คลอดแล้วจ้า!!! The day after “กล้วย” project

ข่าวทั่วไป Wednesday February 4, 2009 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--มูลนิธิกระจกเงา กลับมาตามคำเรียกร้อง หลังหลบหลีกความวุ่นวาย สะพายเป้ขึ้นเขา ปีนดอยเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศอันหนาวเหน็บ และลงมือลงแรงสำรวจที่ทางเตรียมความพร้อมเพื่อเพื่อนพ้องอาสาสมัคร ทริปนี้การันตีด้านความงดงามของธรรมชาติ แหล่งสถานีความรู้เพื่อการดำเนินชีวิต และที่ขาดไม่ได้คือการร่วมหยุดยั้งวิกฤติของผืนป่าด้วย “กล้วย” วีรบุรุษตัวสำคัญ ว่าแต่ The day after กล้วย คืออะไร? แนวคิดในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของป่าไม้ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แม้จะมีการปิดป่าสัมปทานไปหลายแห่งและเกิดกระแสปลูกป่าอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่พบว่าการปลูกป่าในช่วงแรกนั้นเป็นการปลูกป่าเชิงเดียว เน้นที่ไม้เศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น ต้นสน ต้นสัก ทำให้ระบบนิเวศน์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่เคยพบเห็นคือ ป่าสน ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ง่าย เพราะต้นสนมีน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิง ส่วนป่าสักทำให้สภาพดินเสื่อมและเกิดการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากไม่มีพืชคลุมดิน ซ้ำไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทางภาคเหนือของไทย ทำให้การฟื้นตัวของป่าเป็นไปอย่างเชื้อช้าและก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน น้ำป่าไหลหลาก และภัยแล้ง จากการศึกษาค้นคว้าทำให้เราค้นพบ “กล้วยป่า” พืชที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว สร้างประโยชน์ต่อมนุษย์ สัตว์และพืชอื่น ๆ ดังนั้นการส่งเสริมให้ปลูกกล้วยป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมและพื้นที่ภัยพิบัติ จึงกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าและการแก้ปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก ลองมาคำนวณดูเล่นๆว่าถ้าคุณลงมือปลูกกล้วย 1 ต้นแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร? เมื่อกล้วยป่า 1 ต้นกำเนิดขึ้น ด้วยมือคุณ... 1 ปีผ่านไป กล้วยป่าจะสูง 6 เมตร และแตกหน่อออกเป็น 6 ต้น 2 ปีผ่านไป กล้วยป่า 6 ต้น จะขยายเป็น 36 ต้น 3 ปีผ่านไป กล้วยป่า 36 ต้น จะขยายเป็น 216 ต้น 4 ปีผ่านไป กล้วยป่า 216 ต้น จะขยายเป็น 1,296 ต้น 5 ปีผ่านไป กล้วยป่า 1,296 ต้น จะขยายเป็น 7,776 ต้น แล้วถ้าเพื่อนสนิทมิตรสหายของคุณลงมือปลูกพร้อมกับคุณหละ กล้วยป่าจะขยายกลายเป็น “มหาศาล” จริงมั้ย? ด้านมิติของกล้วยป่ากับสัตว์นักปลูก ผลของกล้วยป่า เป็นอาหารอันโอชะของนก อีเห็น ตัวอ้น กระรอก ค้างคาว วัว หมู ฯลฯ เมื่อมีอาหาร จำนวนสัตว์ก็จะเพิ่มมากขึ้นใช่เฉพาะสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยงในบ้านก็อิ่มหนำตกไปตามกัน ผลของกล้วยป่ามีเมล็ดจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 100 เมล็ดต่อ 1 ผล หรือ 5,000 เมล็ดต่อ1 ต้น เมื่อมีสัตว์มากินกล้วยป่า มูลที่ขับถ่ายออกมาจะมีเมล็ดของกล้วยป่าพร้อมกับเมล็ดของพืชชนิดอื่นด้วย กระบวนการดังกล่าวนับเป็นกระบวนการขยายพันธุ์กล้วยป่าและต้นไม้หลากชนิดตามธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ต่อมามิติของกล้วยป่าต่อการป้องกันภัยพิบัติ ป่ากล้วยจะช่วยดูดซับและชะลอน้ำ ป้องกันภัยน้ำหลากที่เกิดขึ้นจำนวนมากในทุกๆปี ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ป่ากล้วยมีสถานะเป็นฝายแม้วตามธรรมชาติที่มีคุณภาพเพราะไม่ต้องตามไปซ่อมแซมทุกปี และการเพิ่มจำนวนของป่ากล้วยเปรียบเสมือนการเพิ่มจำนวนฝายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นการปลูกกล้วยเพื่อเป็นแนวยังช่วยลดปัญหาไฟป่าได้ เนื่องจากลักษณะของพืชอุ้มน้ำ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าพืชเย็น จะทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟ ดังนั้นเมื่อไฟมาไฟก็จะดับ รู้กันดังนี้แล้วขอเตือนว่า...อย่าลังเล รีบเร่งตรวจเช็คเวลาที่เหมาะสมและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับเราดีกว่า เริ่มกันที่… รุ่น 1 : วันที่ 14 — 15 กุมภาพันธ์ 52 “The day after กล้วย...in love” ณ บ้านห้วยไร่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ต้อนรับ The day after กล้วย project ด้วยวันแห่งความรัก ซึ่งนับว่าเป็นรุ่นที่มีความพิเศษเฉพาะ น่าจะเหมาะกับคู่รักที่หลงใหลในธรรมชาติและชอบการผจญภัย คงเป็นโอกาสดีไม่น้อยถ้าคุณจะได้บอกรัก “เขา” หรือ “เธอ” อีกครั้ง โดยมีขุนเขาร่วมเป็นสักขีพยาน รุ่น 2 : วันที่ 21 — 22 กุมภาพันธ์ 52 “The day after กล้วย...ก่อร่าง”ณ บ้านสองแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย หลัง Happy in love ที่บ้านแม่พวกแล้ว ก็ขยับขบวนขึ้นเหนืออีกหน่อยไปยัง “บ้านสองแควพัฒนา” หมู่บ้านที่ยังคงวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้ได้อย่างน่าชม สำหรับผู้ที่ชื่นชอบศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่าขอพรีเซนต์ทริปนี้เป็นพิเศษ มั่นใจว่าต้องติดอดติดใจอย่างแน่นอน รุ่น 3 : วันที่ 28 กุมภาพันธ์ — 1มีนาคม 52 “The day after กล้วย...กล๊วยกล้วย”ณ บ้านห้วยไร่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ กลับมาที่แพร่อีกหน เพราะหลงในมนต์เสน่ห์ของกล้วยที่แสนอุดม จึงมีชื่อห้อยท้ายทริปว่า “กล๊วยกล้วย” ดังที่เห็น ถ้าใครที่อยากรู้ว่าเสน่ห์ที่ว่านั้นคืออะไร คงต้องเคลียงานและสมัครเข้าร่วมทริปนี้อีกหน แล้วจะได้รู้ว่ากล้วยนั้นมีอะไรมากกว่าที่เราคิด... รุ่น 4 : วันที่ 7 - 8 มีนาคม 52 “The day after กล้วย...สุ (ก) ขา” ณ บ้านสองแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ตรงตามชื่อทริป “สุ(ก)ขา” หนึ่งในสิ่งสร้างสังกัดหมวดสาธารณูปโภคแสนสำคัญ ซึ่งเราเหล่าคนพื้นราบจะได้รับโอกาสแสดงพลังสร้างสุ(ก)ขาเพื่อเพิ่มพูนสุขให้แก่เพื่อนบนดอยสูง อาสาสมัครคนใดที่รู้ตัวว่ามีทักษะในด้านนี้เป็นพิเศษอย่าลืมมาร่วมโชว์ศักยภาพในทริปนี้กันนะจ๊ะ รุ่น 5 : วันที่ 14 - 15 มีนาคม 52 “The day after กล้วย...Check dam” ณ บ้านห้วยไร่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ คำถามเกี่ยวกับการสร้างฝายจะคลี่คลาย ด้วยการลงมือปฏิบัติและพูดคุยกับผู้รู้ในท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์และโทษโดยตรง พร้อมเรียนรู้ยุทธ์ศาสตร์ เพื่อการบูรณาการระหว่าง “ฝาย” กับ “กล้วยป่า” แล้วสองสิ่งนี้จะเข้ากันได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตัวเราเอง รุ่น 6 : วันที่ 21 - 22 มีนาคม 52 “The day after กล้วย...