะลงโทษพนักงานแล้ว ก.ล.ต. จะพิจารณาลงโทษ บล. นั้นด้วย ซึ่งจะมีตั้งแต่การ sanction ในฐานะที่ บล. นั้นไม่จัดให้มีระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานที่รัดกุมเพียงพอ และอาจไปถึงขั้นกล่าวโทษ บล. นั้นด้วย มาตรการเสริมสร้างระบบการควบคุมดูแลของ บล. อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการช่วย บล. ในการเสริมสร้างระบบการควบคุมดูแลพนักงานในเรื่องดังกล่าว ก.ล.ต. และสมาคมจะร่วมกันเร่งจัดทำวิธีการปฏิบัติงานในบางเรื่องที่สำคัญต่อไปนี้ 1. ควบคุมบัญชีลูกค้าที่ไม่เคลื่อนไหวให้รัดกุมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่า มีการกระทำผิดของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน โดยใช้บัญชีลูกค้าที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ทำการซื้อ ขาย หรือโอนหลักทรัพย์ออกจากบัญชีโดยที่ลูกค้าไม่ทราบเรื่อง และเป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้นได้ทางหนึ่ง สมาคมจึงจะกำหนดแนวทาง การควบคุมภายในเพื่อป้องกันเรื่องนี้ 2. กำหนดขั้นตอนการทบทวนวงเงินสำหรับบัญชีลูกค้า สมาคมจะยกร่างแนวทางการทบทวนวงเงินบัญชีลูกค้า เพื่อให้ บล. ดำเนินการเป็นประจำ โดยให้ บล. คำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อขาย และพฤติกรรมการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าประกอบด้วย เช่น ลูกค้ารายเดียวที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หลายบัญชี หรือลูกค้ารายที่โอนเงินครั้งเดียวเพื่อจ่ายค่าซื้อหลักทรัพย์ในหลายบัญชี เป็นต้น 3. บันทึกเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ทุกรายการ ก.ล.ต. จะมีหนังสือเวียนเพื่อกำชับให้ บล. ต้องจัดเก็บเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์อย่างครบถ้วน โดยต่อไปนี้จะไม่มีข้อยกเว้น และขยายเวลาการจัดเก็บเทปดังกล่าวจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับมาตรฐานสากล 4. ปรับปรุงเกณฑ์ turnover list ให้ครอบคลุมมากขึ้น ก.ล.ต. และสมาคมมีความเห็นร่วมกันว่า ยังมีหลักทรัพย์บางรายการที่พิจารณาจากฐานะและวิธีการดำเนินการของบริษัทแล้วควรจะต้องติดอยู่ในรายการ turnover list เพื่อให้ บล. เพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายของลูกค้า และกำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่สมควรต้องซื้อด้วยเงินสด ดังนั้น ก.ล.ต. และสมาคมจึงจะร่วมกันปรับปรุงสูตรการคัดเลือกหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น 5. ก.ล.ต. จะรวบรวมข้อมูลหุ้นที่ บล. กำหนดให้ลูกค้าต้องซื้อด้วยเงินสด เพื่อเผยแพร่ ก.ล.ต. จะพิจารณารวบรวมและเผยแพร่รายชื่อหลักทรัพย์ที่ บล. กำหนดให้ลูกค้าซื้อโดยใช้เฉพาะเงินสด (บัญชี cash balance) โดยระบุจำนวน บล. ที่ดำเนินการดังกล่าว และเปิดเผยเฉพาะแก่ บล. เพื่อให้ บล. สามารถนำไปใช้ประกอบการบริหารความเสี่ยง 6. ก.ล.ต. จะเผยแพร่ข้อมูล margin loan ก.ล.ต. จะปรับปรุงแบบรายงาน margin loan ตามที่สมาคมเสนอ ด้วยการให้ บล. รายงานหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันทุกรายการ (จากเดิมที่ให้รายงานเฉพาะหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 10 อันดับแรก) และจะสรุปยอด margin loan แต่ละหลักทรัพย์ทั้งระบบ เพื่อเผยแพร่แก่ บล. รวมทั้งจะศึกษาการเผยแพร่ข้อมูลอื่นที่จะเป็นประโยชน์ด้วย เช่น ข้อมูลยอด margin loan แต่ละหุ้นเทียบกับ free float ของหุ้นนั้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหาร margin loan ในระบบไม่ให้กระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป 7. กำหนดกระบวนการทำงานของ บล. ก.ล.ต. จะร่วมกับสมาคมเพื่อกำหนดกระบวนการทำงานของ บล. เพื่อ บล. จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการควบคุมดูแลพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ บล. ที่ได้ดำเนินการในขอบเขตที่ตนเองพึงรับผิดชอบเต็มที่แล้ว (เป็น safe harbor) เช่น บล. ได้เข้าไปห้ามปราม ตักเตือนหรือสกัดกั้นการกระทำนั้นของพนักงานแล้ว เป็นต้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การปั่นหุ้นเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญในการป้องปรามและดำเนินการกับผู้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การจะดำเนินการป้องปรามและปราบปรามปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเป็นด่านแรกที่ติดต่อกับผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ จึงน่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ก่อน การดำเนินการมาตรการดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นแนวทางใหม่ในการกำกับดูแลการปั่นหุ้น โดยการให้สมาคม และ บล. เข้ามามีส่วนร่วมควบคุมดูแลการปั่นหุ้นให้ใกล้ชิดมากขึ้น และให้ บล. มีความรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์เห็นตรงกันกับ ก.ล.ต. ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือและดำเนินการเป็นการเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าการปั่นหุ้นจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด” นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ปัญหาการปั่นหุ้น นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนแล้ว ยังกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทหลักทรัพย์อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการกระทำผิดดังกล่าว สมาคมจึงจะให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. อย่างเต็มที่ในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายใน และสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพนักงานในบริษัทอย่างใกล้ชิดและควบคุมเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฝ่ายงานเลขาธิการ: 0-2695-9502-5 e-mail: press@sec.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