บทความพิเศษ โรคพิษสุนัขบ้า ( Rabies ) โดย โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี.

ข่าวทั่วไป Thursday March 30, 2006 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--นิวส์ เพอร์เฟคฯ
ไม่ว่าคุณจะรักเจ้าตูบของคุณสักปานใด แต่พึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า เพื่อนต่างพันธุ์เหล่านั้น สามารถนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ บางทีนอกจากตัวคุณเองจะได้รับเชื้อโรคแล้ว ยังอาจเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัว และคนใกล้เคียงด้วยซ้ำ ในวันนี้ เราจะมาคุยกันเรื่อง “ โรคพิษสุนัขบ้า
ประวัติของโรคพิษสุนัขบ้านับย้อนหลังไปได้นับร้อยปี และเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ความจริงเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ามีการกล่าวถึงกันมากมายหลายครั้งหลายคราวตามสื่อประเภทต่างๆ คราวนี้ก็ถือเสียว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็แล้วกันนะครับ โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ปกติแล้วเจ้าเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่สามารถทนกับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ การติดต่อจึงต้องติดต่อกันผ่านทางน้ำลายหรือเยื่อชุ่มหรือเยื่อเมือกของสัตว์ที่เป็นโรค เช่น การถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดเป็นสาเหตุสำคัญของการติดต่อ
ระยะเวลาการฟักตัวของโรค
เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะผ่านเข้าสู่ร่างกายของเหยื่อที่ถูกกัด โดยเข้าไปในเซลล์ของกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลา 2-3 วันก่อนที่จะเข้าสู่เซลล์ประสาทบริเวณใกล้เคียง แล้วเจ้าเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า จะค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่สมองอย่างช้าๆ การที่ไวรัสเข้าไปในเซลล์ประสาททำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถกำจัดเจ้าเชื้อไวรัสตัวร้ายได้ เลยเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าตัวร้ายจะปลอดภัยและเอ้อระเหยเดินทางเข้าสู่สมองอย่างช้าๆ บางครั้งอาจจะกินเวลาถึง 1 ปี ในการเดินทางไกลเข้าสู่สมอง แต่ตามปกติแล้วเชื้อไวรัสมักเข้าโจมตีสมองในระยะเวลา 20-30 วันหลังจากถูกกัด เมื่อไวรัสเข้าสู่สมองแล้ว 2-3 วัน เชื้อไวรัสก็จะถูกปล่อยออกมากับสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำลาย และตอนนี้เองที่จะเริ่มปรากฏอาการเด่นชัดของโรคพิษสุนัขบ้า
ระยะเริ่มต้น ช่วงเวลาจะประมาณ 1-2 วันแรกของการแสดงอาการ ระยะนี้ถ้าเป็นสัตว์จะเริ่มหลบซ่อนตัว ถ้าเป็นคนก็จะเปลี่ยนบุคลิกและนิสัย ในระยะนี้กล่องเสียงจะเริ่มมีการเกร็งตัวทำให้เสียงเปลี่ยน โดยเฉพาะในวัวจะเห็นได้ชัด
ระยะตื่นเต้น อยู่ในช่วงหลังจาก 2-3 วันเมื่อเริ่มแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ระยะนี้สัตว์จะไม่มีอาการตื่นกลัวแต่จะเกิดอาการประสาทหลอนคลุ้มคลั่ง กล้ามเนื้อบริเวณกล่องเสียงจะเป็นอัมพาตทำให้กลืนอาหารและน้ำไม่ได้ มักมีอาการน้ำลายฟูมปาก
ระยะอัมพาต หรือระยะสุดท้าย อยู่ในช่วง 4-7 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการ ระยะนี้จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากไม่ได้กินน้ำและอาหาร กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเป็นอัมพาต ทำให้หายใจลำบาก ไม่ว่าสัตว์หรือคนที่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้วไม่มีทางที่จะเยียวยาด้วยวิธีใดๆ ได้
ในช่วงที่ไวรัสออกมาตามน้ำลายและสารคัดหลั่งของร่างกาย เป็นช่วงที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสได้ แต่คนและสัตว์จะตายก่อนที่ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ทัน
การติดต่อ
