กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ศลชท.
ดีเดย์เลือกประธาน สำนักงานจริยธรรมการวิจัยในคน 14 พ.ย.นี้ เผยผลดีสามารถลดขั้นตอนพิจารณาจริยธรรมต้นเหตุวิจัยยาใหม่ล่าช้า มั่นใจอนาคตไทยสามารถแข่งขันชิงทุนวิจัยจากต่างประเทศเพิ่มแน่
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ตามที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการทำวิจัยในคนของประเทศไทย ประกอบไปด้วย กระทรวงสาธารณสุข คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิททยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมานั้น ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ จะมีการคัดเลือกประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานฯ เพื่อก่อประโยชน์ต่อการวิจัยทางคลินิกของสถาบันต่าง ๆ ในประเทศ
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีคณะกรรมการด้านจริยธรรมของแต่ละสถาบันอยู่แล้ว แต่ยังขาดกลไกการประสานงาน ที่ผ่านมาหากมีโครงการวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับหลายสถาบัน แต่ละสถาบันต้องพิจารณากันเอง จึงทำให้โครงการใช้เวลามากกว่าจะผ่านการอนุมัติครบทุกสถาบัน บางครั้งพลาดโอกาสในการร่วมวิจัยนานาชาติ เพราะไม่ทันประเทศอื่น ทั้งนี้จากการหารือในระดับผู้บริหารของแต่ละสถาบันที่มีการวิจัย และจากกระทรวงสาธารณสุข ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าควรให้มีการพัฒนาศักยภาพการพิจารณากระบวนการวิจัยแบบพหุสถาบันในคนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีความเป็นอิสระ และได้รับการยอมรับจากสถาบันต่าง ๆ ที่ดำเนินการวิจัยทางคลินิก โดยให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ และมีระบบการจัดการที่เข้มแข็ง อันจะพัฒนาการรองรับการทำวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย ให้เป็นผู้นำของภูมิภาคในอนาคต
“ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าตัวยาใหม่ ๆ ที่ศึกษาวิจัยจากต่างประเทศเข้ามารักษาคนไทย จำนวนมากแต่คนไทยมีโอกาสร่วมวิจัยและมีรายได้จากการวิจัยยังน้อยอยู่ ดังนั้นการมีคณะกรรมการฯ จะทำให้โอกาสที่นักวิจัยไทยจะได้ร่วมและแข่งขันวิจัยกับนานาชาติได้มากขึ้น และผู้ป่วยคนไทยมีโอกาสได้รับการรักษาแนวใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net