กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เชิญชวนประชาชนลดภาวะ โลกร้อนที่เป็นสาเหตุให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยการร่วมกันปลูกต้นไม้ ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เลือกใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย และไม่มีส่วนประกอบของสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) รวมทั้งหลีกเลี่ยง การเผาขยะที่มีสารพิษ เพื่อชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสภาพภูมิอากาศโลกค่อนข้างแปรปรวนอย่างหนัก ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันปกป้องรักษาสภาพแวดล้อมโลกด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้อย่างน้อยคนละ ๑ ต้น โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลน ลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเพิ่มโอโซนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ร่วมกันประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและ มีประสิทธิภาพมากที่สุด การใช้ไฟฟ้าควรเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดไฟ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีขนาดเหมาะสมกับห้อง ใช้หลอดไฟฟ้าแบบตะเกียบแทนหลอดไส้ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว และใช้พลังงานทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ สำหรับเชื้อเพลิง เลือกใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน เพื่อลดควันพิษที่จะทำลายชั้นบรรยากาศโลก ไม่จอดรถโดยสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ เพื่อประหยัดเชื้อเพลิงและลดควันพิษ จากท่อไอเสียรถยนต์ ตลอดจนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หากเดินทางในระยะใกล้ ควรเลือกใช้รถจักรยาน เดินเท้าแทนการใช้รถยนต์ หรือเลือกเดินทางแบบทางเดียวกันไปด้วยกัน (Car Pool) เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะ รวมถึงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (สารCFC) เช่น กล่องโฟม สเปรย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ เลือกใช้กระดาษอย่างคุ้มค่าโดยใช้ทั้ง ๒ หน้า เนื่องจากกระบวนการผลิตกระดาษต้องใช้ต้นไม้เป็นวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการทำลายพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนควรเลือกใช้ตะกร้าหรือถุงผ้าในการบรรจุสิ่งของแทนถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการกำจัดของเสียโดยการเผาวัสดุทุกประเภท โดยเฉพาะวัสดุที่มีสารพิษ เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถุงพลาสติก ควรใช้วิธีฝังกลบแทน เพื่อลดก๊าซพิษที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รับประทานให้หมดอย่าเหลือทิ้ง เพราะอาหารที่เน่าเสียเมื่อทับถมกันจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถสะท้อนความร้อนออกไปนอกโลกได้ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น