กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
กูเกิล อิงค์ (NASDAQ: GOOG) เปิดตัวฟีเจอร์ Ocean ใน Google Earth ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ Google Earth สามารถดำดิ่งใต้ผิวน้ำ สำรวจภูมิทัศน์ใต้ทะเลในแบบ 3 มิติ และเรียกดูเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทร ซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านสมุทรศาสตร์ นอกจากนี้ Google Earth เวอร์ชั่นใหม่ยังประกอบด้วยฟีเจอร์ Historical Imagery ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเดินทางย้อนเวลาและรับชมภาพถ่ายกลางอากาศในอดีตจากดาวเทียม และยังมีฟีเจอร์ Touring ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการจัดทำเนื้อหาทัศนาจรพร้อมคำบรรยายใน Google Earth และนำออกเผยแพร่แก่ผู้ใช้ทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ Mars 3D ซึ่งนำเสนอภาพความละเอียดสูงสำหรับภูมิทัศน์บนดาวอังคาร
"ใน Google Earth เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดนี้ นอกจากคุณจะสามารถซูมเข้าไปในทุกพื้นที่บนโลกของเราเพื่อตรวจสอบรายละเอียดอย่างใกล้ชิดแล้ว คุณยังสามารถดำดิ่งสู่มหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบสามในสี่ของโลก และค้นพบสิ่งมหัศจรรย์มากมายที่คุณไม่เคยพบเห็นมาก่อนในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้" อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กล่าวในงานเปิดตัว Google Earth เวอร์ชั่นใหม่ที่นครซานฟรานซิสโก "ยิ่งกว่านั้น ยังมีฟีเจอร์ภาพอดีตหรือ Historical Imagery ซึ่งจะทำให้คุณสามารถย้อนเวลากลับไปและมองดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกใบนี้ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ ตัวอย่างเช่น คุณจะสามารถดูภาพการหลอมละลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นั่นคือ ธารน้ำแข็งกรินเนลล์ ในอุทยานธารน้ำแข็งแห่งชาติ"
"ในการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เรามักจะมองข้ามมหาสมุทร ทั้งๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของปัญหา" เอริค ชมิดท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิล กล่าว ประมาณหนึ่งในสามของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะไปลงเอยที่มหาสมุทร นอกจากนั้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีนับจากนี้เทียบได้กับการสูญเสียป่าดิบชื้นในเขตลุ่มแม่น้ำอะเมซอนทั้งหมดเลยทีเดียว แต่เราก็ไม่ได้สังเกตเห็นปัญหานี้ เพราะเรามองไม่เห็นสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการเปิดตัว Google Earth 5.0 ในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นเพราะเครื่องมือดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เราสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองและโลกทัศน์ของทุกๆ คน"
ฟีเจอร์ Ocean ใน Google Earth ผสานรวมภูมิทัศน์ใต้ทะเลเข้ากับเนื้อหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้สำรวจบางส่วนของพื้นที่ที่ยากจะเข้าถึงมากที่สุดบนโลกใบนี้ ตอนนี้ผู้ใช้ในเมืองไทยจะสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวภาพอันหลากหลายในน่านน้ำท้องถิ่น ทั้งยังสามารถตรวจสอบสภาพของแหล่งโต้คลื่นและดำน้ำที่มีชื่อเสียงอย่างหมู่เกาะสิมิลันหรือเกาะราชาก่อนที่จะออกเดินทางไปที่นั่น นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังสามารถสัมผัสความงดงามของท้องทะเลในเมืองไทยผ่านทาง Google Ocean เช่น สำรวจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ รับชมภาพวิดีโอเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลที่แลดูแปลกตาในภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับซากเรืออัปปาง และแบ่งปันภาพถ่ายและวิดีโอเกี่ยวกับแหล่งดำน้ำยอดนิยม
