กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กทม.
กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตพระนคร หลังพบตู้น้ำดื่มฯ ในเขตกรุงเทพฯกว่า 20% ไม่ผ่านมาตรฐาน มีแบคทีเรียปนเปื้อน ขาดการบำรุงรักษา พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มฯ ทั่วกรุง ร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคน้ำดื่มแก่ประชาชน
พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่เขตพระนคร ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขให้สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ปราศจากการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารกับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร
พ.ญ.มาลินี กล่าวว่า ในพื้นที่เขตพระนครมีผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 23 ราย ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการผลิตน้ำบริโภคแล้ว จำนวน 5 ราย โดยสำนักงานเขตพระนครออกตรวจสุขลักษณะทุกๆ 1 เดือน และเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาทำการวิเคราะห์หาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียทุก 3 เดือน พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ประกอบการทดสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยใช้ชุดตรวจ ว 111 จากกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 215 ตัวอย่าง จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 997 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 21.56% นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบกิจการไม่ดูแล บำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยตรวจพบคราบฝุ่นละอองภายนอกตู้น้ำดื่ม บริเวณห้องจ่ายน้ำ และตู้น้ำดื่มฯ ส่วนใหญ่จะไม่มีระบบตัดไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2544 กำหนดให้การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค ต้องมีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามแนวทางการพิจารณา เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องทนทาน ไม่ผุกร่อน ไม่มีสารละลายน้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การติดตั้งต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ก่อความเดือนร้อนแก่ที่สาธารณะ มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟรั่ว หรือไฟฟ้าลัดวงจร ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดตู้ ถังเก็บน้ำ หัวจ่ายน้ำดื่มหยอดเหรียญ และตรวจสอบประสิทธิภาพของการล้างฆ่าเชื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีการบันทึกเป็นเอกสารให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบได้
สำหรับน้ำบริโภคจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่2) และเมื่อได้รับใบอนุญาตฯ แล้ว ผู้ประกอบการต้องติดประกาศสำเนาใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้เด่นชัด รวมทั้งติดประกาศข้อมูลที่ชัดเจนของผู้ผลิต ผู้ให้บริการหรือครอบครอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อได้โดยสะดวก
พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกว่า 2,000 ตู้ในเขตกรุงเทพฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และจัดทำสติ๊กเกอร์ตรากรุงเทพมหานครติดบนตู้น้ำดื่มฯ ที่ผ่านการตรวจสอบ และได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับรองคุณภาพ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกด้วย