กทม.มอบของขวัญชิ้นพิเศษให้คนกรุงเทพฯ เปิดตัว “ระบบขนส่งมวลชนแบบบูรณาการ”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 1, 2005 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--กทม.
เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.48 เวลา 10.30 น.) ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวในกิจกรรม “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 157 เรื่อง “กรุงเทพมหานครกับระบบขนส่งมวลชนแบบบูรณาการ” โดยมีนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว
กำหนดหน่วยงานบูรณาการร่วมมือจัดทำนโยบายและแผนขนส่งระบบราง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้มีนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาการจราจรได้ และในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบรางได้ร่วมมือกันจัดทำแผนรวม โครงข่ายขนส่งระบบรางรวม 7 เส้นทางระยะทาง 291 กิโลเมตรที่ ครม.อนุมัติเมื่อปี 2547 ในลักษณะบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เป็นหน่วยงานด้านนโยบายและแผน มีหน่วยงานดำเนินงานตามแผนคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวย้ำกับสื่อมวลชน ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าอย่าเข้าใจผิดว่าหลายหน่วยงานดำเนินงานซ้ำซ้อนกัน หรือแย่งกันทำขนส่งมวลชนระบบราง แต่เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยแต่ละหน่วยงานมีภารกิจที่ชัดเจน ทั้งนี้ในส่วนของ กทม.รับผิดชอบในส่วยต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทาง 66 กิโลเมตร
บีทีเอสส่วนต่อขยายของ กทม. จะเปิดบริการปี 49
สำหรับความคืบหน้าในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบตามแผนรวมระบบรางดังกล่าวมีระยะทาง 66 กิโลเมตรนั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง เป็นระยะทาง 23.5 กิโลเมตร เส้นทางแรกจากสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และเส้นทางที่สองจากสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนที่เหลือระยะทาง 42.5 กิโลเมตร กรุงเทพมหานครเตรียมต่อขยายสายทางดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้รอการประมูลก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ จากสถานีสะพาน ตากสิน-แยกตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตรและจากสถานีอ่อนนุช-สำโรง ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาการขยายเส้นทางเพิ่มเติมอีก 4 เส้นทาง ตามแผนระบบรางดังกล่าว คือ เส้นทางขยายจากสถานีหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร เส้นทางสนามกีฬา-พรานนก ระยะทาง 7.0 กิโลเมตร เส้นทางสำโรง-สมุทรปราการ ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร และสายแยกตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทาง 31.4 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2548
สำหรับส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากแผนที่มีอยู่ กรุงเทพมหานครจะทำอีก 3 เส้นทางคือ สายสะพานใหม่-ลำลูกกา (ระยะทาง 14 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้า) สายอ่อนนุช-ลาดกระบัง-สุวรรณภูมิ (ระยะทาง 20 กิโลเมตร) และสายบางนา-วัดศรีเอี่ยม-ม.ราม 2 (ระยะทาง 8 กิโลเมตร) ซึ่งทั้ง 2 สายนี้มีความเหมาะสมที่จะทำเป็นระบบ BRT โดยจะสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2549 เพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิและเป็นการเสริมโครงข่าย BRT ที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายไว้ 10 เส้นทาง ภายในปี 2551
รับฟังประชาชนคิดอย่างไรกับโครงการส่วนต่อขยายบีทีเอส