ฟีเจอร์ Ocean เปิดใช้งานตามค่าดีฟอลต์ใน Google Earth เวอร์ชั่นล่าสุด เมื่อผู้ใช้ซูมเข้าในบริเวณมหาสมุทร ก็จะสามารถมองเห็นผิวน้ำที่กำลังเคลื่อนไหว และเมื่อดำลึกสู่ใต้ผิวน้ำ ผู้ใช้ก็จะสามารถตรวจสอบภูมิทัศน์บนพื้นโลกใต้ทะเลในรูปแบบ 3 มิติ ฟีเจอร์นี้ประกอบด้วยเลเยอร์เนื้อหา 20 ชั้น ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักสำรวจมหาสมุทรชั้นนำระดับโลก (โปรดดูรายชื่อพันธมิตรทั้งหมดที่ http://earth.google.com/ocean/partners) เลเยอร์เหล่านี้ได้แก่:
* เลเยอร์ "สำรวจมหาสมุทร" (Explore the Ocean) ซึ่งประกอบด้วยภาพถ่ายและวิดีโอเกี่ยวกับส่วนต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในน่านน้ำมหาสมุทรทั่วโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรต่างๆ กว่า 80 ราย
* แบบทดสอบจากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก และภาพโอเวอร์เลย์จากแผนที่มหาสมุทร (Atlas of the Ocean) ที่ทางนิตยสารได้จัดทำขึ้น
* ภาพวิดีโอจากเอกสารบันทึกของฌากส์ กูสโต เกี่ยวกับเรื่องราวการเดินทางใต้ท้องทะเลลึกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
จอห์น ฮันเก้ ผู้อำนวยการฝ่าย Google Earth และ Maps กล่าวว่า "โครงการนี้ช่วยให้ผมเริ่มเข้าใจบทบาทของมหาสมุทรที่มีต่อปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงผลกระทบที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้นกับมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ทั้งนี้นับเป็นการละเลยอย่างมากที่เราไม่ได้รวมเอาการปกป้องดูแลมหาสมุทรไว้ใน Google Earth ในตอนแรก แต่ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เราสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้สำเร็จ และตอนนี้เราก็มีรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการจัดพิมพ์เผยแพร่และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ 'อื่นๆ' ซึ่งครอบคลุมสองในสามของโลก"
ฟีเจอร์ใหม่นี้ได้รับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก และคณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมหาสมุทร
ซิลเวีย เอิร์ล กล่าวว่า "ดิฉันไม่อาจนึกถึงวิธีที่มีประสิทธิภาพมากไปกว่าการใช้ฟีเจอร์ Ocean ใน Google Earth เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและปกป้องดูแลมหาสมุทร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของโลกใบนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ทุกคน ตั้งแต่เด็กที่อยากรู้อยากเห็นไปจนถึงนักวิจัยที่เอาจริงเอาจัง จะสามารถมองเห็นโลกทั้งใบด้วยสายตาที่สดใหม่ Google Earth เพิ่มชีวิตชีวาและเรื่องราวให้กับท้องทะเล และแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพื้นดิน น้ำ บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิต ผู้คนจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้ค้นพบแบบแผนและความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในขณะที่ดำดิ่งใต้ท้องทะเลในน่านน้ำต่างๆ ทั่วโลก"
การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จัดขึ้นในช่วงเช้าที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันชั้นนำของสหรัฐฯ สำหรับการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ภายหลังการเปิดตัวดังกล่าว กลุ่มนักเรียนชั้นประถม 4 ได้เข้าร่วมในบทเรียนอินเทอร์แอคทีฟเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ใต้ทะเล ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของสถาบันฯ เพื่อใช้ฟีเจอร์ Ocean "เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสถาบันแห่งนี้ และ Google Earth ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีดังกล่าว" ดร. เกรก ฟาริงตัน กรรมการบริหารของสถาบันฯ "ฟีเจอร์ Ocean ใน Google Earth เปิดโลกใหม่แห่งการสำรวจและการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับท้องทะเลลึกซึ่งยังคงเป็นปริศนาสำหรับเรา"
ฟีเจอร์ที่ได้รับการเปิดตัวในวันนี้:
