กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--
เกี่ยวกับงานสร้าง
ในนิวยอร์ก ซิตี้ โลกแห่งความเริ่ดหรู รีเบ็กก้า บลูมวู้ดเป็นหญิงสาวรักสนุกที่เป็นนักช้อปที่เก่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะเก่งเกินไปก็ได้ เธอใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานกับนิตยสารแฟชันโปรดของเธอ แต่เธอก็ไม่มีโอกาส จนกระทั่งเธอคว้างานคอลัมนิสต์นิตยสารการเงินที่ตีพิมพ์โดยบริษัทเดียวกันได้ ขณะที่ความฝันของเธอกำลังจะเป็นจริงเสียที เธอก็ทำเรื่องน่าขบขันด้วยความพยายามสุดๆ ที่จะป้องกันไม่ให้อดีตของเธอมาทำลายอนาคตของเธอ
อิสลา ฟิชเชอร์ (“Wedding Crashers,” “Definitely, Maybe”) นำแสดงในภาพยนตร์จากเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ผู้อำนวยการสร้างบล็อกบัสเตอร์ (“Pirates of the Caribbean” trilogy, “National Treasure,” “National Treasure: Book of Secrets”) และผู้กำกับพี.เจ. โฮแกน (“My Best Friend’s Wedding”) บทภาพยนตร์โดยเทรซีย์ แจ็คสัน, ทิม เฟิร์ธและเคย์ลา อัลเพิร์ต จากนิยายเรื่อง “Confessions of a Shopaholic” และ “Shopaholic Takes Manhattan” โดยโซฟี คินเซลลา
ฮิวจ์ แดนซี (“Black Hawk Down,” “Ella Enchanted,” “King Arthur”) รับบทบรรณาธิการของรีเบ็กก้า ผู้ซึ่งเธอแอบปิ๊ง โจอัน คูแซค (ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจาก “Working Girl” และ “In & Out”) และจอห์น กู๊ดแมน (เจ้าของรางวัลเอ็มมีจากซีรีส์ “Rosanne”) รับบทพ่อแม่ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวของสาวนักช้อป ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังร่วมแสดงโดยทีมนักแสดงระดับแนวหน้าได้แก่ จอห์น ลิธโกว์ เจ้าของสี่รางวัลลูกโลกทองคำ (ซีรีส์ “3rd Rock From the Sun”), คริสติน สก็อตต์ โธมัส ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ (“The English Patient,” “The Horse Whisperer”), เลสลีย์ บิ๊บบ์ (“Iron Man,” “Talladega Nights: The Legend of Ricky Bobby”), เฟร็ด อาร์มิเซน ((“Saturday Night Live”), จูลี ฮาเกอร์ตี้ (“Airplane!,” “Lost in America”), คริสเตน ริตเตอร์ (“What Happens in Vegas”), โรเบิร์ต สแตนตัน (“Find Me Guilty,” “The Quiet American”), คริสติน อีเบอร์โซล (เจ้าของสองรางวัลโทนี อวอร์ดจาก “42nd Street” and “Grey Gardens”), คลี ลูอิส (ซีรีส์ “Ellen”) และเวนดี้ มาลิค (ซีรีส์ “Just Shoot Me”)
“Confessions of a Shopaholic” อำนวยการสร้างบริหารโดยไมค์ สเตนสัน, แชด โอมานและรอน บอซแมน โดยมีแพท แซนด์สตัน, เมลิสซา รี้ดและโซฟี คินเซลลารับหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง ทีมงานเบื้องหลังยังรวมถึงผู้กำกับภาพ โจ วิลเลมส์ (“30 Days of Night”) และผู้ออกแบบงานสร้าง ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด คริสตี้ ซี (“The Departed,” “The Silence of the Lambs”) ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายคือผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด และเจ้าของสี่รางวัลสมาพันธ์ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แพทริเซีย ฟิลด์ (ซีรีส์ “Sex and the City,” “The Devil Wears Prada,” “Sex and the City: The Movie”) ภาพยนตร์เรื่องนี้ลำดับภาพโดยวิลเลียม โกลเดนเบิร์ก (ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์จาก “Seabiscuit” และ “The Insider”) คอมโพสเซอร์คือเจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด(“My Best Friend’s Wedding,” “Michael Clayton” และ “King Kong”) ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงเจ็ดรางวัลออสการ์
จากนิยายขายดีสู่ภาพยนตร์จอเงิน
ทีมผู้สร้างเลือกซีรีส์ “Shopaholic” จากฝีมือนักเขียนนิยายโซฟี คินเซลลา
“Confessions of a Shopaholic” ผลงานของโซฟี คินเซลลาและนิยายภาคต่ออีกสี่เล่มของเธอ (“Shopaholic Takes Manhattan,” “Shopaholic Ties the Knot,” “Shopaholic and Sister” และ “Shopaholic and Baby”) กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ด้วยการได้รับความชื่นชมในหมู่ผู้อ่านอย่างสูง หนังสือแต่ละเล่มติดลิสต์เบสต์เซลเลอร์ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ และในช่วงหนึ่ง คินเซลลามีหนังสือสามเล่นติดอันดับท็อปเท็นของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ด้วยซ้ำไป
ความสำเร็จของซีรีส์นี้ไปสะดุดตาผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์เข้า “บริษัทของเรามองหาไอเดียสดใหม่เสมอครับ” บรั๊คไฮเมอร์บอก “โซฟีคอยช่วยเราตลอดกระบวนการสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อทำให้แน่ใจว่าการนำเรื่องราวของรีเบ็กก้า บลูมวู้ดขึ้นจอเงินจะยังคงรักษาหัวใจและธีมของฉบับนิยายเอาไว้ได้”
แชด โอมาน ผู้อำนวยการสร้างบริหารเล่าว่า “ตอนที่ผมได้อ่านนิยายเรื่องนี้ ผมก็รู้ตั้งแต่ 10-15 หน้าแรกว่ามันเป็นหนังที่เราอยากจะสร้าง มันเป็นหนังสือที่ฉลาด เฉียบแหลม มีเสน่ห์และมีอารมณ์ลึกซึ้งมากๆ เลยล่ะครับ”
“ถ้าคุณมองวิกฤตการณ์หนี้สินในอเมริกาตอนนี้ ที่ทุกคนมีเครดิตการ์ด 27 ใบ ทุกคนก็เข้าใจรีเบ็กก้า บลูมวู้ดทั้งนั้นแหละครับ” ผู้อำนวยการสร้าง ไมค์ สเตนสัน กล่าว
คินเซลลาแนะนำรีเบ็กก้า บลูมวู้ดให้ผู้อ่านรู้จักเมื่อแปดปีก่อน นับตั้งแต่นั้นมา ผู้อ่านกว่า 15 ล้านคนใน 35 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอเมริกา สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตกและตะวันออก สแกนดิเนเวีย ตุรกี ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ไทยและเวียดนาม ต่างก็หลงรักสาวนักช้อปผู้น่ารัก และมองโลกในแง่ดีเสมอคนนี้อย่างหัวปักหัวปำ
สำหรับผู้ที่จะมานั่งแท่นผู้กำกับ “Confessions of a Shopaholic” เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ได้เลือกพี.เจ. โฮแกน ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ผู้ขยับมาทำงานในอเมริกา ให้มารับหน้าที่นี้ “ผลงานของพี.เจ. มีสัมผัสละเอียดอ่อนแบบที่เราต้องการสำหรับหนังเรื่องนี้ครับ” ผู้อำนวยการสร้างบอก “ทั้ง ‘Muriel’s Wedding’ และ ‘My Best Friend’s Wedding’ ต่างก็เป็นหนังที่ผมชอบดูทั้งสองเรื่อง เขามีอารมณ์ขันที่วิเศษสุดและมีแง่มุมโรแมนติกที่น่ารักอีกด้วยครับ”
“รีเบ็กก้า บลูมวู้ดเป็นตัวละครที่ผมเข้าใจดีเลยล่ะครับ” โฮแกนบอก “นักช้อปเป็นคนที่เชื่อในเรื่องช้อปปิ้งบำบัดอย่างจริงๆ จังๆ รู้สึกแย่เหรอ ไปช้อปสิ แล้วคุณจะเริงรื่นขึ้นมาทันที ทุกคนเข้าใจเรื่องนั้นได้ครับ ตอนที่เราหดหู่ เราต่างก็เคยไปช้อปปิ้งให้อารมณ์ดีกันทั้งนั้น แต่รีเบ็กก้าหยุดไม่ได้ครับ เธอไม่เคยปฏิเสธสินค้าลดราคาเลยซักครั้ง”
สำหรับเวอร์ชันภาพยนตร์ ทั้งฉากและสัญชาติของรีเบ็กก้าได้ข้ามฟากไปทางตะวันตกสู่อเมริกา “แน่นอนค่ะว่าในความคิดของฉันและในหนังสือ เธอจะเป็นคนอังกฤษเสมอ” นักเขียนสาวบอก “แต่ฉันได้เจอกับเบ็กกี้ บลูมวู้ดทั่วโลก ทุกสัญชาติมาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับฉันก็คือการที่ในหนังเรื่องนี้ เราจะต้องมีหัวใจของเธอ ข้อบกพร่องของเธอและความตลกขบขันของเธอ หนังเรื่องนี้ได้ใช้องค์ประกอบจากซีรีส์สาวนักช้อปสองเล่มแรก ซึ่งจริงๆ แล้วเล่มที่สองมีเรื่องราวเกิดขึ้นในนิวยอร์ก ซีนที่ฉันชอบหลายๆ ซีนก็อยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย และการได้ดูพวกเขาถ่ายทำฉากพวกนั้นก็เป็นความสุขที่สุดเลยล่ะค่ะ เรื่องราวของเบ็กกี้สอดคล้องกับยุคสมัยของเราเพราะเธอก็พยายามจะประหยัดเงิน เก็บซ่อนเครดิตการ์ดของตัวเองและเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองค่ะ”
ช้อปปิ้งหานักแสดงที่เพอร์เฟ็กต์
ทีมผู้สร้างเลือกอิสลา ฟิชเชอร์มารับบทนางเอกของเรื่อง
ทีมผู้สร้างรู้ดีว่า ผู้ที่จะมารับบทนางเอกของ “Confessions of a Shopaholic” จะต้องเป็นนักแสดงที่มีชีวิตชีวาและพิเศษสุด พวกเขาก็เลยทาบทามอิสลา ฟิชเชอร์ให้มารับบทนี้
“เธอขโมยหัวใจของผู้ชมไปได้จาก ‘Wedding Crashers’ และ ‘Definitely, Maybe’ ครับ” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “ใน ‘Confessions of a Shopaholic’ เธอเป็นผู้แบกรับหนังทั้งเรื่อง มันน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นไหวพริบ ความเฉลียวฉลาดและจังหวะการเล่นตลกของเธอในเกือบจะทุกซีนครับ”
“ผมคิดว่าอิสลาน่าจะเพอร์เฟ็กต์สำหรับบทนี้ครับ” ผู้กำกับพี.เจ. โฮแกนกล่าวเสริมขึ้น “คนที่จะมารับบทนี้ได้จะต้องเป็นคนที่ผู้ชมชื่นชอบในทันทีและมีพรสวรรค์ด้านการแสดงเป็นเยี่ยมด้วย ที่สำคัญ อิสลาเป็นนักแสดงตลกที่มีพรสวรรค์มากๆ เธอเป็นผู้หญิงสวยที่ไม่กลัวที่จะทำให้ตัวเองขายหน้า เธอไม่กลัวอะไรเลย ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ตัวละครตัวนี้ต้องการครับ”
นักเขียนเจ้าของเรื่องและผู้ช่วยอำนวยการสร้าง โซฟี คินเซลลากล่าวเห็นพ้องด้วย “อิสลาเยี่ยมไปเลยค่ะ เธอตลก อบอุ่น มีเสน่ห์ และเธอก็เป็นผู้หญิงแบบที่คุณอยากให้เป็นเพื่อนสนิทของคุณน่ะค่ะ”
เช่นเดียวกัน ฟิชเชอร์เองก็เป็นแฟนซีรีส์ “Shopaholic” ของคินเซลลามานานก่อนที่เธอจะถูกทาบทามให้รับบทรีเบ็กก้า บลูมวู้ด “ฉันได้อ่านหนังสือทุกเล่มตอนที่ฉันทำงานในลอนดอนค่ะ” เธอบอก “คนมักจะพูดถึงหนังสือพวกนี้ว่า ‘ชิคลิท’ แต่ฉันคิดว่าคำใช้เรียกที่เหมาะสมกับมันคือ ‘วิทลิท’ เพราะมันตลกจริงๆ ค่ะ ฉันรู้สึกว่าหนังสือเรื่องนี้เข้าถึงฉันจริงๆ ฉันโชคดีจริงๆ ที่ได้รับบทนี้ค่ะ”
“รีเบ็กก้าเป็นตัวละครที่เยี่ยมมากๆ ค่ะ” ฟิชเชอร์กล่าวต่อ “เธอน่ารัก มองโลกในแง่ดี มีความสุข เป็นหญิงสาวนักช้อปที่ตกหลุมรักข้าวของที่มีประกายระยิบระยับ เธอมีความอยากได้ของใหม่ๆ แบบเด็กๆ เบ็กกี้เป็นคนอบอุ่น น่ารักและมีข้อบกพร่องร้ายแรง และเธอก็มีความคิดอ่านแบบผู้บริโภคทั่วๆ ไปด้วยค่ะ”
