กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในกลุ่มมิตรผล ขานรับวาระอ้อยแห่งชาติ หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการบริหารจัดการเพื่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล” (Sugarcane Information and Management System: SIMS) โดยการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เทคโนโลยีการบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS)
และการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถจัดเก็บรวบรวมข้อมูลในการจัดการอ้อยและการผลิตน้ำตาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เชื่อสามารถยกระดับผลผลิตอ้อยไทยให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน
ดร. พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดในการผลิตอ้อยของเกษตรกรในปัจจุบันยังไม่เป็นระบบที่ดี นำไปสู่การปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อการผลิตน้ำตาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้กลุ่มน้ำตาลมิตรผล โดยมิตรผลวิจัยฯ
ได้ทำการวิจัยและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการบริหารจัดการ เพื่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (Sugarcane Information and Management System หรือ SIMS) ขึ้นมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างระบบการทำงานใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่โรงงาน และเกษตรกรผู้ผลิตอ้อย ควบคู่ไปกับการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ผลิตอ้อยให้เป็นปัจจุบันที่สมบูรณ์ที่สุด
SIMS เป็นระบบที่ได้บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง (High Resolution Remote Sensing) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการใช้เทคโนโลยีการบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS) เพื่อใช้ในการสำรวจและจัดทำแผนที่ปลูกอ้อยรายแปลง พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลการจัดการแปลง และปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูลด้านไร่ของเกษตรกร ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่นำมาใช้กับอุตสาหกรรมอ้อยแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่จนกระทั่งเก็บเกี่ยวและขนส่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
“มิตรผลวิจัยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกลุ่มมิตรผลในการวิจัย SIMS จำนวน 16.35 ล้านบาท ใน 5 โครงการนำร่อง ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานผลิตน้ำตาลภายในประเทศของกลุ่มมิตรผล โดยใช้ระยะเวลาในการวิจัยตั้งแต่พ.ศ.2545-2550 รวม 5 ปี ซึ่งผลที่ได้หลังจากการทดสอบระบบ SIMS ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลแผนที่พื้นที่ปลูกอ้อยที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยจากการตรวจสอบความถูกต้องในภาคสนามแล้ว สามารถให้ความถูกต้องของขนาด
พื้นที่และรูปร่างแปลงได้ถึง 95% และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่ ที่สามารถลดขั้นตอนการสำรวจแปลงและขั้นตอนการปรับปรุงฐานข้อมูล ทำให้ระบบงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 30% ประกอบกับมีข้อมูลการจัดการในระดับแปลงที่ถูกต้องและทันเวลา เมื่อต้องการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันก็สามารถทำได้ง่ายและสะดวก นับว่าระบบ SIMS ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบงานด้านการส่งเสริมขึ้นใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ได้เครื่องมือในการสื่อสารและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ระหว่างเกษตรกรกับโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนด้านการวางแผนและตัดสินใจ เพื่อการจัดการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้เป็นอย่างดี” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบ SIMS ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดย บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัดนี้ ได้รับการทดสอบและยอมรับจากโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลทั้ง 5 โรงงานภายในประเทศแล้วว่า เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการทำแผนที่แปลงปลูกอ้อยและการเก็บข้อมูลการจัดการแปลง รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมดินจนกระทั่งเก็บเกี่ยวและขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านอ้อยระยะ 3 ปี (2551/52-2553/54) ในวาระอ้อยแห่งชาติ ที่กำหนดให้ทุกโรงงานนำระบบ GIS มาประยุกต์ใช้งานด้านการวางระบบชลประทาน การวิเคราะห์คุณภาพดิน รวมถึงการวางแผนโลจิสติคส์ เพื่อลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวและขนส่ง
“กลุ่มมิตรผลเรามีความพร้อมในการเป็นต้นแบบเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงงานน้ำตาลอื่นๆ หรือระบบการผลิตพืชอื่น ซึ่งระหว่างการดำเนินโครงการนี้ บริษัท มิตรผลวิจัยฯ ได้เผยแพร่และถ่ายทอดแนวคิด หลักการทำงานระบบ SIMS ให้กับหน่วยงานหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจมาโดยตลอด” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
หมายเหตุ:
ผลงานวิจัย SIMS นี้ ได้รับรางวัลโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดีเด่นแห่งปี (Project of the Year) ประเภท Change Management System Project หรือ โครงการส่งเสริมการบริหารความเปลี่ยนแปลง จาก Thailand ICT Excellent Awards 2008 และรางวัลชมเชย สาขาเทคโนโลยีและนิเทศศาสตร์ จากสภาวิจัย แห่งชาติ 2552
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
จามรี คุปตะเวทิน / ศรีเบญจา เสมมีสุข / สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร. 0-2252-9871, 089-810-3938,