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับโครงการบีทีเอสส่วนต่อขยาย เช่น การสนทนากลุ่ม สัมภาษณ์เชิงลึก กับผู้แทนหน่วยราชการ ผู้แทนชุมชน ผู้นำความคิดในพื้นที่ศึกษา และสื่อมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการบีทีเอสส่วนต่อขยาย อยากให้มีการดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการโดยเร็ว โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาจราจร มลภาวะ เป็นการประหยัดพลังงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังต้องการให้กทม.จัดสถานที่จอดรถแบบ Park & Ride รวมทั้งการเชื่อมต่อกับอื่นๆ การใช้ตั๋วร่วมใบเดียว ใช้โดยสารได้ทั้งระบบรถเมล์ BRT ลอยฟ้า และใต้ดิน ตลอดจนขอให้จัดการจราจรให้ดีระหว่างที่ก่อสร้างและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ กทม.ยังคงเปิดรับฟังแสดงความคิดเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ โดยจะมีการจัดสัมมนาแนวทางการศึกษาตามแผนงานประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และสัมมนาสรุปโครงการในเดือนเมษายน 2548 ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทาง www.ttd-bma.cjb.net , www.daoreuk.com/bts-extension และทางตู้ ปณ.111 ปณ.จรเข้บัว กรุงเทพฯ 10230
ปฏิรูประบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบคลี่คลายปัญหาการจราจร
นอกจากที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการบูรณาการโครงข่ายระบบราง 7 เส้นทาง ในการเชื่อมต่อการเดินทางแล้ว ยังมีโครงการขนส่งมวลชนต่างๆ ของกทม.อีก เช่น ส่วนต่อขยายบีทีเอส ระบบ BRT การขนส่งทางเรือ รวมถึงระบบจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่ออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบตั๋วโดยสารร่วม (บีทีเอสกับรถไฟฟ้าใต้ดิน) ที่คาดว่า จะเริ่มใช้งานได้ในปี 2549 การปรับปรุงจุดเชื่อมต่อระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดเครือข่ายขนส่งทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบ
ในการนี้กรุงเทพมหานครมีแผนดำเนินการโครงการ BRT ใน 10 เส้นทาง รวม 157 กิโลเมตร ภายในปี 2551 โดย 2 เส้นทางแรกจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคม 2548 คือ สายรามอินทรา กม.8-นวมินทร์-เกษตร-หมอชิต และสายถนนราชพฤกษ์ (ตากสิน - เพชรเกษม) - สะพานกรุงเทพ-ช่องนนทรี-สุรวงศ์ ส่วนระบบขนส่งทางเรือจะดำเนินการ 5 สาย ตามแนวคลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองผดุงกรุงเกษม จุดประสงค์หลักก็เพื่อการเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว
เล็งเปิดการสัญจรทางน้ำอีก 5 เส้นทาง
ระบบขนส่งมวลชนที่ กทม.จะดำเนินการอีกโครงการสำคัญเพื่อการแก้ปัญหาจราจรแบบบูรณาการ คือ โครงการพัฒนาการสัญจรทางน้ำใน 5 เส้นทาง ซึ่งกำหนดจะเปิดให้บริการภายในปี 2548 นี้ ได้แก่ คลองภาษีเจริญ 15.6 กม. คลองลาดพร้าว 24 กม. คลองผดุงกรุงเกษม 7 กม. คลองเปรมประชากร 16 กม. และคลองแสนแสบ (ส่วนต่อขยาย) 11.5 กม. โดยในเดือนตุลาคม นี้ จะเปิดเส้นทางสัญจรในคลองภาษีเจริญก่อน ส่วนอีก 4 เส้นทางจะเปิดเดินเรือโดยสารได้ภายในปี 2548 ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินการสำรวจเส้นทางที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงและก่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และสรรหาผู้ประกอบการมาดำเนินการ
ปลูกฝังวัฒนธรรมการเดินทางรูปแบบใหม่ในอนาคต
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า ระบบขนส่งมวลชนแบบบูรณาการนี้จะช่วยให้กรุงเทพฯ ของเราเป็น “เมืองน่าอยู่” อย่างยั่งยืน เพราะสามารถคลี่คลายปัญหาจราจรที่เรื้อรังมาเป็นเวลานานของกรุงเทพฯ ได้ และยังเป็นการลดมลพิษ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนเดินทางปลอดภัย ส่งผลให้เกิดความสุข ที่สำคัญจะเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเดินทางแนวใหม่ที่ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