กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เมื่อวันที่ 30 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล จัดเวทีตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้ สู่ความพอเพียง” ขึ้น ณโรงแรมวรบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียนจาก 140 โรงเรียน ทั่วประเทศ กว่า 500 คน เข้าร่วมนำเสนอผลสำเร็จ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน และพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในกลุ่มสาระวิชาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในการขยายผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
คุณหญิง ชฎาวัฒนศิริธรรม กรรมการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประธานในพิธีเปิดงานเวทีตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้ สู่ความพอเพียง” กล่าวว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักธรรมที่ดีงาม เป็นสากล ที่สำคัญหลักปรัชญานี้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชนไทยจึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ขึ้น ในปี พ.ศ.2548 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นผู้ดูแลโครงการ โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่เยาวชนทั่วประเทศ เพื่อให้มีหลักคิด รู้เท่าทัน สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงทั้งร่างกาย และจิตใจ อีกทั้งเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม อันก่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคง สมดุล และยั่งยืน
ด้าน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาไปสู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 9 โรงเรียน ต่อมาในปี 2549 - 2550 กระทรวงศึกษาธิการและโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงได้คัดเลือกสถานศึกษาพอเพียง ปี 2550 จำนวน 135 โรงเรียน และมีเป้าหมายขยายไปสู่ 40,000 โรงเรียนในปี 2554
ในฐานะภาคีความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจลเล็งเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนดังกล่าวเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์กลางในการขยายผลไปสู่โรงเรียน และชุมชนอื่นๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จึงจัดตั้ง “โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาและชุมชน” ขึ้น โดยสนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เป็นกลไกหลักในการจัดกระบวนการเสริมศักยภาพให้กับโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็งในแต่ละภูมิภาค โดย ส.ร.ส. ได้ใช้ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นหลักในการขับเคลื่อนงานร่วมกับโรงเรียนเป้าหมาย 68 โรงเรียนทั่วประเทศ
ผลจากการดำเนินงาน 7 เดือนที่ผ่านมา มีการประมวลความรู้จากการพัฒนางานด้วยการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน และนำมาขยายผลผ่านการจัดเวทีตลาดนัดความรู้ทั้ง 4 ภาค ทำให้ผู้บริหาร ครู อีกทั้งนักเรียนได้เรียนรู้การผลิตสื่อประเภทต่างๆ นำไปขยายที่โรงเรียน และในชุมชน มีเวทีการแสดงของนักเรียนที่ประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอพียงในรูปของบทเพลง ละคร เรื่องเล่า ตลอดจนแอนนิเมชั่นต่างๆ อย่างน่าสนใจ
จากความสำเร็จในข้างต้น มูลนิธิสยามกัมมาจล และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) จัดเวทีตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง” ขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการนำผลสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อเป็นการประมวลผล และสังเคราะห์ความรู้ที่จะใช้ในการเผยแพร่ขยายผลต่อไป การจัดเวทีครั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกผลงาน และกิจกรรมเด่น ของสถานศึกษาในเครือข่ายมาจัดนิทรรศการ พร้อมทั้งมีการจัดแบ่งฐานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในห้องย่อย 10 ห้อง ประกอบด้วย ห้องย่อยที่ 1 เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ห้องย่อยที่ 2-9 เป็นการแลกเปลี่ยนของกลุ่มครูผู้สอนรายวิชา ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสาระวิชาต่างๆ และห้องสุดท้ายเป็นห้องที่เปิดโอกาสให้นักเรียนซึ่งได้นำหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องย่อยได้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละห้องได้สะท้อนถึงประโยชน์ที่ได้รับอย่างหลากหลาย ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละห้องได้ร่วมสะท้อนประโยชน์จากแลกเปลี่ยนรู้ดังนี้
คุณครูจิตรานนท์ เนื่องมัจฉา โรงเรียนดงใหญ่วิทยาคมรัชมังคลาภิเษก จ.มหาสารคาม กลุ่มครูวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวว่า วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจด้วยความสนุกสนานระหว่างผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างครูคณิตศาสตร์ พบว่ามีหลายโรงเรียนที่มีเทคนิควิธีการดีๆมาถ่ายทอดซึ่งกันและกันโดยเฉพาะการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทำให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนคณิตศาสตร์ได้ อาทิ การสอนเรื่องร้อยละ หรือจำนวนนับอาจใช้วิธีการแบ่งกลุ่มให้นักเรียนออกมาจดบันทึกเห็ด ที่ครูจัดเตรียมไว้หลายๆ ชนิดแล้วให้นักเรียนลองหาจำนวนร้อยละของเห็ดแต่ละชนิด หรือการสอนให้นักเรียนท่องจำเรื่องจำนวนเต็มด้วยเพลงพื้นบ้านอย่างหมอลำ ก็ทำให้จดจำสูตรคณิตศาสตร์ได้ง่าย และสนุกสนานมากขึ้นด้วย
สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ คุณครูอภิชาติ สมภาร อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนโพธิ์ชัยวิทยาคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในอดีตครูหลายคนอาจมองว่าการบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเนื้อหาวิชาค่อนข้างยาก แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูจากหลายๆโรงเรียนทำให้มีแง่คิดใหม่ๆ เช่น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน หรือ ทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการทดลอง ต้องให้นักเรียนได้คิดทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทำให้เด็กรู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และถอดองค์ความรู้ร่วมกับครู และแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการะบวนการเรียนการสอนได้
ส่วนสาระวิชาภาษาไทย คุณครูวณิชชา ร่ำร้อง จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จ.ระยอง กล่าวว่า จากการที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน ทำให้ตนได้รับการเติมเต็มเรื่องแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลึกซึ้งมากขึ้น แต่เดิมคิดว่าแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ เป็นหน้าที่ของกลุ่มสาระวิชาสังคม แต่เมื่อได้มาฟังครูผู้รู้ผู้มีประสบการณ์แล้วความคิดดังกล่าวก็เปลี่ยนไป พบว่า ในทุกๆ กิจกรรมที่ครูภาษาไทยสอน ทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน สามารถบูรณาการความพอเพียงเข้าไปได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับวิธีการเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการสร้างนิสัยรักการอ่านด้วยนิทานพื้นบ้าน สามารถให้นักเรียนไปเก็บข้อมูลจากครูภูมิปัญญามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ก็จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง
ขณะที่ในกลุ่มนักเรียน เป็นกลุ่มที่มีมีนวัตกรรมซึ่งเกิดจากการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนออกมาเป็นผลงานที่หลากหลาย ทั้งสื่อการเรียน เช่น นิทานเล่มเล็ก นิทานแอนนิเมชั่น หนังสั้น บทเพลง และการแสดงรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นอาชีพของนักเรียนและชุมชน อาทิ การทำสบู่ ทำขนม ทำเสื่อและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อ การเลี้ยงสัตว์และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร การทำน้ำหมักและปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น น.ส. มาลินี ณ เชียงใหม่ นักเรียนจากโรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม จ.เชียงราย กล่าวว่าเมื่อมาเรียนรู้จากเพื่อนๆ แล้วพบว่า ในผลงานของนักเรียนทุกๆ แห่งจะแฝงไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมของแต่ละภาคไว้ ทั้งเกม เพลง นิทาน หนังสั้น ซึ่งทุกๆ กิจกรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียน อีกทั้งยังสามารถนำเทคนิควิธีการสร้างนวัตกรรมของแต่ละโรงเรียนมาบูรณาการเป็นความคิดของตนเองได้
ในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษา นางกัญพิมา เชื่อมชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี 1 ใน 9 โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ กล่าวถึงการเข้าร่วมเรียนรู้ในเวทีเครือข่ายโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง มีประโยชน์มาก สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ เหมือนการเดินทางลัด อาทิ ในการเข้าร่วมเวทีตลาดนัดความรู้ภาคกลาง มีโรงเรียนหนึ่งนำเสนอ “กิจกรรม 1 ห้องเรียน 1 ความรู้” ก็ได้นำไปปรับเป็น “กิจกรรม 1 หอพัก 1 วัฒนธรรม” ให้นักเรียนแต่ละหอพักโรงเรียนได้ช่วยกันคิดกิจกรรมดีๆ ที่เป็นประโยชน์ หรืออีกกิจกรรมหนึ่งที่กำลังจะจัดให้มีขึ้น คือ การเปิดตลาดนัดความรู้ของชุมนุมต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อพัฒนากิจกรรมชุมนุมให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนมากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดตลาดความรู้ของเครือข่ายสถานศึกษาพอเพียงครั้งนี้ จะพบว่ามีเคล็ดลับในการบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สาระวิชาที่แตกต่างหลากหลายน่าสนใจ อย่างไรก็ตามการนำไปใช้จริงนั้นยังต้องคำนึงถึงบริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งเชื่อว่าในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไปจะมีความรู้ดีๆ มาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นแน่นอน โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลจะยังคงเป็นเพื่อนร่วมทางที่คอยให้การสนับสนุนเครือข่ายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายต่อไป
ประชาสัมพันธ์มูลนิธิสยามกัมมาจล โทร. 02-2701350