กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--เวเบอร์ แชนวิค
จีเอ็มบริษัทรถยนต์แห่งแรก กำเนิดโรงงานผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ในสหรัฐอเมริกา
เลือก แอลจี เคม สำรองเซลแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน สำหรับใช้กับ เชฟโรเลต โวลต์ รถพลังงานไฟฟ้าที่จะออกจำหน่ายในตลาด
กลยุทธ์การผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ครั้งนี้ เป็นกลยุทธ์ที่เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนารถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีเอ็มในอนาคต
จีเอ็มยังเตรียมเปิดศูนย์วิจัยแบตเตอรีสำหรับรถยนต์แห่งใหม่ ซึ่งเป็นห้องทดสอบแบตเตอรีที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
พร้อมจับมือ มหาวิทยาลัยมิชิแกน เปิดหลักสูตรพัฒนาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี
เชฟโรเลต โวลต์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่สามารถวิ่งได้ในระยะทาง 65 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางทั่วไปในการใช้งานปกติในชีวิตประจำวัน และยังปลอดมลพิษ พร้อมแล้วที่จะถูกนำมาใช้งานกับ แผงแบตเตอรี ลิเธียม-ไออน (lithium-ion) ชุดแรกในสหรัฐอเมริกาที่ผลิตขึ้นโดย “จีเอ็ม” เจนเนอรัล มอเตอร์ส จากการแถลงข่าวของ มร.ริค แวกอเนอร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น
จีเอ็มเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จะเปิดโรงงานผลิต แบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน เพื่อสำรองแบตเตอรีให้กับ เชฟโรเลต โวลต์ ซึ่งประกอบด้วยเซลลิเธียม-ไอออน มากมายที่มาบรรจุรวมกัน พร้อมด้วยส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ ของแบตเตอรี
โรงงานผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ของจีเอ็ม จะตั้งอยู่ในรัฐมิชิแกน หลังจากที่ได้เจรจากับทางรัฐมิชิแกนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว โรงงานแห่งนี้เตรียมพร้อมที่จะก่อตั้งในต้นปี 2552 นี้ ส่วนเครื่องมือเครื่องจักรในการผลิตจะถูกติดตั้งในโรงงานในช่วงกลางปี และคาดว่าจะผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ออกมาได้ชุดแรกในปี 2553
“การออกแบบ การพัฒนา และการผลิต แบตเตอรีอันล้ำหน้านี้ จะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับจีเอ็ม และเราจะต้องพัฒนาขีดความสามารถของเราอย่างรวดเร็ว รวมทั้งต้องมีทรัพยากรในการส่งเสริมการดำเนินงานนี้” มร.แวกอเนอร์ เกริ่นนำพร้อมกล่าวต่อไปอีกว่า “นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นของเรา ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้กับรถยนต์ และในรถยนต์ เชฟโรเลต โวลต์ ซึ่ง ณ เวลานี้ เราลงทุนไปกว่า 1 พันล้าน เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 34,965ล้านบาท)”
ในการผลิตแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ใน เชฟวี่ โวลต์ จะได้การสำรองเซลแบตเตอรีโดย บริษัท คอมแพ็ค เพาเวอร์ (Compact Power) ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของ แอลจี เคม (LG Chem) ในดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน โดยจะผลิตแผงแบตเตอรีสำหรับ เชฟวี่ โวลต์ ที่เป็นรถต้นแบบ ก่อนที่โรงงานผลิตแบตเตอรีของจีเอ็มจะเริ่มการผลิต ความร่วมมือทางด้านวิศวกรรมกับทาง บริษัท คอมแพ็ค เพาเวอร์ และ บริษัท แอลจี เคม นั้น ยังเป็นการเซ็นสัญญาความร่วมมือที่ช่วยให้เทคโนโลยี แบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ของโวลต์ ให้พัฒนาก้าวไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
มร.แวกอเนอร์ กล่าวถึงการเลือก แอลจี เคม มาร่วมพัฒนาแบตเตอรีครั้งนี้ว่า “การเลือก แอลจี เคม มาเป็นพันธมิตรในการผลิตแบตเตอรีของเรานั้น เราตัดสินใจจาก การดำเนินงาน ความพร้อมและศักยภาพในการผลิต ความมั่นคง ขณะเดียวกันแอลจี เคม ยังแสดงให้เห็นถึงผลงานที่ผ่านมา ซึ่งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ที่จีเอ็มเราเชื่อใจในความแข็งแกร่งทางด้านเทคนิคของ แอลจี เคม ซึ่งสามารถประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการผลิตของเราได้อย่างลงตัว และนั่นจะช่วยให้ตำแหน่งของเราชัดเจนยิ่งขึ้นในฐานะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต”
กลยุทธ์แบตเตอรีอันล้ำหน้าของจีเอ็ม
“การประกาศกลยุทธ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลิตแบตเตอรีอันล้ำหน้าสำหรับจีเอ็ม ที่จะสามารถต่อยอดออกไป 2 ทาง หนึ่งคือ เรากำลังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหลักของเรา อย่างเช่น การวิจัย การพัฒนา และการผลิตแบตเตอรี รวมทั้งผสมผสานปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขบวนการผลิตของเรา ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้จีเอ็มกลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของจีเอ็มในระยะยาว ส่วนที่สองคือ เรากำลังจะสร้างกลุ่มตัวแทนในการจัดหาแบตเตอรี และยังเป็นศูนย์บ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรีทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้กับผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นในการพัฒนาคุณสมบัติทางเคมีของแบตเตอรี การออกแบบเซลแบตเตอรี รวมไปถึงวิศวกรแบตเตอรีรถยนต์ในอนาคตอีกด้วย” ประธานกรรมการบริหารจีเอ็ม กล่าว