ฟิชเชอร์ยอมรับว่า เธอเข้าใจดีถึงความรักการช้อปปิ้งของตัวละครของเธอ “ฉันคลั่งไคล้กระเป๋าและรองเท้าค่ะ” เธอบอก “ฉันมีรองเท้าหลายคู่มากจนน่ากลัวเลยล่ะ”
ทีมผู้สร้างได้เลือก ฮิวจ์ แดนซี นักแสดงชาวอังกฤษ ให้มารับบทลุค แบรนดอน บรรณาธิการบ้างานของนิตยสารที่รีเบ็กก้าได้งานในฐานะคอลัมนิสต์คอลัมน์การเงิน
“ฮิวจ์ แดนซีเป็นคนที่เราเคยร่วมงานด้วยมาก่อน” บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เขาเคยรับบทหมอชมิดท์ใน ‘Black Hawk Down’ แล้วก็กาลาฮัดใน ‘King Arthur’ ผมคิดว่าเขาเป็นนักแสดงหนุ่มที่วิเศษสุด หน้าตาดี มีเสน่ห์ และผมก็คิดว่า ต่อไปเขาจะต้องเป็นดาราใหญ่แน่ๆ”
พี.เจ. โฮแกนกล่าวเสริมว่า “เปรียบกันแล้วฮิวจ์เป็นน้ำแข็งในขณะที่อิสลาเป็นไฟครับ พวกเขาต่างก็เป็นสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ และพวกเขาก็เข้าคู่กันได้อย่างพอดิบพอดีครับ ฮิวจ์จะต้องเป็นคนอังกฤษแบบในหนังสือ แล้วเขาก็มีกลิ่นไอแบบที่ลุค แบรนดอนในหนังสือมี ลุคดึงเบ็กกี้ให้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและเธอก็ใส่ชีวิตชีวาในชีวิตของเขา ด้วยความที่เขาเป็นคนทุ่มเทให้กับการงานแล้วปล่อยให้ชีวิตผ่านเลยเขาไปน่ะครับ”
“เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว ลุคดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เบ็กกี้สนใจแบบสุดขั้วเลย” แดนซีกล่าว “เขาไม่สนใจในเรื่องเสื้อผ้าและช้อปปิ้ง และเขาก็ตกหลุมรักโลกของการเงิน ที่เธอมีปัญหากับมันอย่างเห็นได้ชัด แต่พวกเขาก็เหมือนกับคู่กิ่งทองใบหยก ที่ความแตกต่างในตอนแรกๆ จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่ถูกใจกันและกันครับ”
“ฮิวจ์ตลกมากๆ ค่ะ” ฟิชเชอร์กล่าว “เขาเป็นคนติดดิน มีความคิดอ่านแบบอังกฤษจ๋า เขาเป็นคนมีไหวพริบ ตลกหน้าตายแล้วก็ฉลาดเอามากๆ ฉันคิดว่าเขานำคุณสมบัติทั้งหมดนี้มาสู่ตัวลุคและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับรีเบ็กก้าก็น่ารักมากๆ เลยค่ะ”
ผู้ที่รับบทเป็นเกรแฮมและเจน บลูมวู้ด พ่อแม่ที่น่ารักแม้จะแปลกๆ อยู่ซักหน่อยของเบ็กกี้คือจอห์น กู๊ดแมนและโจอัน คูแซค นักแสดงอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุด เกรแฮมและเจนต่างกับลูกสาวตรงที่พวกเขาเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวและก็พวกเขาก็ภูมิใจในคุณสมบัติข้อนี้ของพวกเขาซะด้วย
คูแซคกล่าวว่า “การช้อปปิ้ง เสื้อผ้าและการซื้อขายก็สนุกดีนะคะ แต่ความรักในของพวกนี้ก็จะออกมาในรูปแบบที่ต่างออกไปถ้าคุณถูกมันควบคุมอย่างเบ็กกี้”
กู๊ดแมนกล่าวถึงตัวละครของเขาว่าเป็นที่มาของข้อเสียบางอย่างในตัวรีเบ็กก้า “เกรแฮมเป็น ‘ตาแก่น่ารักธรรมดาๆ’ เป็นคนทั่วๆ ไป เขามีลูกสาวคนสวยที่สืบทอดนิสัย ‘เรื่อยๆ สบายๆ’ ของพ่อแม่มาน่ะครับ”
คริสเตน ริตเตอร์ นักแสดงสาวดาวรุ่งผู้ร่าเริงสดใส เหมาะสมกับบทซูส คลีธ-สจวร์ต รูมเมตผู้ร่ำรวยของเบ็กกี้อย่างยิ่ง “ฉันเคยอ่าน ‘Shopaholic’ สองเล่มแรกแล้วก็ทึ่งว่ามันเป็นหนังสือที่วางไม่ลงแค่ไหน” ริตเตอร์บอก “ฉันตกหลุมรักตัวละครของโซฟี คินเซลลา ซูสเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่คุณหวังจะมีได้ เธอกับเบ็กกี้มีนิสัยคล้ายๆ กันและเป็นคู่หูในการทำป่วนด้วย พวกเธอชอบเสื้อผ้าและการช้อปปิ้งจริงๆ แต่ด้วยความที่ครอบครัวซูสเป็นคนรวย เธอก็เลยไม่ค่อยเข้าใจปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นของเบ็กกี้ซักเท่าไหร่น่ะค่ะ”
จอห์น ลิธโกว์ได้รับบทเอ็ดการ์ เวสต์ มือดีของนิตยสาร นักแสดงหนุ่มกล่าวว่าเขารู้สึกสนใจเรื่องราวความรักของภาพยนตร์เรื่องนี้ “อิสลากับฮิวจ์เป็นเหมือนไอรีน ดันน์และแครี แกรนท์วัยหนุ่มสาวครับ มันเหมือนหนังที่ย้อนกลับไปสู่ยุควิเศษสุดที่มีตัวละครวิเศษสุดกับฉากหลังหรูหราตระการตา” ลิธโกว์กล่าว “ผมชอบตรงที่ในหนังเรื่องนี้ เบ็กกี้ได้นำชีวิตชีวา อารมณ์ขันและจิตวิญญาณมาสู่โลกการเงินที่เป็นสีเทา และตัวละครของผมก็ได้ค้นพบตัวตนของผู้หญิงคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ”
คริสเตน สก็อตต์ โธมัส นักแสดงชาวอังกฤษรับบทอาเล็ตต์ เนย์เลอร์ บรรณาธิการแฟชันชาวฝรั่งเศส โชคดีที่นักแสดงสาวใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสมาได้หลายปีแล้ว “ฉันพูดได้สองภาษา และเคยแสดงหนังฝรั่งเศสหลายเรื่องแล้ว ฉันก็เลยพูดด้วยสำเนียงฝรั่งเศสได้ค่อนข้างเป็นธรรมชาติค่ะ” เธอกล่าว “อาเล็ตต์ไม่ค่อยเข้าใจโลกที่แท้จริงนัก แต่จริงๆ แล้ว เธอก็มีความปรารถนาดีนะคะ”
เลสลีย์ บิ๊บบ์ รับบทอลิเซีย บิลลิงตัน ทีมงานนิตยสารอาเล็ตต์จอมวางแผน “ฉันชอบการรับบทตัวร้ายค่ะ” นักแสดงสาวยอมรับ “ฉันชอบรับบทผู้หญิงที่ไม่น่ารักซักเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างเบ็กกี้และอลิเซียทำให้ฉันนึกถึงการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง ซึ่งฉันรู้สึกว่าทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ลึกซึ้งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ฉันยังรู้สึกสนใจทีมนักแสดงชั้นเยี่ยม และการที่เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ เป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ พี.เจ. โฮแกนเป็นผู้กำกับ แล้วฉันยังจะได้แต่งตัวจากเสื้อผ้าที่คัดเลือกโดยแพทริเซีย ฟิลด์ ซึ่งเป็นไอเดียที่เย้ายวนน่าดูเลยนะคะ”
โรเบิร์ต สแตนตันยอมรับว่า เขาเหมาะกับบทดีเร็ค สมีธ ผู้ตามเก็บหนี้ มากกว่าที่ทีมผู้สร้างคิดไว้เสียอีก “งานเดียวที่ผมเคยทำนอกเหนือจากการแสดงคืองานตามหาคนสำหรับสมาคมกู้ยืมสำหรับนักศึกษาครับ” เขากล่าว “งานนี้จะเป็นการตามหาคนที่หนีหนี้ ผมจะต้องโทรศัพท์ไปข่มขู่คน ซึ่งผมก็ทำได้ไม่ดีนักหรอกครับ เพราะผมจะหลุดหัวเราะเสมอ การรับบทสมีธใน ‘Confessions of a Shopaholic’ เป็นโอกาสที่ผมจะทำได้ถูกต้องเสียทีครับ”
นิวยอร์กเป็นสถานที่ที่เหมาะเหม็ง
นิวยอร์กถูกเลือกเป็นฉากของ “Shopaholic” อย่างไร้ข้อกังขา
เมื่อมีการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนโลเกชันของเรื่องไปยังอเมริกาแล้ว ก็ชัดเจนว่าเรื่องราวการบ้าช้อปของรีเบ็กก้า บลูมวู้ดจะเกิดขึ้นได้ในสถานที่แห่งเดียวเท่านั้น “เมืองนิวยอร์กเองก็เป็นตัวละครตัวหนึ่ง มันเป็นไอคอนของเมืองอื่นๆ และเป็นเมืองหลวงด้านแฟชันของโลกด้วยครับ” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “การเปลี่ยนโลเกชันจากลอนดอนไปนิวยอร์กไม่ได้เป็นความท้าทายซักเท่าไหร่เพราะเมืองทั้งสองต่างก็ให้ความรู้สึกของความหยิ่งผยองและเซนส์ด้านดีไซน์ รวมไปถึงความวุ่นวาย ฝูงชนคลาคล่ำและความรู้สึกสนุกสนานเสมอ”
ผู้กำกับพี.เจ. โฮแกนกล่าวเสริมว่า “ความตื่นเต้นอยู่ในร้านค้าครับ ในหนังสือ เบ็กกี้ บลูมวู้ดได้เดินทางไปแมนฮัตตันในเล่มสอง และพบตัวเองอยู่ในสวรรค์นักช้อป แล้วมีที่ไหนที่เหมาะกับนักช้อปมากกว่าสวรรค์นักช้อปล่ะครับ”
การถ่ายทำที่ละเอียดลออ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอุณภูมิหนาวเย็น 15 องศาฟาเรนไฮต์และปิดกล้องที่ 90 องศาฟาเรนไฮต์ กลายเป็นความท้าทายที่ต้องถ่ายทำในท้องถนนและร้านค้าภายในหนึ่งในเมืองที่ยุ่งเหยิงและวุ่นวายที่สุดในโลก
“การถ่ายทำในท้องถนนของนิวยอร์กเป็นเหมือนการยอมแอดมิทตัวเองเข้าสู่สถานบำบัดจิตครับ” ฮิวจ์ แดนซีบอก “คุณต้องทำงานท่ามกลางเมืองที่วุ่นวายมากๆ มันเต็มไปด้วยผู้คนและยุ่งเหยิงไปหมด แต่นั่นคือประเด็นของเราครับ นั่นคือสาเหตุที่เราทำแบบนี้ เพราะซีนในนิวยอร์กจะช่วยเสริมด้านการแสดง ผมคิดว่ามันช่วยเพิ่มเติมอะไรบางอย่างให้กับตัวละครในหนังเรื่องนี้ครับ”
ทีมผู้สร้างได้เลือกคริสตี้ ซีมารับหน้าที่ผู้ออกแบบงานสร้าง “คริสตี้เป็นผู้ออกแบบงานสร้างมือหนึ่งของนิวยอร์กครับ” บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เธอเข้าใจเมืองนี้และความเป็นหม้อหลอมของมัน กลิ่นไอของมันที่เราต้องการ และเธอก็ใช้เซนส์ด้านดีไซน์และแฟชันของเธอในการสร้างฉากที่วิเศษสุดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นฉากออฟฟิซของซัสเซสฟูล เซฟวิงส์หรือนิตยสารอาเล็ตต์ หรือการออกแบบร้านค้าที่โด่งดังและดิสเพลย์หน้าร้านขึ้นมาใหม่”
ซีกล่าวว่า “ฉันรู้ทันทีเลยว่าหนังเรื่องนี้มีศักยภาพด้านภาพที่เยี่ยมมากๆ มันสนุกดีนะคะที่ได้ไปลิ้มลองเทรนด์และแฟชันชั้นสูงดูบ้าง ด้วยความที่ฉันมีแบ็คกราวน์ด้านเสื้อผ้าอยู่แล้ว ฉันก็เลยรู้ว่านี่จะต้องเป็นหนังที่คุณจะปล่อยให้ทุกอย่างเปล่งประกายอย่างเต็มที่...และเป็นตัวกำหนดเทรนด์ได้ด้วย หนังเรื่องนี้เปลี่ยนจากขั้วหนึ่งไปเป็นอีกขั้วหนึ่งในแง่ของมุมมองและพื้นที่ทางเศรษฐกิจ คุณจะได้เห็นแฟชันชั้นสูงในเมดิสัน อะเวนิว, ฟิฟธ์ อะเวนิว, มีท แพ็กกิ้ง ดิสทริค, ไทรเบกา, โซโหและโลเวอร์ อีสต์ ไซด์ แล้วคุณก็จะมีพ่อและแม่ของเบ็กกี้ ที่อาศัยอยู่ในโลกของชนชั้นกลาง ฉันชอบการหาองค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ของนิวยอร์กแล้วขับเน้นตรงนั้นให้เด่นขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็หาวิธีใหม่ๆ ในการแสดงภาพนิวยอร์กด้วยค่ะ”
นอกเหนือจากนิวยอร์ก ซิตี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถ่ายทำในไมอามีและคอนเน็กติคัท ในความเป็นจริงแล้ว การถ่ายทำ “Shopaholic” เริ่มต้นการถ่ายทำในคอนเน็กติคัท ที่ซึ่งซีและทีมงานของเธอได้สร้างโลเกชันที่หลากหลายขึ้นมา ซึ่งรวมถึงการถ่ายทำวันแรกในออฟฟิศของอาคารหลังหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดความบังเอิญชนิดที่โซฟี คินเซลลา เจ้าของเรื่องต้องทึ่งเลยทีเดียว “จากสิ่งที่ฉันเพิ่งได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับลำดับการถ่ายทำหนังแบบแรนดอม เป็นเรื่องบังเอิญที่ฉากแรกที่เราถ่ายทำก็เป็นฉากแรกที่ฉันเขียนถึงรีเบ็กก้า บลูมวู้ดในหนังสือเล่มแรกด้วย มันเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์จริงๆ ค่ะ!”
