กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สปส.
ณ วันที่ 3 กันยายน 2549 เป็นปีที่ 16 ที่สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายทั้งในงาน และนอกงาน โดยเงินสมทบทุกบาททุกสตางค์ที่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเข้ากองทุนจะได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์ถึง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จำนวน 8.7 ล้านคน กองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมจำนวน 370,577 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสมจำนวน 17,404 ล้านบาท นอกจากจะเป็นหลักประกันในชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนใน 7 กรณี ดังกล่าวแล้ว ยังดูแลสวัสดิการนอกจากที่กฎหมายกำหนดไว้อีกด้วย ปีที่ผ่านมาจึงมีโครงการสวัสดิการที่มาจากข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ได้แก่ โครงการบ้านสปส.1506 โครงการเพิ่มมูลค่าบัตรส่วนลด โครงการประกันสังคมสุขใจเมื่อประกันภัยกับทิพย รวมทั้งการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ในโครงการลดค่าครองชีพผู้ประกันตน โครงการติดตั้งอุปกรณ์ NGVเพื่อผู้ประกันตน โครงการรถจักรยานยนต์ราคาพิเศษเพื่อผู้ประกันตนและ โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาประหยัดเพื่อผู้ประกันตน
ก้าวย่างสู่ปีที่ 17 สำนักงานประกันสังคมจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์เพื่อลบความรู้สึก “การเป็นคนไข้ชั้น 2 ของผู้ประกันตนให้ได้” โดยเพิ่มคุณค่าของบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลให้มีศักดิ์ศรีในการรับบริการทางการแพทย์ รวมทั้งเดินหน้าขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่คนในครอบครัวผู้ประกันตนด้วย
นโยบายด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์
- จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ รับเรื่องและให้คำปรึกษาบริการทางการแพทย์
- จัดทีมแพทย์เข้าไปตรวจสอบการบริการตามโรงพยาบาล ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สปส.กำหนด
- โครงการโรงพยาบาลในดวงใจ ให้รางวัลแก่โรงพยาบาลเพื่อกระตุ้นให้โรงพยาบาลส่งเสริมประสิทธิภาพการบริการที่ดีขึ้น
- ให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาล เพื่อส่งเสริมการบริการแก่ผู้ประกันตน
- สนับสนุนสถานพยาบาลให้จัดบริการแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน
นโยบายด้านการขยายความคุ้มครองด้านการประกันสังคม
- ขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ ครอบคลุมถึงผู้ประกอบอาชีพบริการและคนขับรถรับจ้าง
- ขยายสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสังคมให้คุ้มครองถึงคนในครอบครัวของผู้ประกันตน
นโยบายด้านการเพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน
- ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจากเดิมกำหนดวงเงินไว้เป็น 3 ระดับ คือไม่เกิน 35,000 ,85,000 และ 200,000 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อปรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลในทุกระดับให้สูงขึ้น
- ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างหยุดงานจากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน จากเดิมที่กำหนดจ่ายค่าทดแทนเมื่อลูกจ้างหยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแก้ไขเป็นหยุดงาน 1 วันขึ้นไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ
- ปรับแก้ไขระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายจากการทำงาน จากเดิมกำหนดระยะเวลาการจ่าย 8 ปี แก้ไขเป็น 12 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ
นโยบายอื่นๆ
- ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือนและให้ผู้ประกันตนที่ขาดส่งเงินสมทบ กลับเข้าสู่ระบบการประกันสังคมใหม่ ตามมาตรา 33 (กรณีที่เป็นลูกจ้างและมีนายจ้าง) โดยไม่คิดเงินเพิ่มตามกฎหมายประกันสังคม
- ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมกำหนดว่าผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ สำหรับผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงงานความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงและรับเงินชราภาพ จึงไม่สามารถรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและไม่ควรต้องจ่ายเงินสมทบสำหรับกรณีว่างงาน