แหล่งที่เป็นที่หลบตัวของเชื้อโรคมักเป็นสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่า และสุนัขจรจัด โดยปกติสุนัขเลี้ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมนุษย์ไม่ใช่แหล่งแฝงตัวของเชื้อไวรัส หนูบ้านน่าจะเป็นอีกแหล่งที่เชื้อไวรัสอาจจะแฝงตัวอยู่ได้ รวมทั้งค้างคาวที่อาจแพร่เชื้อมาสู่คนได้ทางละอองปัสสาวะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ที่พูดนี่หมายความว่าต้องเป็นค้างคาวที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ด้วยนะครับ เดี๋ยวเลยพาลไม่ไปเที่ยวถ้ำที่มีค้างคาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าคนติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านทางการปลูกถ่ายกระจกตาได้ โดยคนที่ได้รับกระจกตาได้มาจากผู้ตายที่มีอาชีพจับสัตว์ป่าขาย เดี๋ยวจะกลัวกันเกินเหตุ เอาเป็นว่าท่านผู้อ่านตั้งสติให้ดี ความจริงแล้วการถูกสุนัขบ้ากัดไม่จำเป็นว่าผู้ถูกกัดจะต้องเป็นโรคนี้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าสัตว์ที่กัดจะเป็นบ้าจริงๆ ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณเชื้อที่เข้าสู่บาดแผลอาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อและลักษณะของแผล และบริเวณที่โดนกัด เพราะมนุษย์เรามักจะมีเสื้อผ้าห่อหุ้มร่างกายซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำลายไดอีกทางอยู่แล้ว
กฎหมายเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
ในต่างประเทศ สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จะมียกเว้นก็แต่ในประเทศที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า แต่บ้านเรายังไม่มีกฎหมายแบบนี้ อย่างไรก็ดีถ้าสุนัขไม่ได้รับการฉีดโรคพิษสุนัขบ้าแต่บังเอิญไปกัดคนอื่น หรือ กัดกับสุนัขที่สงสัยว่าจะบ้า ให้กักสุนัขไว้ 10 วัน ถ้าสุนัขปลอดภัยก็ควรทำการฉีดวัคซีนสุนัขตัวนั้นเสีย ที่ต้องกักไว้อย่างน้อย 10 วันก็เพราะสัตว์ที่เริ่มแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจะตายภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน
แต่ถ้ารู้ว่าสุนัขตัวที่ไปกัดด้วยเกิดเป็นโรคพิษสุนัขบ้าแน่ๆ ต้องฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงหรือคนที่ถูกกัด ทันทีโดยไม่มีการรีรอ และควรจะซ้ำวัคซีนตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด
สำหรับท่านที่ต้องการส่งสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศพร้อมกับท่านควรศึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ดี เพราะกฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นแล้วสัตว์เลี้ยงของท่านอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศนั้น
ทำอย่างไรเมื่อถูกสุนัขที่สงสัยว่าบ้ากัด
บาดแผลที่ถูกกัดควรจะทำการล้างทันทีด้วยน้ำประปา เพื่อล้างเอาเชื้อที่ติดมากับน้ำลายออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากระยะเวลาที่จะแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าเร็วหรือช้าขึ้นกับปริมาณเชื้อไวรัสที่ได้รับ และบริเวณที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เช่น ถ้าถูกกัดบริเวณหัวและใบหน้าจะแสดงอาการของโรคอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นไปได้ส่งหัวสุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นบ้าให้กรมปศุสัตว์ที่ราชเทวีตรวจ หรือที่สถานเสาวภาก็สามารถตรวจได้เช่นกัน หน่วยงานทั้งสองแห่งจะรายงานผลให้ท่านทราบอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องขอขอบคุณหน่วยงานทั้งสองล่วงหน้าด้วยครับที่ให้บริการเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัดสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที
ในรายที่ถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัด แพทย์จะทำการฉีดซีรั่มที่มีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าให้กับคนผู้นั้นทันที ก่อนที่จะทำการฉีดวัคซีน ตามระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี. หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0-2956-5276

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