ฉากภายในอพาร์ทเมนต์สวยๆ ที่สีสันสดใสของเบ็กกี้และซูส รูมเมตของเธอ ซึ่งอยู่ในย่านโนลิตา ที่สุดฮิปและกำลังมาแรง ในโลเวอร์แมนฮัตตัน ถูกถ่ายทำในซาวน์สเตจที่นอร์วอล์ค ซีกล่าวว่า “มันจำเป็นสำหรับฉันที่ภายในของอพาร์ทเมนต์จะต้องเล็กเพื่อแมทช์กับตึกเก่าแก่ 100 ปีที่ถนนมอตต์ในแมนฮัตตัน ที่เราใช้เป็นภาพภายนอก ซูสอาศัยอยู่ในห้องนอน ส่วนรีเบ็กก้าก็อยู่ในห้องนั่งเล่น เรียกได้ว่าอยู่เหนือกันและกัน ผู้หญิงทั้งคู่มีสไตล์ที่โดดเด่นมากๆ แต่ไอเดียของเราก็คือการขมวดความแตกต่างระหว่างทั้งคู่เข้าด้วยกันและละเลงสีสัน เนื้อผ้าเจ๋งๆ แบบสุดโต่ง ใช้กระจกโมเสคในอ่างอาบน้ำ มีขวดแก้วหลากสีสัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่สนุกสนานและมีชีวิตชีวาค่ะ”
ตลอดระยะเวลาสี่เดือนหลังจากนั้น ทีมงานก็ได้ไปเยือนโลเกชันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งในนิวยอร์ก ซิตี้ ซึ่งรวมถึงโบสถ์เซนต์เจมส์, เซนต์แอนโธนี ออฟ พาดัว, แกรนด์ ซาลอนที่หรูหราแห่งโรงแรมจูเมราห์ เอสเซ็กส์ เฮาส์ที่ตั้งอยู่ที่เซ็นทรัล ปาร์ค เซาธ์, อดีตธนาคารเอมิแกรนท์ อินดัสเทรียล เซฟวิงส์ในเขตวอลสตรีท, หอคอยเฮิร์สท์ของลอร์ดนอร์แมน ฟอสเตอร์และภายนอกของศูนย์ร็อคเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ การพบกันในยามค่ำคืนของรีเบ็กก้าและลุคถ่ายทำที่ห้องโถงที่สวยงามของร็อคเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ โดยมีวิหารเซนต์แพทริคและแซ็คส์ ฟิฟธ์ อะเวนิว (ซึ่งอาจจะสำคัญสำหรับรีเบ็กก้า บลูมวู้ดมากกว่า) อยู่ตรงข้ามฝั่งถนน
เป็นหน้าที่ของผู้กำกับภาพโจ วิลเลมส์ในการมองหนึ่งในเมืองที่ถูกถ่ายทำบ่อยที่สุดในโลกด้วยมุมมองใหม่ “เป้าหมายของเราคือการทำให้สาวๆ เสื้อผ้าและเมืองแห่งนี้ดูสวยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” วิลเลมส์กล่าว “นี่ไม่ใช่หนังดิบเถื่อน แต่เป็นหนังสนุกสนาน หรูเริ่ด และสดใส สไตล์ของหนังเรื่องนี้ถูกกำหนดโดยเรื่องราวและตัวละครเอก และผมก็พยายามจะยกระดับมันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกวันนี้ หนังหลายเรื่องมีการดูดสีออก แต่เรากลับพยายามจะเพิ่มสีสันเข้าไปในเฟรมให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ”
ทีมผู้สร้างได้เลือกร้านค้าและบูติคหลายแห่งเป็นโลเกชัน ซึ่งรวมถึงแคทเธอรีน มา(ในย่านมีท แพ็กกิ้ง ดิสทริค), ร้านชุดเจ้าสาวไคลน์เฟลด์และเมดิสัน อะเวนิว ซึ่งเต็มไปด้วยร้านหรูๆ ตั้งแต่อีฟแซงต์โลรองต์, ซอนยา รีเควลและแอสเปรย์ ฉากสำคัญๆ ยังเกิดขึ้นที่ร้านบาร์นีย์สบนเมดิสัน อะเวนิวและเฮนรี เบนเดลบนฟิฟธ์ อะเวนิวด้วย
สำหรับฉากข้างในบาร์นีย์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งช้อปปิ้งที่โด่งดังที่สุดของอเมริกา รีเบ็กก้าถูกพาไปช้อปปิ้งโดยบรรณาธิการแฟชัน อาเล็ตต์ เนย์เลอร์ เพื่อเป็นการทดสอบและเธอก็ผ่านฉลุย ทำให้คู่แข่งตัวฉกาจของเธอ อลิเซีย บิลลิงตัน ไม่สบอารมณ์อย่างยิ่ง
รีเบ็กก้า ผู้ใช้นามปากกาในคอลัมน์การเงินของเธอว่า “เด็กสาวในผ้าพันคอสีเขียว” ได้พบผ้าพันคอ “เดนนี แอนด์ จอร์จ” สีเขียวผืนสำคัญในฉากที่ถ่ายทำในร้านเฮนรี เบนเดล ที่โด่งดังในนิวยอร์ก สถานที่สำคัญทางแฟชันแห่งนี้เป็นแหล่งช้อปปิ้งที่สร้างขึ้นจากทาวน์เฮาส์สามห้องบนฟิฟธ์ อะเวนิว ซึ่งรวมถึงอาคารโคตี้และริซโซลีที่โดดเด่นด้วย มันเป็นอาคารสามชั้นที่มีทางเข้าเป็นเอเทรียม ด้านหน้าเป็นวินโดว์อาร์ต โนวูแบบอัญมณี ที่สร้างสรรค์โดยเรเน ลาลิคในปี 1913 ที่ถูกค้นพบหลังจากที่เบนเดลบูรณะอาคารหลังนี้ใหม่ สำหรับเอเทรียม ผู้ออกแบบงานสร้างซีและซูเปอร์ไวซิง อาร์ต ไดเร็กเตอร์ พอล เคลลีได้ร่วมมือกับดีไซเนอร์ของเบนเดลเอง เพื่อสร้างดิสเพลย์ที่มีธีมเป็น “Midsummer Night’s Dream” ขึ้นมา และพวกเขายังได้สร้างดิสเพลย์ธีมการบิน ที่ทำให้รีเบ็กก้าได้เห็นผ้าพันคอสีเขียวผืนนั้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย
“การติดตั้งดิสเพลย์พวกนั้นดำเนินไปด้วยกระบวนการแบบทหารเลยครับ” เคลลีอธิบาย “เพราะเรามีเวลาแค่แปดชั่วโมงในการทำดิสเพลย์นี้ขึ้นมาในเฮนรี เบนเดล แล้วเราก็ต้องวางแผนมันทุกนาที” ชาวนิวยอร์กต่างพากันทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของร้านแห่งนี้โดยฝีมือของทีมงาน “การตอบรับเยี่ยมมากครับ” เอ็ด บุชเชียเรลลี ซีอีโอของเบนเดลกล่าว “เราจะตกแต่งดิสเพลย์แบบนี้แค่ปีละครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดังนั้นการได้เห็นอะไรแบบนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีก็เป็นเรื่องที่เยี่ยมจริงๆ สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมามหัศจรรย์จริงๆ ครับ”
การแต่งตัวให้สาวนักช้อป
แพทริเซีย ฟิลด์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าของรางวัล
ลงมือวัดขนาดภาพยนตร์
ทีมผู้สร้างรู้ดีว่าภาพยนตร์อย่าง “Confessions of a Shopaholic” จะต้องมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เริ่ดหรูอลังการ และแพทริเซีย ฟิลด์ก็เข้ามา
“แพทริเซีย ฟิลด์เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นเยี่ยมครับ” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เธอเป็นคนที่มีความคิดล้ำสมัยอยู่เสมอ เธอมักจะหาดีไซเนอร์ใหม่ๆ และแต่งตัวให้ตัวละครของเราในแบบที่มีเอกลักษณ์ น่าสนใจ สีสันสดใสและสไตล์เฉียบครับ”
ฟิลด์คร่ำหวอดในวงการนี้มากว่า 40 ปีนับตั้งแต่เปิดบูติคแห่งแรกของเธอขึ้นในปี 1966 ฟิลด์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแฟชันงามๆ ของซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Sex and the City” (และเวอร์ชันภาพยนตร์ที่ลงโรงในปี 2008) รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง “The Devil Wears Prada”
“ฉันสนใจเรื่องราวของ ‘Shopaholic’ ค่ะ” ฟิลด์บอก “มันดูจะเป็นโปรเจ็กต์สนุกๆ ที่สร้างความบันเทิงใจ ซึ่งเป็นหนังแบบที่ฉันชอบเลย ฉันชอบสร้างความบันเทิงค่ะ…มันเป็นวิธีการมองวงการนี้ของฉัน ฉันไม่เคยร่วมงานกับเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์มาก่อน และนั่นก็เป็นสาเหตุจูงใจสำคัญเลยนะคะ เจอร์รี่กับพี.เจ.สนับสนุนให้ฉันมาทำงานกับพวกเขามาก ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ”
“ฉันเป็นสไตลิสต์ค่ะ” ฟิลด์กล่าวต่อ “แม้ว่าในโลกของการออกแบบเครื่องแต่งกาย มันจะเป็นคำสกปรกก็ตามทีเถอะ ฉันสร้างแฟชันเหมือนงานศิลปะ และฉันก็สร้างมันขึ้นมาด้วยการผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ฉันมิกซ์ชิ้นส่วนเก่า ชิ้นส่วนใหม่ เสื้อผ้าหรูกับกางเกงยีนส์ ทุกรูปแบบเลยล่ะค่ะ โลกของการออกแบบเครื่องแต่งกายในแง่หนึ่งคือการตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมาใหม่ แต่ฉันรู้สึกว่าถ้าเราต้องการอะไรที่ร่วมสมัย มันเป็นเรื่องเสียเปรียบที่คุณจะพยายามตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมาใหม่ ทั้งๆ ที่คุณมีเสื้อผ้าดีไซเนอร์มากมายให้เลือกสรร หนังของเราเป็นเรื่องของสาวนักช้อปที่เดินร่อนช้อปปิ้งทั้งวันนะคะ”
ฟิลด์กล่าวว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจากทีมนักแสดงที่มีสีสันของเรื่อง “ฉันมักจะได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่จากนักแสดงและสิ่งที่เขานำมาสู่ตัวละครของพวกเขา ฉันทำงานร่วมกับนักแสดงเพื่อดึงเอาสิ่งที่พวกเขาอยากให้ตัวละครเป็นออกมา แน่นอนค่ะว่าฉันเองก็มีไอเดียของตัวเองเหมือนกัน และฉันก็บอกไอเดียพวกนั้นออกมา แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตัวนักแสดงเองก็คือคนที่อยู่หน้ากล้อง ฉันพบว่าอิสลาเป็นคนมีเสน่ห์เย้ายวนใจ ที่มีประกายแววตาสดใส เธอเป็นคนร่างเล็กและน่ารัก แต่ก็มีคุณสมบัติเซ็กซี เย้ายวนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันแต่งตัวให้เธอในแบบที่ฉันทำในหนังเรื่องนี้ค่ะ”
อิสลา ฟิชเชอร์มีความสุขกับกระบวนการหาเครื่องแต่งกายพอๆ กับฟิลด์ “การสร้างรีเบ็กก้า บลูมวู้ดร่วมกับแพทริเซีย ฟิลด์สนุกมากเลยล่ะค่ะ” ฟิชเชอร์กล่าว “เธอเป็นสไตลิสต์ที่น่าทึ่ง และเธอก็มีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใครด้วย ฉันอยากให้เบ็กกี้มีสไตล์ท้าทายและหลากหลาย และเป็น ‘สาวทั่วๆ ไป’ ที่พวกเราทุกคนเข้าถึงได้ มันเป็นเรื่องสนุกนะคะที่ได้รักษาสมดุลระหว่างความสดใส สว่างไสวและอ่อนเยาว์ของเธอกับแฟชันชั้นสูงน่ะค่ะ”
“เบ็กกี้มีสไตล์ที่ท้าทายกว่าฉันและเธอก็คำนึงถึงเรื่องอิเมจมากกว่าฉันด้วยค่ะ” ฟิชเชอร์บอก “ฉันชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์มากกว่า”
“เบ็กกี้เป็นหญิงสาวที่มีความสุขค่ะ” ฟิลด์บอก “แม้ว่าเธอจะมีปัญหาเรื่องหนี้สิน แต่เธอก็เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเสมอ อิสลาเป็นคนที่มีชีวิตชีวา ตลก เซ็กซี น่ารักและอายุน้อย มันก็เลยเป็นสถานการณ์ที่เหมาะมากๆ สำหรับฉัน แล้วฉันก็รู้ด้วยว่าเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์อยากจะใช้สีสันที่มากมายในหนังเรื่องนี้ ซึ่งฉันก็โอเคกับมันเพราะฉันก็ชอบสีสันอยู่แล้ว ดังนั้น เครื่องแต่งกายสำหรับอิสลาในบทเบ็กกี้ก็เลยสะท้อนถึงคุณสมบัติพวกนั้นค่ะ”
น่าขันที่สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก ฟิลด์กลับได้ไอเดียหลายๆ อย่างในการแต่งตัวให้อิสลาระหว่างที่เธอเดินทางไปทำงานที่โตเกียวก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น “ระหว่างที่ฉันอยู่ที่นั่น ฉันได้ไปช้อปให้อิสลาค่ะ” ฟิลด์กล่าว “ไซส์เล็กๆ ของเธอพอดีกับขนาดไซส์ของชาวญี่ปุ่น และแฟชันสำหรับคนหนุ่มสาวที่นั่นก็มีสีสันสดใสอย่างมาก มันเป็นโอกาสให้ฉันได้แต่งตัวให้อิสลาในเสื้อผ้าที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันไม่ได้เห็นชัดว่าเธอสวมเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยคนญี่ปุ่น แต่มันเป็นการผสมผสานกันมากกว่าค่ะ มันสะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นไอในแบบที่คุณจะเห็นในแวดวงแฟชันของโตเกียวค่ะ”
ในการใช้เทคนิค “ผสมผสาน” ฟิลด์ได้แต่งตัวให้ฟิชเชอร์ด้วยแฟชันที่ล้ำสมัย และส่วนผสมผสานที่น่าแปลกใจของเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีทั้งบาเลนเซียกา, มาร์ค จาค็อบส์, คริสเตียน ลูบูติน, แซค โพเซน, มิวมิว, ซัลวาโตเร เฟอร์รากาโม, ปราดา, ท็อดด์ โอลด์แฮม, กุชชี, คริสเตียน ดิออร์และอเล็กซานเดอร์ แม็คควีน
ตัวละครคนอื่นๆ ก็ผ่านมือแพทริเซีย ฟิลด์ด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงซูส (คริสเตน ริตเตอร์) รูมเมตของรีเบ็กก้าด้วย “ในหนังเรื่องนี้ ซูสพยายามจะช่วยบรรเทาอาการบ้าช้อปของเบ็กกี้ เพราะฉะนั้นการทำให้เธอดูเรียบง่ายก็เป็นเรื่องง่าย” ฟิลด์กล่าว “ฉันก็เลยคิดว่าซูสเป็นเหมือนสาววิลเลียมส์เบิร์ก ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำในบรูคลิน ที่เป็นศูนย์รวมของหนุ่มสาวมากมาย มันเป็นสไตล์หนุ่มสาวแบบศิลป์ ที่โบฮีเมียนนิดๆ และร็อคหน่อยๆ ค่ะ ฉันแต่งตัวให้คริสเตนด้วยการผสมสีสันและการแต่งตัวแบบเป็นกลาง และค่อนข้างหลากหลาย ในขณะที่เบ็กกี้จะมีแต่สี สี และก็สีค่ะ”