องค์ประกอบหลักของกลยุทธ์พัตนาแบตเตอรีอันล้ำหน้าของจีเอ็ม
การเปิดศูนย์วิจัยแบตเตอรีรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา (บนเนื้อที่ 3,251 ตารางเมตร) ซึ่งจะสามารถทดสอบเทคโนโลยีระบบสำรองไฟในแบตเตอรีรุ่นใหม่ รวมทั้งการทดสอบ แบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน และแบตเตอรี นิเกิล-เมทัล ไฮดราย (nickel-metal hydride) และยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรีอันล้ำหน้าให้กับประเทศ และเปิดทางให้ศูนย์วิจัยอื่นๆ ในเครือข่ายของจีเอ็ม ทั้งในโฮนีโอเย ฟอลส์ ในนิวยอร์ก ในเมืองวอร์เร็น รัฐมิชิแกน ในเมืองทอร์แรนซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และใน ไมน์-คาสเทล ประเทศเยอรมนี ศูนย์วิจัยแบตเตอรีแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ใน มิชิแกน ภายใต้การเจรจาขั้นสุดท้ายกับทางรัฐและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
สร้างความต่อเนื่องในการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อพัฒนาแบตเตอรีของจีเอ็ม ด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงานทั้งในส่วนของ ระบบไฮบริดของจีเอ็มทั่วโลก ในส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และจัดตั้งทีมงานสำหรับการผลิตแบตเตอรีอันล้ำหน้าด้วยวิศวกรหลายร้อยคนในปี 2553 รวมทั้งพนักงานจีเอ็มในปัจจุบันอีกกว่า 200 คน ที่จะอุทิศตัวเพื่องานผลิตแบตเตอรีอันล้ำหน้านี้
การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในการสร้างสรรค์ห้องวิจัยแบตเตอรีรถยนต์อันล้ำหน้าในเมือง แอน อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน และการเปิดหลักสูตรพัฒนาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรีจากมหาวิทยาลัย
เสริมสร้างและรวมกลุ่มตัวแทนในการจัดหาแบตเตอรีที่แข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนา ผลิต และผสมผสานความชำนาญด้านเซลของแบตเตอรี ด้วยความร่วมมือจาก บริษัท แอลจี เคม บริษัท เอ123ซีสเตมส์ บริษัท ฮิตาชิ บริษัท คอมแพ็ค เพาเวอร์ และบริษัทโคบาซี่ส์
การร่วมมือกับองค์กรรัฐบาลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ สถาบันวิจัยยานยนต์สหรัฐฯ สถาบันวิจัยแบตเตอรีอันล้ำหน้าของสหรัฐฯ และสถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นการพัฒนาระบบไฮบริด ระบบปลั๊ก-อิน และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งการให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับไฟฟ้าที่จะสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหล่านั้น
พลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีอันล้ำหน้าเหล่านี้ เป็นส่วนที่ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อศักยภาพในการประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง ลดปริมาณมลพิษ และยังเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืน จีเอ็มกำลังวิเคราะห์ทางเลือกมากมายเพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของลูกค้าทั่วโลก ทั้งจาก การนำเทคโนโลยีอันล้ำหน้ามาใช้เปลี่ยนจาก น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และดีเซลชีวภาพ มาเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับรถยนต์อย่างเช่น รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฮโดรเจนฟิวเซล จีเอ็มเชี่อว่า รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนจากแบตเตอรีและเทคโนโลยีฟิวเซล จะเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านพลังงานสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลอย่างยั่งยืนในระยะยาว
เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารของจีเอ็ม อนุมัติให้โครงการ รถยนต์เชฟโรเลต โวลต์ และระบบเครื่องยนต์วอลเทค (Voltec) เริ่มต้นการผลิตในปลายปี 2553 ซึ่งโวลต์สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 65 กิโลเมตร จากพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน และหลังจากระยะทาง 65 กิโลเมตรไปแล้ว ในโวลต์จะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กที่สามารถเพิ่มกระแสไฟฟ้าที่ทำให้โวลต์สามารถวิ่งต่อไปได้อีกหลายร้อยกิโลเมตร ในการพัฒนาแผงแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน รูปทรงตัว “ที” (T) ขนาดกำลัง 16 กิโลวัตต์-ชั่วโมง นี้ จะมีขนาดคร่าวๆ ประมาณ 1.8 เมตร มีน้ำหนักเกือบๆ 181 กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโวลต์ ซึ่ง เชฟโรเลต โวลต์ ที่จะออกผลิตจริงนั้นได้มีการเผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน ปี 2551
สำหรับข้อมูลหรือรูปภาพเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณฐิติณี จารุวิจิตรรัตนา หรือสถาปนา กาญจนประกร
เวเบอร์ แชนวิค
บริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 02 343 6000, 081 919 7593
อีเมล์: Thitinee@webershandwick.com, Satapana@webershandwick.com
หรือ
คุณศศินันท์ ออลแมนด์
ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2791-3400 โทรสาร 0-2937-0441
อีเมล์: sasinan.allmand@gm.com