40 ปี มธบ. กับการเสวนาของ 4 นักเขียนคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2009 13:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--อิราโต้ พับลิชชิ่ง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 เวลา 9.00 น. -12.00 น. ภายในงาน มธบ.บุ๊คแฟร์ : มหกรรมหนังสือวิชาการ ฉลองครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้มีการจัดเสวนา “พบนักเขียน” ขึ้นที่ห้องประชุม 3-1 สนั่น เกตุทัต อาคาร 5 ชั้น 3 ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีวิทยากรคือ คุณสรกล อดุลยานนท์ (หนุ่ม เมืองจันท์) คุณปริญญา ธรรมโรจน์พินิจ (ขุนเขา ริมน้ำ) และคุณศิวาวุธ ไพรีพินาศ (เฉกชนม์) อ.การดา ร่วมพุ่ม เป็นผู้ดำเนินรายการ และร่วมเสวนา ซึ่งเนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้ มีการพูดคุย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลากหลายประเด็น เช่น การเริ่มต้นสู่อาชีพนักเขียน การเขียนงานอย่างไรให้โดนใจคนอ่าน การเขียนงานเพื่อส่งเข้าประกวด ธุรกิจสำนักพิมพ์ รายได้ของนักเขียนมีที่มาอย่างไรบ้าง การแปรงานเขียนจากหนังสือไปสู่สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นต้น คุณสรกล อดุลยานนท์ (หนุ่ม เมืองจันท์) บรรณาธิการ นักเขียน กล่าวว่า ความฝันของผมไม่ได้อยากเป็นนักเขียนนะครับ แต่บังเอิญเริ่มต้นมาทำงานข่าวที่ประชาชาติธุรกิจ จังหวะนั้นเป็นจังหวะช่วงเวลาที่พื้นที่ข่าวให้โอกาสมาก มันก็เลยเป็นการฝึกปรือฝีมือด้วยภาคบังคับ งานเขียนมาเริ่มต้นจริง ๆ ตอนเมื่อผมเขียนไปเรื่อย ๆ แล้วก็มีคุณเสถียร จันทิมาธร ของมติชนสุดสัปดาห์ เขาก็อยากได้ประวัตินักธุรกิจหนุ่มๆ คนนึง ก็เขียนสกู๊ปชีวิตเรื่องของทักษิณ ชินวัตร จะเป็นการเขียนของนักข่าว ก็คือการเรียบเรียงข้อมูลอะไรทั้งหมด มีสัมภาษณ์เสริมเล็กน้อย และก็เขียนจากการสังเกตการณ์ คือชีวประวัติจะมีการเขียนอยู่ 2 รูปแบบ หนึ่งก็คือ แบบนักข่าวก็คือ แบบผู้สังเกตและเล่าเรื่องให้ฟัง อันที่สองคือที่ผมเขียนเล่นเรื่องของคุณตัน โออิชิ อันนั้นเขียนแบบเป็นตัวเขา ก็คือสัมภาษณ์ และเขาก็มีสิทธิ์รีไร้ท์ และก็มีสิทธิ์ดูแลต้นฉบับก่อนแล้วค่อยออกมาตีพิมพ์ หลังจากผมเขียนตรงนั้นเสร็จ พี่เสถียรก็อยากจะให้ มีคอลัมน์ธุรกิจแบบง่าย ๆ ก็เลยตั้งชื่อคอลัมน์ว่า ฟ้าธุรกิจ ก็เป็นที่มาของนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์ ซึ่งเป็นนามปากกาที่ตั้งโดยความบังเอิญ เพราะว่าผมไม่ได้คิดว่าเป็นนามปากกา พอดีเขาถามว่าจะใช้นามปากกาอะไร ผมก็เห็นข้าง ๆ มีคอลัมน์แวะห้องโฆษณาโดยสาวระยอง พอสาวระยองก็เจอหนุ่มเมืองจันท์ คือไม่คิดว่าเวลามันเลื่อนไปเรื่อย ๆ พอเวลามันเริ่มเคลื่อนไปเรื่อย ๆ นามปากกาก็เป็นหนุ่มเมืองจันท์อยู่ ก็เริ่มเขียนคอลัมน์ หลักของผมก็คือทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด ก็คือ เมื่อเราลงมือเขียนหนังสือเราก็พยายามศึกษา และก็พยายามทำให้ดีที่สุด ความเป็นมืออาชีพของนักเขียนก็ไม่ได้อยู่ที่ชื่ออะไร ได้รางวัลอะไร แต่อยู่ที่ความมีวินัย นักเขียนบางท่านที่เป็นมืออาชีพเวลาส่งต้นฉบับ จะมีแผ่นดิสก์ มีต้นฉบับมาเรียบร้อย ถ้าต้องการรูปประกอบก็จะมีรูปประกอบส่งให้ทีเดียว แล้วในแต่ละวันของนักเขียนมืออาชีพ คือ ตื่นเช้ามาต้องอ่านข้อมูล มีช่วงไหนที่ต้องวางแผนการเขียนบ้างนิตยสารเล่มนี้ไปเล่มไหน เรื่องสั้นบ้าง นิยายบ้าง เขาจะมีวิธีการของเขาแล้วก็สร้างตัวเองให้มันกว้างขึ้น แทนที่จะไปโฟกัสตัวเองว่าจะต้องเขียนเรื่องสั้นเท่านั้น เขาก็มีนวนิยายและก็มีคอลัมน์ของเขาด้วย รวมทั้งมีความหลากหลายของข้อมูลที่ค้นคว้าเอง ซึ่งนักเขียนอย่างนี้จะเลี้ยงตัวได้ ตั้งแต่นักเขียนนิยายสมัยทมยันตี เค้ามีวินัยหมดเลยนะครับ ว.วินิจฉันกุล มีวินัย มีเวลา รู้ว่าต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นนักเขียนเป็นอาชีพได้ ส่วนประเด็นที่ว่าไส้แห้งหรือเปล่า ปลอดภัยที่สุดควรมีงานประจำ ถ้าคุณเป็นมืออาชีพ คุณมีความคำนึงถึงตลาด มองว่าตลาดต้องการแนวไหน ก็เขียนแนวนั้น รายได้ของนักเขียนวันนี้ ผมว่าไม่ควรจะเขียนรวมเล่มเพียงอย่างเดียว ภารกิจได้ตังค์นั่นแหละที่นักเขียนชอบ เพราะกินสองครั้ง ครั้งแรกคือการได้ค่าเรื่องจากการลงแมกกาซีนหนึ่งครั้ง ครั้งที่สองคือเริ่มตีพิมพ์เป็นเล่ม และการลงแมกกาซีนเป็นการสร้างผลงานที่กว้างเพราะ เวลาที่เขาซื้อหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้ซื้อเพราะเรา อาจจะซื้อเพราะคนอื่น แต่เนื่องจากว่าเขากลัวขาดทุนเลยอ่านของเราด้วย เราก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นพอเป็นที่รู้จักมากขึ้น เวลาที่เราพิมพ์เล่ม ก็มีสิทธิ์ที่จะเขาจะตามเก็บเพราะอาจจะลืมบทแรกที่เราเขียนไปแล้ว ก็จะทำให้ตลาดกว้างขึ้น ฉะนั้นถ้านักเขียนอาชีพจริง ๆ ค่าเรื่องในวันนี้ถือว่า บังเอิญภาษาไทยมันมีข้อจำกัด ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนี้มันจะกว้างมาก ฉะนั้น ถ้าสรุปตอนนี้ว่านักเขียนไส้แห้งหรือเปล่านั้น มันก็แล้วแต่คน คือเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดคือ 1.งานประจำ 2.ทำงานเขียนไปด้วย คือผมว่าทุกอย่างมีช่องทางและก็มีโอกาสของมัน ผมว่านักเขียนก็เป็นอาชีพ ๆ หนึ่งได้ คุณปริญญา ธรรมโรจน์พินิจ (ขุนเขา ริมน้ำ) นักคิด นักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์ กล่าวว่า เป็นคนที่มีเส้นทางการเขียนแบบโดด เพราะจากอาชีพอิสระในแวดวงบันเทิง ก็พลิกมาสู่การเขียนงานรวมเล่มในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊ค และทำหนังสือเอง ซึ่งงานเขียนขุนเขา ริมน้ำเป็นแนวความคิด ความรู้สึก ก็คือมันไม่ใช่หนังสือ how to มันมีที่ทางของมันโดยเฉพาะ ดังนั้น