หลังจากที่เคยแต่งตัวให้กับนักแสดงหญิงที่รับบทบรรณาธิการแฟชันมาก่อนแล้วใน “The Devil Wears Prada” และ “Sex and the City” ฟิลด์ก็ตั้งใจที่จะทำให้อาเล็ตต์ เนย์เลอร์ ตัวละครของคริสติน สก็อตต์ โธมัสกลายเป็นรอยประทับส่วนตัวด้านแฟชันของเธอ “ผู้หญิงอย่างอาเล็ตต์เป็นเบอร์หนึ่งค่ะ เธอคว้าตำแหน่งนี้ของเธอมาได้หลังจากที่ต้องพยายามนานหลายปีและเธอก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง เสื้อผ้าของคริสตินอิงกับแฟชันมากๆ ค่ะ ในซีนหนึ่ง เธอสวมชุดราตรีหรูหรา พร้อมสร้อยคองามๆ ที่ทำจากลูกปัดไม้แฮนด์เมด ซึ่งไม่มีใครเหมือน เราพยายามจะแสดงให้เห็นว่าอาเล็ตต์มีตัวเลือก 360 องศาว่าเธอจะสวมอะไรและสามารถสวมอะไรได้ค่ะ”
สำหรับบทอลิเซีย บิลลิงตัน เลสลีย์ บิ๊บบ์มีรูปร่างที่แตกต่างกับรีเบ็กก้าของอิสลา ฟิชเชอร์อย่างสุดขั้ว ฟิลด์เลือกชุดสีดำและเป็นกลาง “แบบที่ได้รับแรงบันดลใจจากครูเอลล เดอวิลล์น่ะค่ะ” ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายกล่าว บิ๊บบ์บอกว่า การตัดสินใจนี้เข้ากับตัวละครของเธออย่างเหมาะเหม็ง “อลิเซียเป็นคนที่มุ่งมั่นและเป็นระเบียบมากๆ ดังนั้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญค่ะ เธอทำงานอย่างหนักและทุกอย่างก็ถูกคำนวณวางแผนมาแล้วอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าของเธอ พอฉันสวมเสื้อผ้าของอลิเซียปุ๊บ ฉันก็กลายเป็นตัวละครตัวนี้ทันที มันมีความคิดความอ่านบางอย่างที่จะเกิดขึ้นได้จากการสวมรองเท้าส้นสูงสี่ถึงห้านิ้วค่ะ”
พวกผู้ชายก็ได้รับการดูแลจากฟิลด์ไม่ต่างกัน แม้ว่าการที่ลุค แบรนดอน ตัวละครของฮิวจ์ แดนซีไม่สนใจเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่จะกลายเป็นความท้าทายสำหรับเธอก็ตามที “มันง่ายกว่าเยอะที่จะสร้างลุคแบบหล่อเลิศตั้งแต่หัวจรดเท้าแทนที่จะเป็นลุคแบบช่างมันผมไม่แคร์น่ะค่ะ” ฟิลด์บอก “ในช่วงแรกของหนัง ลุครู้สึกว่ามันมีอะไรสำคัญกว่านั้นในชีวิตเขา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับรีเบ็กก้าก็ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ซึ่งมันก็จะต้องน่าเชื่อค่ะ”
สำหรับตัวละครที่ลดระดับชั้นลงมาของเธอ ซึ่งก็คือเกรแฮมและเจน บลูมวู้ด ที่รับบทโดยจอห์น กู๊ดแมนและโจอัน คูแซค ฟิลด์ก็พบวิธีที่จะแต่งตัวให้พวกเขาได้น่าสนใจ “ฉันไปลองชุดด้วยความคิดว่าพิลึกหน่อยๆ น่ะค่ะ” คูแซคกล่าว “แพทริเซียเก่งมากในการทำให้ความพิลึกนั้นมีเสน่ห์และดูดีขึ้นมาในแบบที่เธอทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นศิลปะไปเลย เธอมองเห็นความสง่างามในเสื้อผ้าและสไตล์ค่ะ”
ไมอามี: โซนฮ็อต
ตัวละครของฮิวจ์ แดนซี ปลดปล่อยตัวเอง
หลังจากที่เสร็จสิ้นจากการถ่ายทำยาวนานในนิวยอร์ก ซิตี้และคอนเน็กติคัท ทีมงาน “Shopaholic” ซึ่งรวมถึงอิสลา ฟิชเชอร์, ฮิวจ์ แดนซีและเลสลีย์ บิ๊บบ์ ก็ได้บินไปทางใต้สำหรับการถ่ายทำสองสัปดาห์สุดท้ายในดินแดนบาบิโลนทรอปิคัลริมทะเล หรือไมอามีในรัฐฟลอริดานั่นเอง “เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์แนะนำเราว่า สำหรับซีนที่ลุค คนเคร่งเครียดกับชีวิตได้สนุกกับชีวิต มันจะต้องเป็นที่ที่บีบให้เขาต้องหลุดจากวิถีเดิมๆ ครับ” พี.เจ. โฮแกนตั้งข้อสังเกต “มันเมคเซนส์ทีเดียวที่ที่นั่นจะต้องเป็นไมอามี ที่ซึ่งทุกคนผ่อนคลาย ไมอามีให้ความรู้สึกที่เป็นอิสระเสรีบางอย่าง ความรู้สึกที่ว่าคุณจะเป็นทุกอย่างตามที่คุณอยากเป็นได้ที่นั่นครับ”
อีกครั้งหนึ่งที่หนึ่งในร้านค้าที่โด่งดังและทรงอิทธิพลที่สุดในโลกได้เปิดประตูกว้างเพื่อต้อนรับทีมงาน “Shopaholic” เมื่อปราดาอนุญาตให้มีการถ่ายทำฉากหนึ่งภายในร้านค้าหรูของพวกเขาในบัล ฮาร์เบอร์ ที่ซึ่งเบ็กกี้พยายามจะสอนลุคถึงข้อดีของแฟชัน “มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ทำให้ปราดายอมให้เราถ่ายทำในร้านของพวกเขาได้” โฮแกนบอก “เพราะพวกเขาคำนึงถึงเรื่องภาพลักษณ์ของพวกเขาอย่างมาก แต่ผมคิดว่าชื่อของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์และแพทริเซีย ฟิลด์มีส่วนสำคัญทำให้เราได้รับอนุญาต ร้านปราดาในบัล ฮาร์เบอร์ทั้งสวยและน่าทึ่ง และการได้ถ่ายทำที่นั่นก็เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างแท้จริงครับ”
หลังจากฉากนั้น ก็มีการถ่ายทำขึ้นในล็อบบี้สไตล์อาร์ท เดโค (รวมถึงแทงค์น้ำที่เต็มไปด้วยแมงกระพรุนเรืองแสงของมัน) ของโรงแรมวิคเตอร์บนโอเชียน ไดรฟ์
ทีมงานได้จัดเตรียมฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาในไมอามี นั่นคือเทศกาลแบบลาติน ที่แสดงให้เห็นถึงการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมของเมืองแห่งนี้ “ผมชอบวัฒนธรรมที่หลากหลายในไมอามี ผมก็เลยอยากจะทำให้แน่ใจว่าเราจะใส่อิทธิพลแบบคิวบาเข้าไปในหนังเรื่องนี้ด้วยน่ะครับ” โฮแกนบอก
โลเกชันที่ถูกเลือกคือเอสพาโนลา เวย์ ที่ถูกสร้างขึ้นในยุค 20s เพื่อเป็นหมู่บ้านแบบสเปนขนาดเล็กสำหรับศิลปินและพวกโบฮีเมียน ที่มีตึกรามบ้านช่องสไตล์โคโลนีสีสันสดใส ด้วยตะเกียงหลากสีสันที่แขวนอยู่ด้านบนและดนตรีลาตินและกลิ่นเครื่องเทศอาหารที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ โลเกชันแห่งนี้นี่เองที่นักออกแบบท่าเต้น โจแอนน์ แจนเซนได้คิดท่าเต้นโฟล์คแดนซ์แบบคิวบาที่เรียกว่า “แดนซอน” ขึ้นมาสำหรับซีเควนซ์ที่ลุคทำให้เบ็กกี้ประหลาดใจด้วยการปลดปล่อยตัวเองและกลายเป็นผู้นำเธอจริงๆ
ทุกคนต่างก็สนุกสนานกับการทำงานในภาพยนตร์เรื่องนี้ นักแสดงและทีมผู้สร้างรู้สึกซาบซึ้งกับการที่คินเซลลามาใช้เวลาอยู่ในกองถ่ายเป็นพิเศษ เธอรับหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง ด้วยการให้คำปรึกษาและเฝ้ามองตัวละครของเธอมีชีวิตขึ้นมา และคอยช่วยทำให้แน่ใจว่ารีเบ็กก้า บลูมวู้ดจะโลดแล่นบนหน้าจอในแบบที่จะทำให้แฟนๆ นับล้านๆ ของเธอต้องยินดี เมื่อรู้ว่าโซฟี คินเซลลาอยู่ในกองถ่ายด้วย เสียงตอบรับจากผู้คนก็เป็นเหมือนเวลาเจอดาราหนังมากกว่าจะเป็นนักเขียนนิยาย และเจ้าตัวเองก็มีความสุขกับการแจกลายเซ็นและพูดคุยกับแฟนๆ ของเธอ
“การมีโซฟีอยู่ในกองถ่ายเป็นเรื่องเยี่ยมมากครับ” โฮแกนกล่าว “เพราะอย่างที่ผมเคยพูดกับเธอหลายครั้งแล้ว เธอเป็นเหมือนโรเซตตา สโตน เธอทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวนี้มากขึ้นกว่าในหนังสือครับ”
“มันเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ได้นักเขียนนิยายเรื่องนี้มาอยู่กับผู้กำกับและพวกเราทุกคนเพื่อคอยอธิบายคุณลักษณะหลักๆ ของตัวละครครับ” ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ไมค์ สเตนสันกล่าวเสริม “การได้มุมมองของคนที่สร้างตัวละครเหล่านั้นจริงๆ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งครับ”
เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ได้ใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตการทำงานของเขาในการแหวกขนบและสร้างแนวทางใหม่ๆ และแม้ว่าโรแมนซ์และคอเมดีจะเป็นองค์ประกอบที่ปรากฏขึ้นมาหลายครั้งในภาพยนตร์ 35 เรื่องของเขา แต่ “Confessions of a Shopaholic” ก็เป็นก้าวแรกที่เขาเหยียบย่างเข้าสู่แนวโรแมนติกคอเมดีเต็มตัว แต่ก็เช่นเคย วิธีการของเขาคือการมอบสิ่งแปลกใหม่ให้กับผู้ชม “ผมคิดว่าเราต่างก็มองหาอารมณ์ขันและความรักในชีวิตของเรา” บรั๊คไฮเมอร์สรุป “และนั่นก็คือแก่นของ ‘Shopaholic’ ครับ มันตลก ฉลาด และมันก็จะทิ้งความประทับใจให้คุณเล็กๆ ตอนที่คุณเดินออกจากโรงหนัง ผมชอบที่จะให้ความบันเทิงกับผู้ชม และเมื่อคุณสามารถทำให้พวกเขาหัวเราะได้ มันก็เป็นของขวัญที่ล้ำค่าสำหรับคนทำหนังแล้วล่ะครับ”
เกี่ยวกับนักแสดง
อิสลา ฟิชเชอร์ (รีเบ็กก้า บลูมวู้ด) เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามจากการแสดงประกบไรอัน เรย์โนลด์ในภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดีเรื่อง “Definitely, Maybe” ซึ่งร่วมแสดงโดยอบิเกล เบรสลินและราเชล ไวส์ นอกเหนือจากนั้น เธอยังได้พากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันที่ดัดแปลงจากนิทานคลาสสิกโดยดร.ซุสเรื่อง “Horton Hears A Who” ซึ่งร่วมพากย์เสียงโดยสตีฟ คาเรลและจิม แคร์รีย์อีกด้วย
ฟิชเชอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการแสดงน่าประทับใจของเธอในบทสาวพิลึกพิลั่นคนรักของวินซ์ วอห์นในบล็อกบัสเตอร์เรื่อง “Wedding Crashers” ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ “The Lookout” ที่เขียนบทและกำกับโดยสก็อต แฟรงค์และร่วมแสดงโดยโจเซฟ กอร์ดอน-ลูวิตต์และเจฟ แดเนียลส์, คอเมดีเรื่อง “Hot Rod” ที่ร่วมแสดงกับแอนดี้ แซมเบิร์ก, “Wedding Daze” ที่ร่วมแสดงกับเจสัน บิ๊กส์, ภาพยนตร์โดยเดวิด โอ. รัสเซลเรื่อง “I Heart Huckabees” และ “Scooby-Doo” นอกจากนี้ เธอยังได้นำแสดงในซีรีส์โทรทัศน์ที่มีทั้งสคริปต์และการอิมโพรไวส์ “Pilot Season” ร่วมกับนักแสดงตลกเดวิด ครอส, แอนดี้ ดิคและซาราห์ ซิลเวอร์แมน
ฟิชเชอร์เกิดในโอมาน ประเทศในตะวันออกกลาง ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่เมืองเพิร์ธ เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของออสเตรเลียตั้งแต่ตอนเธอยังเล็กๆ พออายุได้ 9 ขวบ ฟิชเชอร์ก็ได้แสดงโฆษณาที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ออสเตรเลีย เธอโด่งดังจากบทแชนนอน รี้ดในซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง “Home & Away” ซึ่งช่วยส่งให้กาย เพียร์ซ, นาโอมิ วัตส์และฮีธ เล็ดเจอร์โด่งดังขึ้นเช่นเดียวกัน ระหว่างที่ถ่ายทำซีรีส์ “Home & Away” เธอยังมีเวลาที่จะเขียนและตีพิมพ์นิยายวัยรุ่นเบสต์เซลเลอร์สองเรื่องอีกด้วย
ฮิวจ์ แดนซี (ลุค แบรนดอน) เป็นนักแสดงภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์และละครเวที ผู้ซึ่งมีผลงานภาพยนตร์เร็วๆ นี้ได้แก่ “The Jane Austin Book Club” ที่นำแสดงโดยมาเรีย เบลโลและเอมิลี บลันท์, “Evening” ที่ร่วมแสดงกับแคลร์ เดนส์และโทนี คอลเล็ตต์และดรามาอินดีเรื่อง “Adam” ซึ่งเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปีนี้
แดนซีสำเร็จการศึกษาจากเซนต์ปีเตอร์ คอลเลจในอ็อกซ์ฟอร์ด งานแสดงเรื่องแรกของเขาคือซีรีส์ “Trial and Retribution II” ทางไอทีวี ตามมาด้วย “Dangerfield” และผลงานของคาร์ลตันเรื่อง “Kavanagh QC” ทางบีบีซี ในปี 1998 แดนซีได้รับบทนำในซีรีส์ “David Copperfield” ทางฮอลมาร์คและภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากนิยายของชาร์ลส์ ดิคเคนส์โปรดักชันของทีเอ็นที ผลงานเรื่องต่อมาของเขาได้แก่ซีรีส์ยอดนิยมของแกรนาดา ทีวีเรื่อง “Cold Feet,” “Madame Bovary” ทางบีบีซี, “Young Blades” เรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายของดูมัสเรื่อง “The Three Musketeers” และ “The Sleeping Dictionary” ที่ร่วมแสดงกับบ็อบ ฮอสกินส์, เจสสิก้า อัลบา, เบรนดา เบลธินและเอมิลี มอร์ติเมอร์
