กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
“สวัสดีค่ะ หนูเป็นนักเรียนจากโรงเรียนท่าช้างวิทยาคาร อำเภอท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ชื่อกลุ่มชมพูพันธุ์ทิพย์ พวกเราทำโครงการ “เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง” โดยทำโครงงานจิตอาสา พาชุมชนพ้นภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมรับคุณธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงความดี สดุดีองค์ราชัน ในวันหยุดพวกหนูจะรวมตัวกันไปพูดคุย บีบนวดผู้สูงอายุตามบ้าน เพื่อลดปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ หรือการไปร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อลดภาวะโลกร้อนเดือนละครั้ง ฯลฯ......”
เป็นเสียงใส ๆ ของเยาวชนทั้งชายและหญิงกว่า 200 ชีวิตจาก 56 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้ารอบสุดท้ายของโครงการประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ ที่สอบถามผู้คนที่มาเดินบริเวณลานสยามดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า แหล่งความทันสมัยใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ พร้อมทั้งขอให้ช่วยให้ข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุง ซึ่งแต่ละกลุ่มแต่ละโรงเรียนก็มีกิจกรรมทำดีแตกต่างกันไป
ในครั้งนี้....ทุกคนมีภารกิจจะสื่อสารความดีให้กับคนที่เดินผ่านไปมาบริเวณลานสยามดิสคัฟเวอรี่ คนละ 100 คน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายสุดยอดผู้นำยุวชนกัลยาณมิตร ที่นำโดยพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส พระอาจารย์ขวัญใจวัยโจ๋ ที่ใช้การประกวดเป็นกุศโลบายทำให้วัยรุ่นสนใจธรรมะหันหน้าเข้าหาวัดทำกิจกรรมดี ๆ พร้อมความร่วมมือจากภาคีและผู้ใหญ่ใจดีจำนวนมาก จึงเกิดกิจกรรมให้เด็กได้ขยายเครือข่ายสื่อสารความดี และใช้โอกาสเริ่มต้นเดือนแห่งความรัก(กุมภาพันธ์) เป็นเดือนแห่งความรักดี (เริ่มต้นทำความดี) ที่สื่อมวลชนจะได้นำเสนอแง่มุมที่ดี ๆ ของเยาวชนไทยซึ่งมีอยู่มาก แทนข่าวดอกกุหลาบราคาแพง คนแย่งกันซื้อ หรือ วัยรุ่นเสี่ยงเสียตัวในวันวาเลนไทน์ ฯลฯ
เกี่ยวกับเรื่องนี้บรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตัวแทนเยาวชนจึงได้มีการเสวนากันหัวข้อ “ความดีสร้างเยาวชน เยาวชนสร้างสื่อ สื่อสร้างชาติ” โดย พระมหาพงศ์นริทร์ ฐตวํโส ประธานโครงการพัฒนาโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ “เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง” ปีการศึกษา 2551 กล่าวถึงการสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับเยาวชนว่า หัวใจของการสร้างกระบวนการ คือ ร่วมใจ ทำดี อย่างมีปัญญา สื่อสารกับวัยรุ่นว่า “อย่าปล่อยให้ความดีโดดเดี่ยว” สนับสนุนให้ทำต่อเนื่องจนเห็นคุณค่าของความดี ให้มีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำอย่างมีปัญญา ทำอย่างมีเหตุผล ทำจริงไม่สร้างภาพ ทำให้เขารู้ว่าเราทำความดีเพื่อความดีที่มีอยู่จริง ความดีเป็นนามธรรมแต่ใจเราสามารถเข้าถึงได้ เราต้องการยกย่องคนทำความดี การทำดีทำให้ได้ภูมิปัญญาว่าเขาแก้ปัญหาได้อย่างไร การสื่อสารความดีจึงเป็นการให้มรดกต่อมนุษยชาติ ตอนนี้วัยรุ่นของเราตกหลุมรักความดี มีค่านิยมในความดี อย่างมั่นคงซื่อตรงซื่อสัตย์และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้หลงรักความดีแค่คนเดียว แต่มากันเป็นทีมเป็นกลุ่มเพื่อน ที่มีใจอาสามาช่วยกันจัดงานนี้ขึ้น ต่อไปนี้อยากให้เดือนกุมภาพันธ์ไม่ใช่วันแต่ความรักทางต่ำ แต่เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นแห่งความดี
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ ทีวีไทยฯ ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เยาวชนขาดโอกาสทำความดี คือ ความสนใจของคนมีแนวโน้มที่จะมองเรื่องดี ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ให้ความสนใจกับสิ่งไม่ดี ฉะนั้นสิ่งที่น่าพิจารณาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีสิ่งที่ดีมากหรือน้อยกว่าสิ่งไม่ดี แต่ควรดูว่าที่ทำดีอยู่แล้วนั้นดีอย่างไร ควรไปสืบค้น นำมาสู่การรับรู้เผยแพร่เรื่องที่เป็นความดีความงามมากขึ้น จะช่วยทำให้สังคมฟื้นตัวจากความสนใจในเรื่องไม่ดีมาสู่ความสนใจในเรื่องที่ดีมากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำ ซึ่งสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมาก สื่อมีอิทธิพลสูง ที่จะสร้างพลังในสังคมได้มาก สื่อต้องช่วยกันเผยแพร่ความดีและการทำดีให้แพร่กระจายออกไปให้มากขึ้น
นายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวความดีหรือการยกย่องคนดีนั้นน้อยมาก ทำให้เด็กในสังคมไทยขาดตัวอย่างที่ดี เมื่อสื่อลงแต่เรื่องไม่ดี คนก็รู้สึกว่าสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นเรื่องปกติ เราต้องสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม ส่วนนโยบายของภาครัฐนั้น ปัจจุบันจะเห็นว่าพื้นที่ของสื่อสาธารณะนั้นมีน้อยมาก และมีการนำไปใช้ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ไม่ควรใช้ รวมทั้งแง่มุมทางด้านธุรกิจและการบันเทิงด้วย ในอนาคตแน่นอนว่าเรามีแนวโน้มที่จะปรับให้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เช่น เรื่องเด็ก เรื่องการศึกษา
“เราต้องส่งเสริมสื่อดี ๆ ให้มีพื้นที่อยู่ได้ และทำอย่างไรให้ตัวสื่อมีคุณธรรม จริยธรรม ควบคุมกันเองได้ เพราะทุกวันนี้สังคมจะเป็นอย่างไรขึ้นกับสื่อชี้นำ เราต้องทำกลับกัน ต้องส่งเสริมสื่อดี ๆ ให้มีที่อยู่ได้ อยากให้กระบวนการทำงานของรัฐเป็นแค่เรื่องของการพัฒนาสื่อ และให้สังคมเป็นตัวกำหนดสื่อว่าอยากให้สื่อเป็นอย่างไร” นายวิทเยนทร์ กล่าว
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานี ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ กล่าวว่า สื่อมวลชนก็มีส่วนทำให้มวลชนเข้าใจในเรื่องคนดีผิดไป สื่อทั่วไปมักมองว่า “ข่าวร้ายจะเป็นข่าวที่ขายดี” สื่อต้องมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการชูในสิ่งที่มีคุณค่าทำให้คนในสังคมได้เห็นว่าที่ถูกที่ผิดนั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันในกลุ่มสื่อเองก็มีการตระหนักในเรื่องนี้มีการรณรงค์ลดการใช้ความรุนแรงในการรายงานข่าว แต่นอกเหนือจากให้สื่อทำหน้าที่แล้ว ผู้ปกครองควรแสดงแสดงปฏิกิริยาทุกครั้งที่สื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวความรุนแรง เช่น อาจจะบอยคอตไม่ซื้อหนังสือพิมพ์หรือสื่อนั้น ๆ หรือแม้กระทั่งไม่ซื้อสินค้าของผู้สนับสนุนสื่อนั้น ๆ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ในต่างประเทศเขาทำกัน อยากให้ผู้ปกครองแสดงพลังที่จะให้สื่อทำหน้าที่ที่ดีด้วย เพราะผู้ปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างพฤติกรรมการรับสื่อของลูกหลานได้
คุณนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า การส่งเสริมความดี ความงามเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม ทำได้ยาก ถ้าไม่มีวิธีการ และกระบวนการที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการขยายผล การทำโครงงานคุณธรรมก็เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ซึมซับเรื่องการทำความดี โครงงานคุณธรรมฯนี้ทำกันมาตั้งแต่ปี 2549 และตระหนักว่าสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขยายการทำดีของเด็ก ๆ ให้สังคมได้รับรู้ เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงผลงานการทำความดีของเขา ซึ่งบางครั้งบางเรื่องผู้ใหญ่ก็ไม่ควรตัดสินใจแทนเด็ก เพราะเด็กเขาคิดเองแก้ปัญหาเองได้
ดร . บรรเจอดพร สู่แสนสุข ผู้ประสานงาน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ . กล่าวว่า นอกจากต้องการให้เด็กได้คะแนนเรียนดี เราต้องให้โอกาสเด็กได้ทำดีด้วย ซึ่งวันนี้ไม่โดดเดี่ยวมีคนจำนวนมากเข้ามาช่วยกันทำเรื่องนี้ มาช่วยเพิ่มพื้นที่สีขาวให้เด็กได้พัฒนาความคิด ให้โอกาส เปิดช่องทาง ให้เวลา มีงบประมาณเล็กน้อย แต่เขาต้องการการส่งเสริม เหมือนมีกัลยาณมิตรอยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก แล้วในที่สุดสิ่งที่เด็กคิดมันก็จะส่งผลไปในพื้นที่ครอบครัว ชุมชนของเขาได้ด้วยตัวเอง เราควรปล่อยให้เด็กทำ เพราะเด็กเราทำได้
“น้องชาญวิทย์” ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ความดีที่พวกเขาทำไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทำแล้วเกิดความสุขใจ อิ่มเอมใจ และบางส่วนก็ช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการทำบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่อยากบอกกับผู้ใหญ่ในเรื่องสื่อ ที่ว่า “ความดีสร้างเยาวชน เยาวชนสร้างสื่อ สื่อสร้างชาติ” นั้น ตอนนี้พวกเราก็กำลังสร้างสื่อ และสื่อจรไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจะบอกผู้ใหญ่ทุกคนว่าพวกเรากำลังทำความดี และอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำดีของพวกเราแม้ในจุดเล็ก ๆ และอยากร้องขอต่อสื่อมวลชนในการเพิ่มพื้นที่ข่าวคุณธรรม ความดีให้มากกว่านี้ ขอโอกาสให้ได้เผยแพร่ความดีที่เราทำบ้าง
กุมภาพันธ์เดือนแห่งความรักในปีนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการทำความดี และรักดีของเยาวชนไทยอีกจำนวนมาก หลังจากที่เยาวชนกลุ่มนี้ได้ทำดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง มูลนิธิสยามกัมมาจลขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่สื่อสารความดีของเด็ก ๆ ให้สังคมไทยได้รับรู้.