การหาสำนักพิมพ์คงลำบากนิดนึงที่เก็ตความเป็นเรา เก็ตสิ่งที่เราสื่อสาร มันไม่ใช่ how to แต่ว่าเหมือนขุนเขา ริมน้ำเห็นโลกแบบนี้ แล้วคุณล่ะ คือเราบอกไม่ได้ว่าเราต้องคิดแบบไหน ต้องใช้ชีวิตแบบไหนอะไรที่เป็นเป้าหมายของมนุษย์ แต่เพราะว่าพื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเรามีพื้นฐานมีเป้าหมายแตกต่างกัน ฉะนั้น ก็คือส่งเสริมการกระตุ้นและคิดต่อ ทีนี้พอเราเขียนหนังสือในแบบที่เราอยากเขียน เล่าเรื่องในแบบที่เราอยากเล่า ทำหนังสือเพราะอยากขับเคลื่อนความคิดสู่สังคม เราไม่ได้บอกว่าความคิดเราดี ถูกต้อง เพียงแต่ว่าอยากแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอ่าน เคยมีนิตยสารสัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำหนังสือว่าคิดยังไงคะที่มาทำหนังสือในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เราไม่คิดนะว่าปีไหนเศรษฐกิจดี ไม่ดี เพราะไม่เห็นว่าปีไหนที่เศรษฐกิจดี คิดว่าถ้าเราพร้อม เราก็ควรเริ่มต้นทำสิ่งที่ตั้งใจ เพราะถ้ารอเศรษฐกิจดี กว่าเราจะตั้งหลักได้เศรษฐกิจอาจทรุดลงมาอีก ฉะนั้นถ้าพร้อมก็ลงมือทำ อาชีพนักเขียน ถ้าคุณหาจุดขายในตลาดได้โดดเด่นพอ หาสไตล์ จุดขายของตัวเองเจอและมีวินัย ก็อยู่อย่างสบาย สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับตัวให้เข้ากับตลาดอยู่ตลอด หรือว่าฉันเป็นฉันแล้วรอคนอื่นมาเจอ ซึ่งเปิ้นก็เป็นอย่างหลัง ซึ่งไม่ดีน่ะ คือเราเชื่อว่าทุก ๆ อย่างมันมีที่ทางของมันแต่ว่าเปิ้นคิดว่าทุกวันนี้ในตลาดหนังสือ เพลง หนัง อะไรก็ตาม มันมีคนอยู่ไม่กี่คนที่จำกัดหรือเลือกสื่อให้ผู้บริโภคเสพ ทีนี้เรารู้สึกว่าคนเราต้องมีทางเลือกอย่างอื่นสิ เหมือนคนไทยโตมากับเพลงแกรมมี่ อาร์เอสเท่านั้นน่ะ คุณก็คิดว่า มอส เนี่ยเป็นศิลปินที่ฉันชอบ แต่คุณไม่เคยฟังเพลย์กราวน์ ไม่เคยฟังเพลงอินดี้สไตล์อื่น ๆ ก็อาจจะไม่รู้ว่ามีเพลงสไตล์นี้ด้วยนะ ซึ่งการทำสื่อเหล่านี้ออกไปอาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้เสพ งานเขียนที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคนเขียนเองเชื่อแล้วก็อินไปกับมัน เพราะถ้าเรารักเราเชื่อเราให้ใจกับมัน มันก็ออกมาดี คนอ่าน อ่านแล้วก็คล้อยตามได้ ทีนี้ถามว่างานศิลปะประเภทไหน ชิ้นไหนดี เป็นเรื่องของรสนิยม บางที ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้เราทานแล้วอร่อยคนอื่นทานอาจจะไม่อร่อย ซึ่งสุดท้ายการเสนองานเขียน ก็ต้องเลือกเจ้าบ้านให้ตรงกับงานของเรา และต้องเข้าให้ถูกทางด้วย การเอาหนังสือมาทำหนังหรือละครมันก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง คือนอกจากแง่มุมเจ้าของบทประพันธ์ ก็คือเรื่องของเวลาด้วย อย่างหนังสือไม่ได้จำกัดเวลาคิดและจินตนาการ มุมกล้อง มุมภาพ มันอยู่ที่จินตนาการของคุณ และแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก การทำหนังหรือละครให้ออกมาโดนและตรงใจคนอ่าน เรามองว่ายาก และอีกอย่างคือเงื่อนไขการตลาด สปอนเซอร์ ซื้อไม่ซื้อ เรื่องคิวดาราเก่าให้คิวจำกัด แต่นายทุนบอกว่าดาราใหม่ไม่ขาย และที่สำคัญอีกอย่างคือ การตีความของผู้กำกับ การเล่าเรื่องผ่านภาพในมุมของช่างภาพด้วย และสุดท้ายก็อยู่ที่การตัดต่อด้วย คุณศิวาวุธ ไพรีพินาศ (เฉกชนม์) นักเขียน คนเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า จริง ๆ ผมก็เคยมีความคิดนานมากจริง ๆ ว่าอยากจะพิมพ์งานเอง จึงค่อนข้างที่จะชื่นชมขุนเขา ริมน้ำ คือผมพิมพ์งานมา ด้วยความที่เป็นนักเขียน เราก็สบายนะ เรารับค่าต้นฉบับ คือ หนังสือขายไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าหนังสือของเราขายได้ ก็เหมือนสำนักพิมพ์เอาเงินของเรามาจ่ายเรา แต่พอได้มาสัมผัสกับขุนเขา ริมน้ำ จึงได้รู้ว่าคนที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เขาภาระเยอะกว่า งานเราจบตอนที่เราส่งต้นฉบับ แล้วเราก็รออย่างเดียวว่าเมื่อไหร่จะได้ค่าต้นฉบับ แต่ผมก็พยายามอยากจะทำด้วย ความที่หนังสือเราขายได้ ก็อยากจะทำหนังสือพิมพ์ออกมาเอง แต่ว่าจนทุกวันนี้คิดมา 5-6 ปี แต่ขุนเขา ริมน้ำ คิดไม่เท่าไหร่มีผลงานออกมา 6 เล่มแล้ว มีคำที่เป็นคำคลาสสิค คือ นักเขียนไส้แห้ง ไส้แห้งจริงหรือเปล่า ผมก็ได้คุยกับ อ.การดา หรือเพียงแต่ว่าเราไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพนะ เราเป็นมือสมัครเล่น บางทีเป็นนักเขียนก็รายได้ดีกว่าการทำงานปกติเป็นสองเท่าก็เลยสงสัยว่านักเขียนไส้แห้งจริงรึเปล่า ดูอย่างอย่างเจ เค โรลิ่ง เนี่ยไส้แห้งมากเลย!!! การเขียนนิยาย ผมว่าใครเขียนนิยายนี่ค่อนข้างจะได้เปรียบ มันจะมีงานหลายจ๊อบมาก อย่างผมเขียนก็จะมีโอกาสที่นิยายจะเอาไปทำละครโทรทัศน์ แล้วถ้าผมเขียนบทละครได้ด้วยก็จะดี ในจังหวะตรงนั้นก็คือ ลงนิตยสารก็ได้ รวมเล่มก็ได้ค่าคอลัมน์ ไหนจะค่าลิขสิทธิ์นิยายกรณีที่คนซื้อจะไปทำละครโทรทัศน์อีก ถ้าเกิดใครสามารถเขียนบทละครได้ก็ฝากไว้เผื่อนักศึกษาใครที่สนใจงานเขียนบทละครก็ถือว่าเป็นงานที่รายได้ดีมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง บทละครที่เป็นตอน ตอนหนึ่งชั่วโมงก็ประมาณ 10-12 หน้า ก็อยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าบาท แล้วพอไปรวมเล่มเราก็จะได้ค่าลิขสิทธิ์จากไทยรัฐ เรื่องละ 2 หมื่น คือมันเป็นงานเขียนที่ต่อเนื่องนะครับ พอเราเขียนนิยายได้เราจะรู้ว่าฟอร์แมตของการเขียนตัวละครนิดนึงก็ไปได้ เราไม่มีสิทธิ์จะบอกว่างานเขียนเราดีไม่ดี เพราะเราอาจจะชอบงานเขียนเราเอง ฉะนั้น คืออยากจะบอกว่าเวลาที่เราเขียนงานเขียน เราไม่ได้เขียนให้เราอ่าน พอเราเขียนเสร็จแล้วเราต้องให้คนอื่นตัดสิน แล้วห้ามโกรธด้วยเพราะเราให้คนอื่นอ่าน อย่างเขียนแล้วเก็บไว้เพราะเรารู้สึกไม่ดี