Historical Imagery: ใน Google Earth เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ ผู้ใช้สามารถดูชุดภาพถ่ายสำหรับตำแหน่งที่ตั้งหนึ่งๆ ได้เพียงชุดเดียวเท่านั้น แต่ตอนนี้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้แถบเลื่อนเวลาเพื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมทั้งใหม่และเก่าจากทั่วทุกมุมโลก จึงช่วยให้ผู้ใช้สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป
Touring เป็นวิธีใหม่ที่สะดวกง่ายดายสำหรับผู้ใช้ในการสร้างชุดภาพและข้อมูลการทัศนาจรพร้อมคำบรรยายใน Google Earth โดยผู้ใช้เพียงแค่กดปุ่ม "บันทึก" เท่านั้น ก็จะสามารถโลดแล่นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซูมเข้าหรือซูมออก และคลิกที่บอลลูนเนื้อหา ซึ่งจะแสดงคำบรรยายพร้อมเสียงพากย์ไปตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อมูลการเที่ยวชมบ้านพัก หรือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเชิงลึก ผู้ใช้จะสามารถจัดทำและเผยแพร่คอนเทนต์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
Mars 3D คือจุดแวะพักล่าสุดในการทัวร์กาแล็กซีเสมือนจริงของกูเกิล ผู้ใช้จะสามารถเดินทางไปยังดาวอังคารโดยคลิกเพียงปุ่มเดียว และรับชมภาพความละเอียดสูงและภูมิทัศน์ 3 มิติ นอกจากนี้ยังสามารถลอยตัวอยู่เหนือโอลิมปัส มอนส์ (Olympus Mons) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะของเรา พร้อมทั้งอ่านข้อความตัดตอนจากหนังสือ A Traveler's Guide to Mars ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ บนดาวอังคาร และผู้ใช้ยังสามารถสังเกตการณ์ดูภาพการลงจอดของหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร และอื่นๆ อีกมากมาย
GPS Tracking — ในอดีตพร้อมใช้งานเฉพาะในเวอร์ชั่น Plus and Pro ของ Google Earth แต่ตอนนี้ผู้ใช้ทุกคนสามารถอัพโหลดข้อมูลการติดตามจากอุปกรณ์ GPS ไปยัง Google Earth จึงช่วยเพิ่มความสะดวกในการแสดงและบันทึกเส้นทางสำหรับการวิ่ง การปีนเขา และการขี่จักรยาน
Google Earth 5.0 พร้อมใช้งานใน 40 ภาษา (เดิมมีให้เลือก 26 ภาษา) ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน สเปน (สเปน) สเปน (ละตินอเมริกา) ดัทช์ จีนประยุกต์ จีนดั้งเดิม ญี่ปุ่น เกาหลี โปรตุเกส (บราซิล) รัสเซีย โปแลนด์ ตุรกี ไทย อาหรับ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส (โปรตุเกส) โรมาเนีย ฮังการี ฮีบรู อินโดนีเซีย เช็ก กรีก นอร์เวย์ เวียดนาม บัลแกเรีย โครเอเชีย ลิธัวเนีย สโลวัก ฟิลิปปินส์ สโลเวเนีย เซอร์เบีย คาตาลัน ลัตเวีย ยูเครน และฮินดี
เกี่ยวกับ Google Earth
Google Earth ผสานรวมภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ และพลังในการค้นหาของกูเกิล เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลภูมิศาสตร์ของโลกได้ง่ายดายขึ้นและมีประโยชน์มากขึ้น โดยนับตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 ได้มีการดาวน์โหลด Google Earth ไปแล้วกว่า 500 ล้านครั้ง ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด Google Earth ได้ฟรีที่ http://earth.google.com/
เกี่ยวกับกูเกิล อิงค์
นวัตกรรมเทคโนโลยีการค้นหาของกูเกิลเชื่อมโยงผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลกเข้ากับข้อมูลต่างๆ ในแต่ละวัน กูเกิลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 โดยนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แลร์รี่ เพจ และเซอร์จีย์ บริน และปัจจุบัน กูเกิลเป็นทรัพย์สินบนเว็บที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดสำคัญๆ ทุกตลาดทั่วโลก โปรแกรมการโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายของกูเกิลช่วยให้องค์กรธุรกิจทุกขนาดได้รับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ทั้งยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บโดยรวมอีกด้วย กูเกิลมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ และมีสำนักงานสาขาในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คลิกไปที่ http://www.google.com
ประชาสัมพันธ์ข่าวโดย
บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
สุชาย เฉลิมธนศักดิ์
0 2971 3711
suchai@pc-a.co.th