กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สสวท.
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมชม สสวท. เมื่อวันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสนั่น สุมิตร ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ สสวท. หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ การเดินทางมาเยี่ยมชม สสวท. ครั้งนี้ รมช. ศธ. ได้เปิดเผย ว่า ตนเองให้ความสนใจที่จะกำกับดูแล สสวท. มาตั้งแต่แรก เนื่องจากจบการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม และมีพื้นฐานการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีเป็นทุนเดิม และเล็งเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์กำลังประสบปัญหาตกต่ำ จึงคิดว่าการได้เข้ามาผลักดันดูแล สสวท. น่าจะมีส่วนแก้ปัญหาจุดนี้ได้
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ได้กล่าวถึงปัญหาหลักว่าผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยกำลังเป็นตัวชี้วัดขีดความสามารถของประเทศ ทำอย่างไรจึงจะหาทางปรับปรุงแก้ไของค์กรทั้งหมดในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะแต่ สสวท. ให้ดีขึ้นได้ และทำอย่างไรถึงจะทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์มักจะไม่เข้ามาเป็นอาจารย์ หรือนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราไม่สร้างความตระหนักให้คนเรียนเก่งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หันมาสนใจด้านนี้ อนาคตอาจจะขาดแคลนบุคลากรที่จะมาช่วยสร้างนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในรุ่นต่อไป
นอกจากนั้น ได้ฝากให้คณะผู้บริหาร สสวท. ช่วยกันหาแนวทางโดยเร่งด่วน ในเรื่องการผลิตคู่มือครู หนังสือเรียน และสื่อการสอนอื่น ๆ ที่ให้องค์การค้าของ สกสค. เป็นผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่าย เพราะทราบมาว่าที่ผ่านมาพบปัญหาเรื่ององค์การค้า ฯ จัดจำหน่ายหนังสือของ สสวท. ไม่ทันกับช่วงเปิดภาคเรียน หรือขาดตลาดในบางช่วง ว่าจะแก้ปัญหาจุดนี้ได้อย่างไร สามารถยืดหยุ่นได้อย่างไร หรือกระจายงานให้องค์กรใดรับช่วงต่อได้บ้าง และให้เตรียมแผนการรับมือเรื่องหนังสือเรียนที่โรงเรียนต้องการใช้ให้ทันเปิดภาคเรียนหน้าด้วย พร้อมกับหากลยุทธ์ทางด้านการตลาด พัฒนาหนังสือเรียน สื่อการสอนที่สวยงาม ทัยสมัยจูงใจผู้ใช้“ทรัพย์สินทางปัญญาของ สสวท. ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ถ้า สสวท. สามารถหารายได้ในส่วนนี้ ก็จะไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐมากนัก แสดงให้เห็นว่า สสวท. สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ เราสามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญามาพัฒนาองค์กรได้ ถ้ามีการจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น สสวท. จะต้องปรับตัวทั้งด้านความรู้ในตัวบุคลากร ความรู้องค์กร และการพัฒนาสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและองค์ความรู้ที่เปลี่ยนเร็วมาก”