ผาสุก” ณ บ้านสองแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ส่งท้ายกิจกรรมด้วยความผาสุกทั้งผู้รับและผู้ให้ เก็บเกี่ยวความทรงจำอันรื่นรมย์ และอาลัยกิจกรรมที่กำลังจะสิ้นสุดลง เชื่อเหลือเกินว่าทริปนี้คงเป็นที่สนใจของอาสาหลายคน ถึงอย่างไรทุกทริปเรารับจำนวนจำกัด ดังนั้นสนใจทริปไหนก็รีบเร่งลงทะเบียนกันล่วงหน้านะคะ ไม่งั้นช้าอดหมดสิทธิ์สนุกแน่ นอกจากวันเวลาในการจัดกิจกรรมแล้ว เชื่อว่าเพื่อนอาสาสมัครคงอยากรู้รายละเอียดของกิจกรรมที่เราจะไปทำ เพื่อการฟิตซ้อมเตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์อย่างแน่นอน รู้ใจกันอย่างนี้แล้วก็อย่าลืมเตรียมรับมือกันให้ดีนะจ๊ะ... วันแรก (วันเสาร์) ช่วงเช้า :นัดหมายยังจุดนัดพบ (ดูรายละเอียดได้ในกำหนดการของแต่ละรุ่นย่อย) เวลา 8.30 น. และออกเดินทางเข้าพื้นที่ เมื่อเก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่ม “การปฐมนิเทศ” (ซึ่งอาจมีผู้นำชุมชนมาร่วมด้วย) ช่วงสาย - บ่าย :กิจกรรม "เดินป่าสร้างสรรค์" (เป็นการเดินตามเส้นทางที่มีธรรมชาติให้เราได้ศึกษา รวมทั้งจุดชมวิว จุดท่องเที่ยวของชุมชน ระดมเก็บเมล็ดกล้วย รวมถึงการปลูกกล้วยป่างานสำคัญของเรา) ช่วงโพล้เพล้ :กิจกรรม "สัมพันธ์ชุมชน" (เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนที่เราไปร่วมกิจกรรม พร้อมสัมผัสวัฒนธรรมที่ชุมชนจัดเตรียมไว้ต้อนรับ) วันที่สอง (วันอาทิตย์) ช่วงเช้า - สาย :งานสาธารณประโยชน์เพื่อชุมชน (เป็นการลงแรงเพื่อสร้างสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เช่น อาคารอเนกประสงค์ ห้องน้ำ ฝาย ฯลฯ) ช่วงเย็น :เป็นช่วงเวลาจัดซื้อของฝาก และเตรียมตัวเดินทางกลับ หมายเหตุ : กิจกรรมอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมค๊า... การเตรียมตัว เรื่องสำคัญที่สุดคือ “การเดินป่า” แม้ว่าเส้นทางจะไม่ลำบากนัก แต่อาสาสมัครทุกคนก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อกิจกรรมนี้เป็นพิเศษ เช่น เสื้อผ้าควรเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาง รองเท้าผ้าใบที่มีดอกยาง กระติกน้ำใบเล็กสำหรับพกพา ถุงมือกันหนาม และหมวกกันแดด นอกจากนั้นก็แล้วแต่ส่วนบุคคลจ้า จากกำหนดการจะเห็นได้ว่าหน้างานของเราแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลักคือ บ้านแม่พวก ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ และ บ้านสองแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งลักษณะพื้นที่โดยภาพรวมเป็นภูเขาสูง ที่มีป่าไม้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีลักษณะเข้มแข็งแต่เป็นกันเอง สำคัญที่สุดคนพื้นที่นั้นมีความกระตือรือร้นในด้านการอนุรักษ์เป็นอย่างมาก อ่านเรื่อยมาจนถึงตรงนี้ เพื่อนอาสาสมัครหลายคนคงอยากรู้วิธีสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับเราแล้วแน่นอน บอกได้เลยว่าไม่ยากเพียงทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้… วิธีการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ขั้นที่ 1 สมัครเข้าร่วมกิจกรรมและจองทริปผ่านทางwww.siamvolunteer.com ขั้นที่ 2 โอนเงินค่าลงทะเบียน เพื่อใช้เป็นค่าอาหาร ที่พัก และค่าเหมารถเข้าหมู่บ้านตลอดงาน เพียงท่านละ 399 บาท (ไม่รวมค่าเดินทางไป-กลับ) ผ่านทางบัญชีชื่อ “มูลนิธิกระจกเงา” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยไชยยศ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 040-2-37446-1 ขั้นที่ 3 ส่งนำเนาสลิปที่ใช้โอนเงินกลับมาเพื่อยืนยันการลงทะเบียนได้ที่ Fax: 0-2642-7991 ต่อ 18 และinfo@siamvolunteer.com หรือโทรมาแจ้งเลขที่โอนเงินได้ที่ 0-2642-7991 ต่อ 16 และ 08-1553-5434 (จูน) แล้วอย่าลืมเก็บสลิปตัวจริงไว้จนกว่าเราจะได้พบกันด้วยนะจ๊ะ ...รับจำนวนจำกัดเพียง 20 คนเท่านั้น...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