ในปี 2001 แดนซีได้นำแสดงในภาพยนตร์โดยเจอร์รี บรัคไฮเมอร์เรื่อง “Black Hawk Down” ที่กำกับโดยริดลีย์ สก็อตและนำแสดงโดยจอช ฮาร์ทเน็ตต์, ยวน แม็คเกรเกอร์และออร์ลันโด บลูม จากนั้น เขาก็ไปแสดงในทริลเลอร์อาชญากรรมเรื่อง “Tempo” ประกบเมลานีย์ กริฟฟิธและราเชล ลีห์ คุ้ก ก่อนจะกลับมาสู่จอแก้วอีกครั้งด้วยการแสดงในซีรีส์ทางบีบีซีที่ดัดแปลงจากนิยายโดยจอร์จ เอลเลียตเรื่อง “Daniel Deronda” หลังจากนั้น เขาก็ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์มิราแมกซ์เรื่อง “Ella Enchanted” กับแอนน์ ฮาธาเวย์ แดนซียังได้ร่วมแสดงในอีพิคโดยเจอร์รี บรัคไฮเมอร์เรื่อง “King Arthur” กับไคลฟ์ โอเวนและเคียรา ไนท์ลีย์อีกด้วย
แดนซีได้รับบทนำในผลงานโดยไมเคิล เคตัน-โจนส์เรื่อง “Shooting Dogs” ให้กับบีบีซี ฟิล์มส์ ตามมาด้วยการแสดงที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี อวอร์ดในผลงานการร่วมสร้างระหว่างเอชบีโอและแชนแนล โฟร์เรื่อง “Elizabeth I” ที่นำแสดงโดยเฮเลน เมอร์เรนและเจเรมี ไอรอนส์
ด้านจอแก้ว แดนซีได้แสดงใน “Billy and the Crab Lady” ที่จัดแสดงที่โรงละครโซโหในอังกฤษ เขาได้ร่วมแสดงในละครของนิค วิทบี้เรื่อง “To the Green Fields Beyond” ภายใต้การกำกับของแซม เมนเดสที่โรงละครดอนมาร์ และล่าสุด เขาก็เพิ่งได้แสดงละครบรอดเวย์เรื่อง “Journeys End”
โจอัน คูแซ็ค (เจน บลูมวู้ด) เคยได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ครั้งหนึ่งจากการรับบทเลขาสาวจากสเตเทน ไอแลนด์ใน “Working Girl” ที่นำแสดงโดยแฮร์ริสัน ฟอร์ดและเมลานีย์ กริฟฟิธ และอีกครั้งหนึ่งจากบทเจ้าสาวของเควิน ไคลน์ในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเรื่อง “In & Out” เธอได้รับรางวัลอเมริกัน คอเมดี อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์จากบทบาทของเธอใน “Runaway Bride” ที่เธอแสดงประกบจูเลีย โรเบิร์ตส์และริชาร์ด เกียร์ เมื่อเร็วๆ นี้ เธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเดย์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ดจากผลงานของเธอใน “Peep and the Big Wide World” อีกด้วย
ผลงานของคูแซคในจอแกวได้แก่บทประจำในซีรีส์ “Saturday Night Live” ระหว่างซีซันปี 1985-1986 และบทนำประกบแอนน์ แบนครอฟท์ในภาพยนตร์บีบีซีที่สร้างขึ้นจากเรื่อง “The Mother” ของแพดดี้ ชาเยฟสกี้ และเธอยังได้แสดงในซิทคอมเรื่อง “What About Joan” อีกด้วย
ผลงานละครเวทีของคูแซคได้แก่รอบปฐมทัศน์ของละครเรื่อง “Brilliant Traces” ที่จัดแสดงที่โรงละครเชอร์รี เลนในนิวยอร์ก, “The Road” ที่โรงละครลา มามาและบทอิโมเกนในละครเรื่อง “Cymbeline” ที่โรงละครพับลิค เธียเตอร์ในนิวยอร์ก เธอได้รับบทเฮเลนาในละครเรื่อง “A Midsummer Night’s Dream” ที่จัดแสดงที่โรงละครกู๊ดแมนในชิคาโก และแสดงภายใต้การกำกับของโจแอนน์ อคาลิทิสในละครเรื่อง “’Tis A Pity She’s A Whore”
คูแซคได้ศึกษาการแสดงที่โรงละครพิเวน เธียเตอร์ เวิร์คช็อป ระหว่างที่ศึกษาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เธอได้ร่วมแสดงกับคณะละครอิมโพรไวส์ “The Ark” เมื่อเร็วๆ นี้ เธอเพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “My Sister’s Keeper” ที่นำแสดงโดยคาเมรอน ดิแอซและอเล็ค บัลด์วิน และภาพยนตร์เรื่อง “Acceptance” ที่สร้างขึ้นจากนิยายโดยซูซาน คอล ปัจจุบัน เธอกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Mars Needs Moms” และ “Progress Notes” คอเมดีของเอ็นบีซี ซึ่งเธอจะควบหน้าที่อำนวยการสร้างและนำแสดงในฤดูใบไม้ร่วงปีหน้าในชิคาโก
จอห์น กู๊ดแมน (เกรแฮม บลูมวู้ด) เป็นนักแสดงเจ้าของรางวัล ผู้ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีผลงานในภาพยนตร์เรื่อง “Speed Racer,” “Evan Almighty” และ “Bee Movie” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยม ผลงานภาพยนตร์หลังจากนี้ของเขาได้แก่โรแมนติกคอเมดีเรื่อง “Gigantic” และเขาก็จะพากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง “Bunyan and Babe” และ “The Princess and the Frog” นอกจากนั้น เขายังจะหวนคืนสู่ละครเวทีด้วยผลงานเรื่อง “A Christmas Carol” และ “Waiting for Godot”อีกด้วย
กู๊ดแมนได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและได้รับการเสนอชื่อชิงเอ็มมีอีกเจ็ดครั้งจากการแสดงในซีรีส์ “Roseanne” เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากการแสดงใน “Kingfish: A Story of Huey P. Long”ทางทีเอ็นที, “A Streetcar Named Desire”ของเทนเนสซี วิลเลียมส์ที่แพร่ภาพทางซีบีเอสและภาพยนตร์โดยพี่น้องโคเอนเรื่อง “Barton Fink” ในปี 2007 กู๊ดแมนได้รับรางวัลเอ็มมีครั้งที่สองจากการเป็นนักแสดงรับเชิญในซีรีส์ “Studio 60 on the Sunset Strip”
เขาได้พากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันหลายเรื่องได้แก่ “Monsters, Inc.,” “The Emperor’s New Groove,” “Tales of the Rat Fink” และ “The Jungle Book II” และเขายังได้พากย์เสียงเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในซีรีส์อนิเมชันทางเอ็นบีซีเรื่อง “Father of the Pride” ด้วย
จอห์น ลิธโกว์ (เอ็ดการ์ เวสต์) เริ่มต้นอาชีพนักแสดงของเขาบนเวทีละคร เขาได้รับรางวัลโทนี อวอร์ดสามสัปดาห์หลังจากที่เขาเปิดตัวในละครบรอดเวย์โดยเดวิด สโตรีย์เรื่อง “The Changing Room” ในปี 1973 นับตั้งแต่นั้นมา เขาได้แสดงในละครบรอดเวย์อีก 19 ครั้ง ซึ่งทำให้เขาได้รับอีกหนึ่งรางวัลโทนี ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนีอีกสามครั้ง ได้รับสี่รางวัลดรามา เดสก์ อวอร์ดและได้รับการบรรจุชื่ออยู่ในเธียเตอร์ ฮอล ออฟ เฟม ผลงานสำคัญๆ ของเขาได้แก่ “My Fat Friend,” “Trelawney of the ‘Wells,’”“Comedians,” “Anna Christie,” “Bedroom Farce,” “Beyond Therapy,” “M. Butterfly,” “The Front Page,” “Retreat From Moscow,” “Mrs. Farnsworth” และมิวสิคัลเรื่อง “Sweet Smell of Success” (โทนีตัวที่สองของเขา) และ “Dirty Rotten Scoundrels” ในปี 2007 ลิธโกว์ได้เปิดตัวในละครเรื่องแรกกับคณะรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนีด้วยละครโปรดักชันของนีล บาร์เล็ตต์เรื่อง “Twelfth Night” ลิธโกว์ได้แสดงละครเดี่ยวที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมของเขาเรื่อง “John Lithgow: Stories by Heart” ที่ลินคอล์น เซ็นเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งหวนคืนสู่เวทีละครในละครบรอดเวย์ที่สร้างจากละครคลาสสิกของอาร์เธอร์ มิลเลอร์เรื่อง “All My Sons”
ด้านจอเงิน ลิธโกว์ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง “The World According to Garp” และ “Terms of Endearment” เขาได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 30 เรื่องได้แก่ “All That Jazz,” “Blow Out,” “Twilight Zone: The Movie,” “Footloose,” “2010,” “Buckaroo Banzai,” “Harry and the Hendersons,” “Raising Cain,” “Ricochet,” “Cliffhanger,” “Orange County,” “Shrek,” “Kinsey” และ “Dreamgirls”
ด้านจอแก้ว ลิธโกว์ได้รับการเสนอชื่อชิงสิบรางวัลเอ็มมี และได้รับสี่รางวัล โดยหนึ่งรางวัลสำหรับเอพิโซดหนึ่งใน “Amazing Stories” และอีกสามรางวัลสำหรับซีรีส์คอเมดีฮิตทางเอ็นบีซีเรื่อง “3rd Rock from the Sun” ตลอดหกปีที่ซีรีส์นี้แพร่ภาพ ลิธโกว์ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สองรางวัลสมาพันธ์นักแสดง รางวัลอเมริกันคอเมดี อวอร์ดและได้มีชื่อเป็นดวงดาวประดับบนฮอลลีวูด วอล์ค ออฟ เฟม ผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “The Day After,” “Resting Place,” “Baby Girl Scott,” “My Brother’s Keeper,” “Don Quixote” ทางทีเอ็นทีและ “The Life and Death of Peter Sellers” ทางเอชบีโอ
ลิธโกว์ได้เขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ติดอันดับนิวยอร์ก ไทม์ เบสต์เซลเลอร์เจ็ดเล่ม ได้แต่งหนังสือกิจกรรมสำหรับพ่อแม่และเด็กสองเล่ม ได้ผลิตหนังสือสำหรับใช้ในโรงเรียนประถมและแต่งบทกวีคลาสสิก 50 บทที่มีเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาว เขาได้รับสองรางวัลพาเรนท์ ชอยส์ ซิลเวอร์ ออเนอร์ อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลแกรมมี เมื่อเร็วๆ นี้ ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์เพิ่งตีพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กเล่มล่าสุดของเขา “I Got Two Dogs” ออกมา ลิธโกว์ได้แสดงคอนเสิร์ตสำหรับเด็กๆ ร่วมกับชิคาโก, พิตส์เบิร์ก, ดีทรอยต์, บัลติมอร์และซานดิเอโก ซิมโฟนีส์ และร่วมแสดงกับออร์เคสตรา ออฟ เซนต์ลุคส์ที่คาร์เนจี้ ฮอล เขาได้ปล่อยอัลบัมสำหรับเด็กออกมาสามชุด
คริสติน สก็อตต์ โธมัส (อาเล็ตต์ เนย์เลอร์) ปัจจุบันมีผลงานในภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศสโดยฟิลิปเป้ คลอเดลเรื่อง “I’ve Loved You So Long” ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำ เมื่อเร็วๆ นี้ เธอเพิ่งจะเปิดตัวในละครบรอดเวย์เรื่อง “The Seagull” และได้รับรางวัลโอลิเวียร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมระหว่างที่ละครเรื่องนี้จัดแสดงที่รอยัล คอร์ท เธียเตอร์ในลอนดอน และหลังจากนี้ เธอก็จะได้แสดงในภาพยนตร์โดยสเตฟาน เอลเลียตเรื่อง “Easy Virtue” ซึ่งสร้างขึ้นจากบทละครโดยเซอร์โนเอล โคเวิร์ด และสก็อตต์ โธมัสได้แสดงประกบเจสสิก้า บีล, เบน บาร์เนสและโคลิน เฟิร์ธ
สก็อตต์ โธมัสได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากบทบาทของเธอใน “The English Patient” ซึ่งเธอได้แสดงประกบเรฟ ไฟน์และจูเลียตต์ บินอช เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำ รางวัลบาฟตาและรางวัลสมาพันธ์นักแสดงอีกด้วย
สก็อตต์ โธมัสได้เข้าศึกษาด้านการละครที่โรงเรียน Ecole Nationale des Arts et Technique de Theatre ในกรุงปารีส เธอยังคงรักษาสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับละครเวที ด้วยการได้แสดงละครชื่อดังหลายเรื่องเช่นละครโดยพิแรนเดลโลเรื่อง “As You Desire Me” และละครโดยไชคอฟเรื่อง “Three Sisters” ที่โรงละครเพลย์เฮาส์ในลอนดอน
เลสลีย์ บิ๊บบ์ (อลิเซีย บิลลิงตัน) เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์บ็อกซ์ออฟฟิศด้วยบทบาทของเธอในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เรื่อง “Iron Man” ที่เธอได้ร่วมแสดงกับโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์., กวินเนธ พัลโทรว์, เทอร์เรนซ์ โฮเวิร์ดและเจฟ บริดเจส นอกจากนี้ บิ๊บบ์ยังมีผลงานในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “Midnight Meat Train” ซึ่งเธอแสดงประกบแบรดลีย์ คูเปอร์ และคอเมดีอินดีเรื่อง “A Good Old Fashioned Orgy”
