ชุมชนคลอง 23 ร่วมกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง คืนความสดใสให้แม่น้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2009 12:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--สสส. เผยกรณีตัวอย่างจากคลอง 23 นครนายก พบทำนากันต่อเนื่อง 5 ครั้งใน 2 ปี ทำให้สารเคมีจากนาข้าว ไหลสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภค-บริโภคได้ สสส.หนุนพื้นฟูคลอง ให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำอีกครั้ง จากสภาพพื้นที่ ที่เหมาะอย่างยิ่งในการทำนา ทำให้ชุมชนริมคลอง 23 ต.ศีรษะกระบือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ปลูกข้าวถึง 5 ครั้งต่อ 2 ปี ส่งผลให้ผืนดินในนาข้าวไม่มีวันว่างเว้น มีการปล่อยน้ำเข้านาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือถ้าเกษตรกรต้องการน้ำเข้านา ก็จะวิดน้ำจากคลองเข้าไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว เมื่อต้นข้าวเติบโตดี และมีน้ำเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต เกษตรกรก็จะปล่อยน้ำออกลงสู่คลอง 23 แต่น้ำที่ปล่อยออกมานั้น คือน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีปริมาณมหาศาล ทั้งยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนพืช และปุ๋ย เป็นเหตุให้คุณภาพน้ำในคลอง 23 ต่ำกว่าเกณฑ์มาก ไม่สามารถนำน้ำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้ นายจรัล กองจันดา นักวิชาการสาธารณสุข 7 ประจำสถานีอนามัยคลอง 23 ฝั่งเหนือ ต.ศีรษะกระบือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมาสถานีอนามัยตรวจพบผู้ป่วยในโรคผิวหนัง ผื่นคัน และมะเร็งสูงขึ้น เมื่อสอบถามหาสาเหตุพบว่า 100% ของผู้ป่วยล้วนเป็นผู้ใช้สารเคมีในการทำเกษตร และเป็นผู้ใช้น้ำจากคลองทั้งสิ้น อันเป็นจุดสังเกตเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพน้ำ นายจรัล และ ผู้นำหมู่บ้านอีก 4 คนในท้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “คืนความสดใสให้คลอง 23” ภายใต้ชุดโครงการอนุรักษ์ ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “เราทำงานโดย แทรกซึมจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน เริ่มจากการการจัดตั้งอาสาสมัครมารณรงค์ร่วมกันในวันสำคัญ เช่น การเทน้ำหมักชีวภาพลงคลอง ร่วมกับการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการใช้น้ำ และเกิดสำนึกในการฟื้นฟู บำบัดและอนุรักษ์น้ำ” นอกจากนี้ ยังให้ชุดอาสาสมัครจำนวน 64 คน ที่ผ่านการอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และวิธีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ออกมาร่วมกันรณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ ตลอดจนวิธีการทำเกษตรที่เน้นลดการใช้สารเคมี โดยนำปุ๋ยชีวภาพไปใช้แทนปุ๋ยเคมีในการทำนา และใช้น้ำหักชีวภาพบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง “ผลที่ได้จากการทำโครงการ นอกจากจะได้น้ำในคลอง 23 ที่มีคุณภาพดีสามารถใช้สอยได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีตแล้ว ชาวบ้านที่ลดการใช้สารเคมีในการทำนา มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คนในพื้นที่มีสุขภาพดีขึ้น มีสินค้าเกษตรที่ปลอดจากสารพิษออกจำหน่าย” นายจรัล กล่าว สำหรับโครงการอนุรักษ์ ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง ที่สสส. ให้การสนับสนุนเนื่องจาก ต้องสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนให้เกิดแรงขับเคลื่อน เป็นเครือข่ายทั่วประเทศเชื่อมโยงระหว่าง นักวิชาการ ภาคชุมชน และรัฐบาล จึงจะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม เกิดความเข้าใจ รัก หวงแหน และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง karn เบอร์โทรศัพท์ : 087-605-3559

แท็ก เคมี   สสส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