กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT เป็น ‘3’ จาก ‘4’ และได้ประกาศยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive) หลังจาก CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้เข้ามาเป็นถือหุ้นใหญ่ใน BT
ฟิทช์มองว่าการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน BT ของ CIMB เป็น 92.04% จาก 42.13% เมื่อเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมานั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายนี้หากมีความจำเป็น นอกจากนั้น CIMB มีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อ BT เป็น CIMB Thai Bank Public Company Limited และจะเพิ่มทุนอีกจำนวน 5 พันล้านบาท ในรูปของหุ้นสามัญและตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Tier 2) และคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2552 การแต่งตั้งคณะกรรมการและทีมงานผู้บริหารระดับสูงใหม่จะทำให้ CIMB สามารถควบคุมการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคาร การวางกลยุทธ์ระยะยาวที่มีความชัดเจนในการพัฒนาเครือข่ายของธนาคาร และความสำเร็จในการควบรวมระบบงานภายใน อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นได้ในปีหน้า
BT มีผลประกอบการที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานขาดทุนเพิ่มเติมอีก 1.9 พันล้านบาทในปี 2551 ผลการประกอบการที่อ่อนแอดังกล่าวเป็นผลจากการขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO จำนวน 2.9 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยของ BT ยังคงทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3% ในปี 2551
BT มีเงินลงทุนในตราสารประเภท Structure Notes ในระดับสูงที่ประมาณ 12.3 พันล้านบาท BT รายงานว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยมีอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ ‘A+’ หรือสูงกว่านั้น โดยราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ที่ 93% ของต้นทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการด้อยค่าของหลักทรัพย์ ถ้าภาคการธนาคารและภาครัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ยังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ BT มีมูลค่า 13.6 พันล้านบาท หรือ 14.7% ของสินเชื่อ ลดลงเล็กน้อยจาก 13.9 พันล้านบาท หรือ 14.1% ของสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากมีการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ณ สิ้นปี 2551 ธนาคารมีระดับสำรองหนี้สูญที่ 10 พันล้านบาท หรือ 73.5% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับธนาคารอื่น ๆ ในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามจากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เริ่มชะลอตัวลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอาจจะเพิ่มขึ้นอีก และจะส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิของธนาคาร CIMB คาดว่าหลังจากการระดมทุนจำนวน 5 พันล้านบาทในครั้งนี้จะส่งผลให้เงินกองทุนของ BT ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่ประมาณ 11%
CIMB Group Sdn Bhd หรือ CIMB Group เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย และถือหุ้น 99.99% ใน CIMB ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทหลักของกลุ่ม CIMB Group มีผู้ถือหุ้นหลักคือ Bumiputra-Commerce Holdings Bhd หรือ BCHB ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย โดย BCHB มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Khazanah ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของรัฐบาลมาเลเซีย และยังมีองค์กรอื่นๆ ของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 46% CIMB Group ได้ขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคนี้ในช่วงที่ผ่านมา โดยได้เข้าไปถือหุ้น 78% ใน PT Bank CIMB Niaga ประเทศอินโดนีเซีย และได้ทำการเสนอซื้อหุ้น 19.99% ใน Bank of Yingkou ประเทศจีน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 BCHB รายงานผลกำไรจำนวน 0.5 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีสินทรัพย์มากกว่า 5.4 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ติดต่อ
Vincent Milton, พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4759/4761