บิ๊บบ์ได้แสดงร่วมกับวิลล์ เฟอร์เรล, ซาชา บารอน โคเฮนและจอห์น ซี. ไรลีย์ใน “Talladega Nights: The Legend of Ricky Bobby” และเธอยังได้แสดงประกบแพทริค ฟูจิทในดาร์คโรแมนติกคอเมดีเรื่อง “Wristcutters” อีกด้วย
ด้านจอแก้ว บิ๊บบ์ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยบทนำในซีรีส์วอร์เนอร์ บรอส. เรื่อง “Popular” ซึ่งเธอรับบทบรู๊ค แม็คควีนคนสวย “Popular” ขึ้นแท่นคัลท์คลาสสิกในหมู่วัยรุ่นในทันที และผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอยังได้แก่ “Private Parts,” “The Skulls” และ “See Spot Run”
เฟร็ด อาร์มิเซน (ไรอัน โคนิก) กำลังอยู่ระหว่างการแสดงซีซันที่เจ็ดของซีรีส์ “Saturday Night Live” ในช่วงปีแรก อาร์มิเซนโด่งดังเป็นพลุแตกจากตัวละคร “เฟริซิโต้” ของเขา นักแสดงตลกชาวเวเนซุเอลาคนนี้ได้ฝึกสอนวุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคนสำหรับโมโนล็อกเปิดตัวของเขา และได้สร้างเสียงหัวเราะครื้นเครงใน “Weekend Update” รวมไปถึงสเก็ตช์โชว์ของเขาเองในชื่อ “Showbiz Grande Explosion” อาร์มิเซนรับบท บารัค โอบามา ซึ่งตอนนั้นยังเป็นวุฒิสมาชิกผู้ลงสมัครชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครท ประกบเอมี โพห์เลอร์ เพื่อนร่วมซีรีส์ “SNL” ในบทฮิลลารี คลินตันระหว่างการลงคะแนนไพรมารีที่ดุเดือดของพรรคเดโมแครท ตัวละครตัวอื่นๆ ได้แก่ “นูนี” นักออกแบบบ้านชาวยุโรป, บิลลี สมิธ เนทีฟอเมริกันคนขำขัน, นิโคลัส เฟห์น นักแสดงตลกที่ไม่ใส่ใจการเมืองและปรินซ์ พิธีกรที่มักจะเงียบขรึมของรายการทอล์คโชว์ “The Prince Show” อาร์มิเซนยังได้แสดงท่าทีเลียนแบบคนดังเช่นแลร์รี คิง, สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของ Apple และมะห์มูด อาห์มาดิเนจ๊าด ประธานาธิบดีอิหร่านในภาพยนตร์ดิจิตอลขนาดสั้นเรื่อง “Iran So Far Away”
อาร์มิเซนติดอันดับในลิสต์รายชื่อ “Hot List” ของนิตยสารโรลลิง สโตนและลิสต์รายชื่อ “Must List” ของนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลี เขาได้แสดงประกบเรนน์ วิลสันในภาพยนตร์เรื่อง “The Rocker” และประกบจอห์น ซี. ไรลีย์ใน “The Promotion” และเขายังได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Tenacious D: The Pick of Destiny,” “The Ex,” “Eurotrip” และ “Anchorman: The Legend of Ron Burgundy”
อาร์มิเซนเริ่มต้นเข้าวงการบันเทิงด้วยอาชีพนักดนตรีในวงดนตรีโพสต์พังค์ในชิคาโก เทรนช์เมาธ์ รวมไปถึงการร่วมเล่นกับวงบลู แมน กรุ๊ป เขาได้ขยับขยายไปสู่แวดวงคอเมดีด้วยภาพยนตร์ขนาดสั้นใต้ดินปี 1998 ในชื่อ “Fred Armisen’s Guide to Music and SXSW” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของเขาในฐานะนักข่าวดนตรีในงาน “เซาธ์ บาย เซาธ์เวสต์ มิวสิค เฟสติวัล” ในออสติน, เท็กซัส ในปี 2006 เขาได้ทดลองเป็นนักข่าวดนตรีจริงๆ โดยได้ทำโปรไฟล์ของวงอินดี้ แคท พาวเวอร์ให้กับเว็บไซต์ดนตรีที่ชื่อ Pitchfork.com เขาได้ผสมผสานดนตรีและคอเมดีเข้าด้วยกันและกลายเป็นมือกลอง เจนส์ แฮนเนแมนน์ และได้ปล่อยดีวีดีสอนการตีกลอง “Complicated Drumming Technique” ออกมาในปี 2007
เขาได้เป็นดารารับเชิญในซีรีส์ “30 Rock” รวมไปถึงซีรีส์คอเมดีทางเคเบิลเรื่อง “Human Giant” และ “Tim & Eric, Awesome Show, Great Job” เขาได้นำตัวละครของเขาไปแสดงในรายการ “Late Night with Conan O’Brien,” เทศกาลคอเมดีชิคาโกและรายการโทรทัศน์อังกฤษ นอกจากนี้ เขายังได้แสดงในซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Reverb” และในซีรีส์สั้นๆ ทาง “HBO Zone” รวมไปถึงสารคดีวิลโกเรื่อง “I Am Trying To Break Your Heart”
ผลงานจอเงินของจูลี ฮาเกอร์ตี้ (เฮย์เลย์) ได้แก่ภาพยนตร์โดยจิม อับราฮัมส์และเดวิด ซัคเกอร์เรื่อง “Airplane!,” ภาพยนตร์โดยอัลเบิร์ต บรู๊คส์เรื่อง “Lost in America,” ภาพยนตร์โดยร็อบ ไรเนอร์เรื่อง “The Story of Us,” ภาพยนตร์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “A Midsummer Night’s Sex Comedy,” ภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต อัลท์แมนเรื่อง “Beyond Therapy,” ภาพยนตร์โดยแฟรงค์ ออซเรื่อง “What’s About Bob?,” ภาพยนตร์โดยปีเตอร์ บ็อกดาโนวิชเรื่อง “Noises Off,” ภาพยนตร์โดยโอลิเวอร์ สโตนเรื่อง “U-Turn,” “Freddy Got Fingered,” “The Wife,” “Boys Will Be Boys,” “She’s the Man,” “Pope Dreams” และ “If I Had Known I Was A Genius”
ฮาเกอร์ตี้ ซึ่งเป็นนักแสดงละครเวทีที่ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลดรามา คริติกส์ อวอร์ดจากบทของเธอในละครเรื่อง “Raised in Captivity” และได้รับรางวัลเธียเตอร์ เวิลด์ อวอร์ด (รางวัลที่มอบให้กับนักแสดงหน้าใหม่บนเวทีบรอดเวย์ที่โดดเด่นที่สุด) จากละครโดยจอห์น กัวร์เรื่อง “The House of Blue Leaves” นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลเอาเตอร์ คริติกส์ อวอร์ดจากการแสดงของเธอในละครบรอดเวย์เรื่อง “Mornings at Seven” ผลงานละครเวทีเรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ “The Odd Couple,” “Moon Over Miami,” “Born Yesterday,” “The Front Page,” A.R. Gurney’s “A Cheever Evening” และละครโดยเชล ซิลเวอร์สไตน์เรื่อง “Wild Life” และ “The Marriage of Bette and Boo”
นอกเหนือไปจากภาพยนตร์ที่นำเสนอโดยอเมริกัน เพลย์เฮาส์เรื่อง “The House of Blue Leaves” แล้ว ฮาเกอร์ตี้ยังได้นำแสดงในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “London Suite,” “Tourist Trap,” “Necessary Pilots” และม็อคคิวเมนทารีเรื่อง “Jackie’s Back!”รวมถึงซีรีส์ทางยูพีเอ็นเรื่อง “Reunited” ฮาเกอร์ตี้ได้ร่วมแสดงในซีรีส์หลายเรื่องเช่น “ER,” “Everybody Loves Raymond,” “Malcolm in the Middle,” “The Guardian” และ “Law & Order: Special Victims Unit”
ด้วยลุคแบบนางแบบและสไตล์สดใสร่าเริงของเธอ คริสเตน ริตเตอร์ (ซูส คลีธ-สจวร์ต) กำลังสร้างประวัติการทำงานที่น่าทึ่งทั้งในสายภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์
ริตเตอร์จะแสดงประกบอลิซ อีฟและเจย์ บารูเชลในภาพยนตร์เรื่อง “She’s Out of My League” และเมื่อเร็วๆ นี้ เธอก็เพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์อินดี้เรื่อง “How to Make Love to a Woman” ซึ่งเธอได้ร่วมแสดงกับเอียน โซเมอร์ฮัลเดอร์และจอช ไมเยอร์ส
ผลงานล่าสุดของริตเตอร์คือ “What Happens in Vegas” ที่เธอได้ร่วมแสดงกับแอชตัน คุชเชอร์และคาเมรอน ดิแอซและ “27 Dresses” ที่ร่วมแสดงกับแคทเธอรีน เฮเกล ในปีนี้ เธอมีผลงานภาพยนตร์อินดีที่จะลงโรงสองเรื่องได้แก่ “Frost” ที่เปิดตัวในเทศกาลสแลมแดนซ์และเทศกาลภาพยนตร์เจน อาร์ต 2008 และทำให้เธอได้ร่วมแสดงกับเจสัน เบห์และภาพยนตร์อินดีเรื่อง “BuzzKill” ที่เธอร่วมแสดงกับดาร์เรล แฮมมอนด์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ “Mona Lisa Smile” และภาพยนตร์อินดีเรื่อง “The Look”
ด้านจอแก้ว ปัจจุบัน ริตเตอร์กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ตลกร้าย/ดรามาเรื่อง “Breaking Bad” บทบาทอื่นๆ ที่โดดเด่นของเธอได้แก่ลูซีในซีรีส์ยอดนิยมเรื่อง “Gilmore Girls” และไกอา กู๊ดแมนในซีรีส์ฮิตเรื่อง “Veronica Mars”
ผลงานละครของริตเตอร์ได้แก่เรื่อง “All This Intimacy” ที่จัดแสดงขึ้นที่โรงละครเซคคันด์ สเตจ เธียเตอร์และ “24 Hour Plays” ที่จัดแสดงขึ้นที่โรงละครซิกเนเจอร์ เธียเตอร์ในนิวยอร์กเมื่อปี 2006
ริตเตอร์เป็นสมาชิกวงดนตรีร็อคชื่อเอ็กซ์-วิเวียน ซึ่งผลิตเพลงให้กับทั้งเรื่อง “Frost” และ “BuzzKill” เธอเริ่มต้นเข้าวงการบันเทิงจากการเป็นลูกค้าของเอเจนซีเอลิต โมเดล เมเนจเมนต์
โรเบิร์ต สแตนตัน (ดีเร็ค สมีธ) เข้ารับการฝึกฝนที่ทิสช์ สคูล ออฟ เดอะ อาร์ตส์ แกรดูเอท แอ็กติ้ง โปรแกรมแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Gigantic” และในซีเควลของลุค เบซงเรื่อง “Arthur and the Invisibles” ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยซิดนีย์ ลูเม็ตเรื่อง “Find Me Guilty,” “The Stepford Wives,” “Head of State,” “The Quiet American,” “Mercury Rising,” “Red Corner,” “Next Stop, Wonderland,” “Washington Square,” “Striptease,” “Dennis the Menace,” “Bob Roberts” และ “A League of Their Own”
ผลงานจอแก้วของสแตนตันได้แก่การรับบทรับเชิญในซีรีส์ “Law & Order,” “Law & Order: Criminal Intent,” “Frasier” และผลงานที่วู้ดดี้ อัลเลนดัดแปลงจากละครเวทีของเขาเรื่อง “Don’t Drink the Water” เขาได้แสดงละครบรอดเวย์ไตรภาคโดยทอม สต็อปเพิร์ดเรื่อง “The Coast of Utopia” ที่โรงละครลินคอล์น เซ็นเตอร์ ผลงานละครเวทีออฟบรอดเวย์ของเขายังได้แก่ละครของเขาเองเรื่อง “Love Child” ที่ร่วมเขียนบทและแสดงกับแดเนียล เจนกินส์, การแสดงที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโอบีในละครโดยเดวิด อีฟส์เรื่อง “All in the Timing,” ละครโดยเบรทช์เรื่อง “The Resistible Rise of Arturo Ui” กับอัล ปาชิโน ที่กำกับโดยไซมอน แม็คเบิร์นนีย์และละครโดยเดวิด ลินด์ซีย์-อแบร์เรื่อง “Fuddy Meers” เขาได้รับบทนำในละครใหม่ๆ และละครคลาสสิกในงานเทศกาลละครวิลเลียมส์ทาวน์, ฮาร์ทฟอร์ด สเตจและเป็นสมาชิกในคณะอเมริกัน รีเพอร์ทอรี เธียเตอร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย
คริสติน อีเบอร์โซล (มาร์ธา ล็อคเยียร์) เป็นผู้ได้รับรางวัลโทนี อวอร์ดสองสมัย ล่าสุดจากบทบาทของเธอในมิวสิคัลบรอดเวย์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชมเชยอย่างล้นหลามเรื่อง “Grey Gardens” ละครเรื่องนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลโทนี อวอร์ดปี 2007 ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในมิวสิคัลจากบทเอดิธ บูเวียร์ บีลและ “ลิตเติล” เอ็ดดี้ บีล นอกเหนือจากนั้น “Grey Gardens” ก็ทำให้เธอได้รับรางวัลเอาเตอร์ คริติกส์ เซอร์เคิล อวอร์ด รางวัลโอบี อวอร์ดและรางวัลดรามา เดสก์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในมิวสิคัล และได้รับการยกย่องจากนิวยอร์ก ดรามา คริติกส์และดรามา ลีก ให้เป็นการแสดงยอดเยี่ยมแห่งปีอีกด้วย อีเบอร์โซลยังได้ร่วมแสดงในสารคดีที่เพิ่งออกอากาศเร็วๆ นี้ “Grey Gardens: From East Hampton to Broadway” ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์พีบีเอสที่ได้รับรางวัลเอ็มมีเรื่อง "Independent Lens"
อีเบอร์โซลได้รับรางวัลโทนีครั้งแรกในปี 2001 จากละครเรื่อง “42nd Street” ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในมิวสิคัลและรางวัลเอาเตอร์ คริติกส์ เซอร์เคิล อวอร์ด นอกจากนั้น เธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนีและเอาเตอร์ คริติกส์ อวอร์ดปี 2003 จากละครเรื่อง “Dinner at Eight” และ “Steel Magnolias” ในปี 2005