อย่าตัดสินตัวเองเด็ดขาด บางทีเราอ่านหนังสือแล้วใช้จินตนาการ พอเป็นหนังบางทีมันก็มีเวลาจำกัดมันต้องตัดเอาเฉพาะตอนที่สำคัญ ๆ เจ้าของบทประพันธ์บางคนเขาก็ชมนะว่าทำหนังสนุกว่าหนังสืออีก สิ่งที่เราควรทำในการเขียนบทคือ เก็บเอาโครงหลักไว้ บางทีเหตุการณ์ความเป็นหนังสือมันอาจจะไม่สนุก อย่างความสุขของกะทิ ตอนเป็นหนังสืออาจจะเพลิน แต่พอเป็นหนังมันจะสุขมากไม่ได้ ต้องให้กะทิทุกข์บ้าง ยิ่งในการเขียนบทมีการโยนหินมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้หนังสนุกมากขึ้นเท่านั้น แฟนนักอ่านจะมีปัญหามาก พอคนดูหนังมาอ่านหนังสือจะบอกว่าไม่เหมือนหนัง เราต้องแยกให้ออก หรือไม่ก็พยายามอ่านหนังสือ อย่าไปดูหนังดีกว่า อ.การดา ร่วมพุ่ม (วลีวิไล) นักเขียน รองคณบดีฝ่ายบริหาร หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เคยตัดสินการประกวด แล้วมีงานเขียนเล่มหนึ่งเป็นนิยายมีสาระมาก สำนวนดีมาก ตอนอ่านโคตรอึดอัดเลย เมื่อไหร่จะจบซักที กับอีกเรื่อง อ่านแล้วสนุก ถ้าให้คะแนนตามวิชาการเรื่องนี้ต่ำกว่าครึ่ง แต่ความประทับใจได้เต็ม มันต่างกันนะกับอีกเรื่อง ตอนตัดสินเนี่ยทั้งสองเรื่องไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่เราคุยกันว่าเล่มไหนคือเล่มที่จะขายได้ ฉะนั้น มันอยู่ที่มุมเราว่าไปอยู่ในสำนักพิมพ์ไหนแบบไหน เรื่องของวัยของนักเขียนในแง่ของความสามารถไม่มีผลเลย ในแง่ที่ว่าใครจะเขียนแนวไหน คือประสบการณ์ชีวิต หรือว่าแนวคิดมุมมอง แต่จะมีผลในแง่ที่ว่า ความรู้จริงในเรื่องตรงนั้น เช่น สมมุติว่า 14 จะเขียนเรื่องที่ซีเรียสมาก ทำงานและบริษัทล้มละลาย ก็ต้องทำการบ้านเยอะ หาข้อมูลมาซัพพอร์ต แต่ในส่วนของดิฉันเองมันก็มีแฟนหนังสือในวัยนักศึกษา วัยเรียนเยอะ อย่างนักเขียนบางทีก็จะเป็นที่ปรึกษาให้แฟนคลับด้วย กลายเป็นว่าเค้าไว้ใจเรามากกว่าที่อ่านหนังสือของเรา คือเราไม่ใช่แค่คนเขียนน่ะ แต่เราเป็นเหมือนไอดอลบางอย่างของเขา เดี๋ยวนี้วงการหนังสือก็มีแมวมอง เหมือนตามสยามเซ็นเตอร์ อย่างในเว็บก็มีแมวมองนะ บล็อกไหนคนเข้าไปเยี่ยมเยอะ ฉะนั้นเข้าไปในเวบเด็กดี พันธ์ทิพย์ พวกสำนักพิมพ์จะส่งคนเข้าไปอ่าน ดูเรื่องที่น่าสนใจ อย่างบล็อกก็เป็นคอมมูนิตี้ มีคนที่มาลงชื่อ จากคนที่สองไปสาม ก็จะเป็นแบบการแบ่งกันอ่านจริงๆ ก็สร้างบรรยากาศในการอ่านด้วย ในช่วงท้ายของการเสวนานั้น มีนักศึกษา และอาจารย์ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาหลายท่านร่วมซักถามและเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมกับวิทยากร ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งทำให้บรรยากาศการเสวนาเป็นไปอย่างสนุกสนานแต่ได้เนื้อหาสาระ และจบลงด้วยความประทับใจในที่สุด อิราโต้ พับลิชชิ่ง เบอร์โทรศัพท์ : 08-6565-5620

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