กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
ได้เห็นกันชัดๆ ถึงความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เมื่อ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตัดสินให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับค่าเสียหายมูลค่า 3.5 ล้านบาทจากบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยาในคดีละเมิดลิขสิทธิ์
ศาลพิพากษาว่าจำเลยใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจจริง การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย
คดีนี้เริ่มดำเนินการสืบสวนในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2549 และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปี 2551 ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 3.5 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงค่าความเสียหายของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิด ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
“เราขอชื่นชมการตัดสินของศาลฯ ที่ตัดสินให้จำเลยต้องยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต้องจ่ายค่าชดเชย” ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอกล่าว “การละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แท้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานและเติบโตทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย”
จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) คาดว่าในปี 2552 นี้ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง โดยจะอยู่ที่ 5% เมื่อเทียบกับ 18-19% ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา สมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยกล่าวว่า “การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปกป้องนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปีที่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งปีนี้”
“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ซึ่งรวมถึงโอกาสในการจ้างงาน รายได้ เงินเดือน การจัดเก็บภาษี ตลอดจนเม็ดเงินจากการค้าปลีกซอฟต์แวร์และโปรแกรมที่ใช้ในธุรกิจ” คุณสมเกียรติกล่าว “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นภัยต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของชาติและไม่อาจยอมรับได้ คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาไทยที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย นับเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์”
ผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยนั้นกว้างขวาง การศึกษาของไอดีซีเมื่อปีที่แล้วถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ระบุว่า หากไทยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลงได้ 10% จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม 2,100 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 ล้านบาท) และภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,275 ล้านบาท)
มร. ซอว์นีย์กล่าวเสริมว่า ผลของคำพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบในการดำเนินคดีกับธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป
“การดำเนินคดีทางแพ่งกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับผลประโยชน์ที่สูญเสียไปจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นทางเลือก นอกเหนือไปจากการดำเนินคดีทางอาญา” ซอว์นีย์กล่าว “นี่เป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและผู้ประกอบการในประเทศไทย”
บ่อยครั้งที่การดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีเบาะแสมาจากสายด่วนของบีเอสเอ ผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทางสายด่วนโทร. 02-714-1010 มีโอกาสได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้รายงานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อาทิมา ตันติกุล ชลิดา ศิริสุทธิเดชา
วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ วีโร่พับลิครีเลชั่นส์
โทร: +66 (0) 2684-1551 โทร: +66 (0) 2684-1551
แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553 แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553
E-mail: artima@veropr.com E-mail: chalida@veropr.com