บนเวทีออฟบรอดเวย์ เธอได้รับรางวัลโอบีและเอาเตอร์ คริติกส์ เซอร์เคิล อวอร์ดปี 2003 จากการแสดงในละครโดยอลัน เบนเนตต์เรื่อง “Talking Heads” ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอจะได้แสดงละครบรอดเวย์เรื่อง “Blithe Spirit” ประกบรูเพิร์ต เอฟเวอเรตต์และแองเจลา แลนส์เบรี
ผลงานภาพยนตร์ของอีเบอร์โซลได้แก่ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่อง“Amadeus,” “Tootsie,” “Dead Again,” “Richie Rich” “Black Sheep” และ “My Favorite Martian”
อีเบอร์โซลเป็นหนึ่งในทีมนักแสดงซีซันปี 1981-82 ของซีรีส์ “Saturday Night Live” และเธอก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากดรามาช่วงกลางวันเรื่อง “One Life to Live” ผลงานจอแก้วของเธอยังรวมถึง “Boston Legal,” “Samantha Who” และ “Law & Order: Special Victims Unit” และภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง“Gypsy” และ “The Dollmaker” นอกจากนั้นแล้ว เธอยังได้แสดงในรายการพิเศษทางพีบีเอส ทีวีเรื่อง “Ira Gershwin at 100: A Celebration at Carnegie Hall” และ “The Rogers & Hart Story: Thou Swell, Thou Witty” อีกด้วย
นอกเหนือจากนั้น อีเบอร์โซลยังได้บันทึกแผ่นเสียงสามชุด “Christine Ebersole: Live at the Cinegrill,” “In Your Dreams: Christine Ebersole With Billy Stritch” และผลงานล่าสุด “Sunday in New York: Christine Ebersole and Billy Stritch” อีกด้วย
คลี ลูอิส (มิสแพสซินสกี้) ใช้เวลาช่วงหลายปีที่ผ่านมาในนิวยอร์ก ที่ซึ่งเธอได้กลับไปเล่นละครเวทีอีกครั้ง บทบาทที่เธอโปรดปรานได้แก่ละครบรอดเวย์เรื่อง “Absurd Person Singular” และละครออฟบรอดเวย์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Writer’s Block” (ที่กำกับโดยอัลเลนเช่นกัน), “Last Easter,” “Once in a Lifetime” และ “Things You Shouldn’t Say Past Midnight”
ผลงานภาพยนตร์ของลูอิสได้แก่ “Diabolique,” “The Rich Man’s Wife,” “Scotch and Milk” และล่าสุดคือ “Perfect Stranger” นอกเหนือไปจากบทออเดรย์ของเธอในซีรีส์ “Ellen” แล้ว ลูอิสยังเป็นขาประจำในซีซันสุดท้ายของซีรีส์ “Andy Barker, P.I.” ผลงานซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่เธอเป็นขาประจำได้แก่ “Flying Blind” และ “Maggie Winters” เธอได้แสดงเป็นแขกรับเชิญในซีรีส์ “Law and Order: Special Victims Unit,” “Friends,” “Mad About You,” “The Martin Short Show,” “The Tracey Ullman Show,” “Madigan Men” และ “My Big Loud Greek Family” ลูอิสได้พากย์เสียงเป็นนิคกี้ในซีรีส์อนิเมชันเรื่อง “Pepper Ann” และได้อ่านนิยายเรื่อง “The Princess Diaries” ลงเทปให้กับสำนักพิมพ์แรนดอม เฮาส์
เวนดี้ มาลิค (มิสคอร์ช) ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลเอ็มมีและรางวัลลูกโลกทองคำต่อจากนี้จะมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Abatu”และ “Adventureland” ผลงานภาพยนตร์ของเธอได้แก่ “Racing Stripes,” “The American President,” “Jerome,” “Scrooged,” “On Edge,” “Cahoots,” “Trojan War,” “Funny About Love,” “A Little Sex” และ “Mr. Mike’s Mondo Video” รวมไปถึงการพากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่อง “The Emperor’s New Groove”
ด้านจอแก้ว มาลิครับบทเป็นอดีตนางแบบและบรรณาธิการแฟชันในเรื่อง “Just Shoot Me” ผลงานซีรีส์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ “Jake in Progress,” “Frasier” และ “Dream On” ทางเอชบีโอ ที่ทำให้เธอได้รับสี่รางวัลเคเบิลเอซ อวอร์ด ในปี 1999 มาลิคได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามจากบทผู้เขียนคอลัมน์ให้คำปรึกษา อบิเกล ฟาน บูเรนและแอนน์ แลนเดอร์สในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “Take My Advice” ผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่การแสดงนำในซีรีส์ “Trauma Center” และ “Good Company,” บทประจำใน “NYPD Blue,” “Anything But Love,” “Baywatch” และ “Kate & Allie” และบทดารารับเชิญในซีรีส์ “CSI: Crime Scene Investigation,” “The X-Files,” “Seinfeld,” “LA Law,” “Cybill,” “Mad About You” และ “Law & Order” นอกจากนี้ เธอยังได้นำแสดงในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “Paper Dolls,” “Dynasty: The Miniseries,” “Apollo 11,” “Perfect Body” และ “North Shore Fish” ซึ่งเป็นบทที่เธอเคยได้รับมาแล้วในละครเวทีอีกด้วย
ผลงานละครเวทีของมาลิคได้แก่การแสดงในละครโดยอิสราเอล โฮโรวิทซ์เรื่อง “North Shore Fish” (นิวยอร์ก), ละครโดยวิคเตอร์ บัมบาโลเรื่อง “Questa” และละครโดยโอลิเวอร์ เฮลลีย์เรื่อง “Round Trip” (ลอสแองเจลิส) ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอาร์ทิสติก ไดเร็กเตอร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในละครเวทีในปี 1995 ในลอสแองเจลิส เธอได้แสดงละครเวทีเรื่อง “The Vagina Monologues,” “The Guys,” “Santaland Diaries” และได้ร่วมแสดงในสัปดาห์สุดท้ายของละครเวทีโดยสตีฟ มาร์ตินเรื่อง “The Underpants” นอกจากนี้ มาลิคยังได้นำแสดงในละครออฟบรอดเวย์เรื่อง “Burleigh Grimes” และได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากละครเวทีเรื่อง “Blithe Spirit” ที่จัดแสดงที่เทศกาลละครวิลเลียมส์ทาวน์
ในปี 2000 มาลิคได้รับการยกย่องจากวีเมน อิน ฟิล์มส์ให้เป็น “หญิงสาวแห่งวิสัยทัศน์” ร่วมกับทิปเปอร์ กอร์, เกวน อิฟิลส์และโรแซนน์ เธอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์สื่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสมาคมการวางแผนครอบครัว (ซึ่งยกย่องให้เธอเป็น “แชมเปี้ยน ออฟ ชอยส์” ในปี 2006) และคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมฮิวเมน โซไซตี้ เธอและสามีเธอได้ให้การสนับสนุนศูนย์ทางการแพทย์ในประเทศคองโกและมีบทบาทในการช่วยเหลือสถานสงเคราะห์สตรีในทิฮัวนา ผ่านทางกองทุนการกุศล “A Drop in the Bucket” ของพวกเธอ
เกี่ยวกับทีมผู้สร้าง
พี.เจ. โฮแกน (ผู้กำกับ) เปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกด้วยภาพยนตร์เรื่อง “Muriel’s Wedding” ซึ่งเขาเขียนบทเองด้วย ในปี 1994 เมื่อ “Muriel’s Wedding” เปิดตัวในคืนผู้กำกับในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1994 มันก็ได้รับการยืนปรบมือนานถึง 15 นาที ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นที่สุดในงานประกาศผลรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลียด้วยการได้รับการเสนอชื่อชิง 11 รางวัลซึ่งรวมถึงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัลเอเอฟไอสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมและซาวน์ยอดเยี่ยมอีกด้วย
เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ (ผู้อำนวยการสร้าง) เรื่องราวยอดเยี่ยม ที่ได้รับการบอกเล่าอย่างเยี่ยมยอด ทั้งสำหรับผู้ชมในโรงภาพยนตร์ที่มืดมิดหรือในห้องนั่งเล่นที่บ้าน มันอาจจะนำแสดงโดยดาราหนังชั้นยอดหรือดาราพรสวรรค์หน้าใหม่ มันอาจเป็นการผจญภัยสุดระทึก คอเมดีตลกโปกฮา โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ประวัติศาสตร์อีพิค ความรักหวานชื่นหรือดรามาสะเทือนอารมณ์ มันอาจเกิดขึ้นในอดีตอันไกลโพ้นหรือที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ อาจเป็นอนาคตที่อยู่ในจินตนาการหรือปัจจุบันที่คุ้นเคย ไม่ว่าองค์ประกอบของเรื่องจะเป็นยังไง แต่ถ้ามันเริ่มต้นด้วยสายฟ้าฟาด มันก็คือเรื่องราวที่บอกเล่าโดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์และพวกมันก็จะเป็นเรื่องราวยอดเยี่ยม ที่ได้รับการบอกเล่าอย่างเยี่ยมยอด
เรื่องของตัวเลข ทั้งรายได้และรางวัลที่ได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นสถิติที่มักจะได้รับการบันทึกไว้เสมอ ภาพยนตร์ของบรั๊คไฮเมอร์ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 15 พันล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศและยอดขายวิดีโอและแผ่นเสียง ในปี 2005-6 เขาสร้างสถิติด้วยการส่งซีรีส์แพร่ภาพตามสถานีโทรทัศน์ถึงแปดเรื่อง ภาพยนตร์ของเขา ซึ่ง 16 เรื่องในจำนวนนั้นทำรายได้เกินกว่า 100 ล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกา ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด 41 ครั้ง ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดหกครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงแกรมมี อวอร์ดแปดครั้ง ได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดห้าครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงลูกโลกทองคำ 23 ครั้ง ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสี่ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงเอ็มมี อวอร์ด 77 ครั้ง ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ด 17 ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ด 23 ครั้ง ได้รับรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ด 15 ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา ได้รับรางวัลเอ็มทีวี อวอร์ดมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งรวมถึงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษจาก “Beverly Hills Cop” และทีน ชอยส์ อวอร์ด 20 รางวัล
ผลงานหลังจากนี้โดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ได้แก่ “G-Force” ภาพยนตร์ผจญภัยซึ่งผสมผสานไลฟ์แอ็กชันและภาพ CG เข้าด้วยกันภายใต้การกำกับของพ่อมดวิชวล เอฟเฟ็กต์เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ฮอยท์ ยีทแมนและ “Prince of Persia: The Sands of Time” อีพิคแฟนตาซีผจญภัยที่กำกับโดยไมค์ นีเวลล์ (“Harry Potter and the Goblet of Fire”) และนำแสดงโดยเจค จิลเลนฮาล, เจ็มมา อาร์เตอร์ตัน นักแสดงหน้าใหม่, เซอร์เบน คิงส์ลีย์และอัลเฟรด โมลินา
ไมค์ สเตนสัน (ผู้อำนวยการสร้างบริหาร) ดำรงตำแหน่งประธานเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ ซึ่งเขาทำหน้าที่ควบคุมการพัฒนาและผลิตภาพยนตร์ทุกแง่มุม ก่อนหน้าที่จะทำงานในบริษัทแห่งนี้ เขาเป็นผู้บริหารที่ดูแลการผลิตที่ดิสนีย์ และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์ได้แก่ “Armageddon,” “The Rock,” “Crimson Tide” และ “Dangerous Minds”
ล่าสุด สเตนสันรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างใน “Bad Company” และ “Gone in Sixty Seconds” และรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารใน “Glory Road,” “National Treasure,” “King Arthur,” “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl,” “Bad Boys 2,” “Veronica Guerin,” “Kangaroo Jack,” “Black Hawk Down,” “Pearl Harbor,” “Coyote Ugly,” “Remember the Titans,” “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest,” “D?j? Vu,” “Pirates of the Caribbean: At World’s End,” “National Treasure: Book of Secrets” และภาพยนตร์ที่กำลังจะลงโรงเรื่อง “G-Force” และ “Prince of Persia: The Sands of Time”
