ไทย ลาว เขมร เวียดนาม เตรียมรับมือมหันตภัยโลกร้อนภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2009 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.-- ความร่วมมือในการเตรียมรับมือต่อผลกระทบโลกร้อนครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) จากการประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัว” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีตัวแทนจากประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงตัวแทนจากองค์การพัฒนาระหว่างประเทศออสเตรเลีย ที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลวิชาการและงบประมาณ รวมผู้เข้าประชุมกว่า 150 คน นายเจเรมี เบิร์ด ซีอีโอคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า จากการขยายตัวด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อลุ่มแม่น้ำโขงในหลากหลายมิติ ทั้ง ด้านอุทกวิทยา สิ่งแวดล้อม การประมง การเกษตร และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “ความท้าท้ายที่ผู้คนในภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญ จะเพิ่มมากขึ้นและแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ อาทิ ปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำ ซึ่งมีผลต่อผลผลิตทางการเกษตรและการประมง ทั้งนี้ รัฐบาลลาวและเขมรควรมีมาตรการในการเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดบ่อยขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล” ซีอีโอคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม หากสามารถเข้าใจถึงปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และผู้คนในภูมิภาคนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการนำไปสู่ยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อโลกร้อนที่ดีสำหรับประเทศในลุ่มน้ำโขง โดยการตัดสินใจต่อเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิขาดของแต่ละประเทศ ด้าน ดร. ศิริพงษ์ หังสพฤกษ์ สมาชิกกรรมาธิการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ของประเทศไทย และอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ผลจากการคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบว่า การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการแปรปรวนในธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลดลงของปริมาณน้ำฝนในฤดูแล้งและการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน ซึ่งจะเพิ่มวิกฤตขาดน้ำในฤดูแล้งและอุทกภัยในฤดูฝน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นและแต่ละครั้งรุนแรงหนักขึ้น “ผลกระทบจากโลกร้อนจะเกิดขึ้นครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในรูปแบบและลักษณะแตกต่างกัน ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบน แต่ในบางพื้นที่ของลุ่มน้ำโขงตอนล่างปริมาณน้ำฝนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รูปแบบของฤดูกาลในลุ่มน้ำโดยรวมจะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือภายใต้การริเริ่มของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ในระยะเริ่มต้น เราหวังจะให้เป็นทางออกที่สามารถปฏิบัติได้จริงในแต่ละประเทศ โดยความร่วมมือที่ริเริ่มนี้ จะทำให้ทั้ง 4 ประเทศมีองค์ความรู้ เครื่องมือและขีดความสามารถที่ดีขึ้น ที่จะเตรียมรับมือ ตั้งรับ และปรับตัวกับภาวะโลกร้อนในอนาคต”ดร. ศิริพงษ์กล่าว ข้อมูลเพิ่มติด ติดต่อ วิเทศ ศรีเนตร +85621 263 ext 2422 vithet@mrcmekong.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