สเตนสันเกิดและเติบโตในบอสตัน เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการฝึกงานเพื่อสำเร็จการศึกษา เขาได้เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายงานสร้างในนิวยอร์ก และทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์อินดีและรายการโทรทัศน์สองปีในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับและผู้จัดการฝ่ายงานสร้างก่อนที่จะกลับบอสตันเพื่อศึกษาต่อจนจบ
หลังจากเรียนจบบริหารธุรกิจแล้ว สเตนสันก็ย้ายไปลอสแองเจลิส ที่ซึ่งเขาเริ่มต้นการทำงานในวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ในโปรเจ็กต์พิเศษเป็นเวลาสองปีก่อนที่เขาจะก้าวไปเป็นผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟในแผนกงานสร้างที่ฮอลลีวูด พิคเจอร์ส เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรองประธานและรองประธานบริหารในช่วงเวลาการทำงานแปดปี โดยเขาได้ทำการดูแลขั้นตอนพัฒนาและงานสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวูด พิคเจอร์สและทัชสโตน พิคเจอร์ส นอกเหนือจากภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์แล้ว สเตนสันยังได้พัฒนาและดูแลภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องเช่น “Rush Hour,” “Instinct,” “Six Days, Seven Nights” และ “Mr. Holland’s Opus”
ขณะทำงานที่ดิสนีย์ ผู้สร้างมากมายพยายามจะชักชวนสเตนสันให้ไปทำงานกับตน แต่จนกระทั่งปี 1998 เขาจึงตัดสินใจออกจากบริษัท ด้วยตำแหน่งประธานบริษัทเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ สเตนสันได้เป็นผู้ดูแลแผนการของบรั๊คไฮเมอร์ในการขยายตารางการถ่ายทำภาพยนตร์ของบริษัทออกไป
แชด โอมาน (ผู้อำนวยการสร้างบริหาร) ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายงานสร้างของบริษัทเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ ที่ซึ่งเขาทำหน้าที่ดูแลขั้นตอนการพัฒนาและงานสร้างทุกแง่มุมของภาพยนตร์ โอมานได้ร่วมกับบรั๊คไฮเมอร์อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Remember the Titans” ซึ่งนำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตันให้กับวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์และ “Coyote Ugly” ที่นำแสดงโดยไปเปอร์ เพอราโบและจอห์น กู๊ดแมนให้กับทัชสโตน พิคเจอร์ส
ผลงานการอำนวยการสร้างบริหารล่าสุดให้กับเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ของเขาได้แก่ “G-Force” และ “Prince of Persia: The Sands of Time” ที่จะลงโรงในเร็วๆ นี้ นอกจากนั้น เขายังได้อำนวยการสร้างบริหารภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามเรื่อง “Veronica Guerin” รวมไปถึงบล็อกบัสเตอร์ฮิตเรื่อง “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl,” “Bad Boys II,” “Black Hawk Down,” “Pearl Harbor,” “Gone in 60 Seconds,” “Enemy of the State,” “Armageddon,” “Con Air,” “Glory Road,” “D?j? Vu,” “National Treasure: Book of Secrets,” “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” และ “Pirates of the Caribbean: At World’s End”
นอกเหนือไปจากการทำงานในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์ โอมานยังได้ควบคุมงานสร้างซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงดรามาทางเอบีซีเรื่อง “Dangerous Minds” และเรื่อง “Swing Vote”
ก่อนหน้าที่จะร่วมงานกับซิมป์สันและบรั๊คไฮเมอร์ในปี 1995 โอมานเป็นพนักงานรุ่นก่อตั้งของบริษัทโมชัน พิคเจอร์ คอร์ปอเรชัน ออฟ อเมริกา หลังจากทำงานได้หกปี เขาก็ได้ออกจากบริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระขณะดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายงานสร้าง
โอมานรับหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Dumb and Dumber” ได้อำนวยการสร้างบริหารภาพยนตร์ของทัชสโตน พิคเจอร์สเรื่อง “The War at Home” และได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Desperate Trail” และ “The Sketch Artist” นอกจากนี้ โอมานยังอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Hands That See” และ “Love, Cheat and Steal” อีกด้วย
โอมานสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น เมธอดดิสท์ในสาขาการเงิน เขายังเข้าศึกษาเกี่ยวกับการเขียนบทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิสและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาได้เข้าร่วมหลักสูตรการสร้างภาพยนตร์
โซฟี คินเซลลา (ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง) เกิดในกรุงลอนดอนและเข้าศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ด เธอทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเธอเหมาะกับงานเขียนนิยายมากกว่าข้อเท็จจริง เธอเป็นผู้เขียนซีรีส์ “Shopaholic” รวมไปถึงนิยายเล่มเดียวจบเรื่อง “Can You Keep a Secret?”, “The Undomestic Goddess” และ “Remember Me?” นอกจากนี้ เธอยังได้เขียนนิยายอีกเจ็ดเล่มภายใต้ชื่อจริงของเธอ แมดเดอลีน วิคแฮม
เธอทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินการมอบรางวัลคอสตา บุ๊ค อวอร์ด (ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นรางวัลวิทเบรด บุ๊ค อวอร์ด) และเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ในการมอบรางวัลเมลิสซา นาธาน อวอร์ดสาขคอเมดีโรแมนซ์ “Can You Keep a Secret?” และ “The Undomestic Goddess” กำลังอยู่ระหว่างการสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง
คริสตี้ ซี (ผู้ออกแบบงานสร้าง) เป็นผู้หญิงคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์อย่างแท้จริง โดยเธอประสบความสำเร็จจากการทำหน้าที่ผู้ออกแบบงานสร้าง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ซีเริ่มต้นการทำงานในภาพยนตร์ในตำแหน่งผู้ช่วยออกแบบเครื่องแต่งกายใน “French Postcards” และผู้ประสานงานฝ่ายออกแบบในภาพยนตร์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Interiors” หลังจากนั้น เธอก็ขยับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในยุค 80s หลายเรื่อง เช่น “Fame,” “Endless Love,” “Shoot the Moon,” “Terms of Endearment,” “The Little Drummer Girl,” “Birdy,” “Silverado” และ ฯลฯ
หลังจากนั้น เธอก็ได้ขยับสู่งานออกแบบงานสร้าง ด้วยการได้ทำงานในภาพยนตร์สำคัญๆ หลายเรื่องจากผู้กำกับชื่อดังเช่นมาร์ติน สกอร์เซซี, โจนาธาน เดมม์, แบร์รี เลวินสันและแซม เมนเดส โดยผลงานส่วนหนึ่งของเธอได้แก่ “Married to the Mob,” the “Life Lessons” segment of “New York Stories,” “Goodfellas,” “The Silence of the Lambs,” “Lorenzo’s Oil,” “Philadelphia,” “Sleepers,” “Beloved,” “Changing Lanes,” “Red Dragon,” “The Manchurian Candidate,” “The Departed,” “The Brave One” และ “Revolutionary Road”
ซีเป็นผู้ช่วยอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Lucas,” “Broadcast News” และ “Philadelphia” และรับหน้ที่หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่อง “As Good As It Gets” ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด นอกจากนี้ เธอยังได้กำกับเซ็กเมนต์หนึ่งของ “Women & Men 2: There Are No Rules” ที่แพร่ภาพทางเอชบีโออีกด้วย
แพทริเซีย ฟิลด์ (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย) เป็นหนึ่งในแฟชัน ดีไซเนอร์แถวหน้าของอเมริกา รวมทั้งเป็นดีไซเนอร์ที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่ต้องการตัวสูงสุดในแวดวงจอเงินและจอแก้ว เธอได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ดจากภาพยนตร์เรื่อง “The Devil Wears Prada” และได้รับการเสนอชื่อชิงหกรางวัลเอ็มมี อวอร์ด รวมถึงห้าครั้งจากซีรีส์ “Sex and the City” เธอได้รับรางวัลเอ็มมีจากซีซันปี 2002 รวมไปถึงสำหรับ “Mother Goose Rock ‘n’ Rhyme” ในปี 2000 ฟิลด์ได้รับสี่รางวัลสมาพันธ์ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมสำหรับโทรทัศน์จาก “Sex and the City” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอีกเจ็ดครั้งด้วยกัน
ฟิลด์เปิดบูติคแห่งแรกของเธอขึ้นในกรีนวิช วิลเลจในนิวยอร์กในปี 1996 และยี่สิบปีให้หลัง เธอก็ได้ออกแบบภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์เป็นครั้งแรก เริ่มต้นจากซีรีส์ “Crime Story” ในปี 1995 ฟิลด์ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Miami Rhapsody” ซึ่งนับเป็นการร่วมงานครั้งแรกระหว่างเธอกับซาราห์ เจสสิก้า ปาร์คเกอร์ หลังจากผลงานของเธอในซีรีส์ “Spin City” ฟิลด์ก็ได้รับการทาบทามให้รับหน้าที่ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับปาร์คเกอร์และนักแสดงคนอื่นๆ ในซีรีส์ “Sex and the City” ซึ่งเธอได้ร่วมทำงานใน 34 เอพิโซดระหว่างปี 1999-2004 นอกจากนี้ ฟิลด์ยังได้ออกแบบในซีรีส์ “Hope & Faith” ระหว่างปี 2003-2006 และเป็นผู้กำหนดลุคของซีรีส์ “Ugly Betty” ด้วยการออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับตอนไพล็อตในปี 2006
ภาพยนตร์เรื่อง “The Devil Wears Prada” ทำให้ฟิลด์ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในปี 2006 ในปีถัดไป เธอได้ทำงานในภาพยนตร์เรื่อง “Suburban Girl” และสองเอพิโซด ซึ่งรวมถึงตอนไพล็อตของซีรีส์ “Cashmere Mafia” ก่อนที่จะได้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับเรื่อง “Sex and the City: The Movie”
เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด (คอมโพสเซอร์) ได้กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับพี.เจ. โฮแกน ซึ่งเขาได้แต่งดนตรีประกอบให้ในภาพยนตร์เรื่อง “My Best Friend’s Wedding,” “Unconditional Love” และ “Peter Pan” คอมโพสเซอร์ นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์แผ่นเสียง วาทยกรและนักคีย์บอร์ดผู้โด่งดังคนนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Michael Clayton,” “The Village,” “My Best Friend’s Wedding,” “The Fugitive,” “The Prince of Tides” และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “One Fine Day” และ “Junior” เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำจากดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยปีเตอร์ แจ็คสันเรื่อง “King Kong” และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “One Fine Day” และ “Junior”
นอกจากนี้ โฮเวิร์ดยังได้แต่งดนตรีประกอบซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง เช่น “ER” ที่ทำให้เขาได้รับ 12 รางวัลเอเอสซีเอพี อวอร์ดอีกด้วย