กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--Ben Communications
แม้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปัจจุบัน ล้วนส่งผลกระทบต่อการว่าจ้างแรงงานโดยตรง แต่ในตลาดแรงงานที่มีความสามารถพิเศษและหายากนั้น จะยังมีการเติบโตที่มีอัตราจ้างสูง โรงเรียนเทคโนโลยีสยามได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญทางด้านการศึกษา จากความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมของประเทศไทย แต่ยังมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีความรู้คู่ทักษะที่พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศสู่เส้นทางที่มุ่งหวัง และมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและเยาวชนไทยอย่างผู้นำ
โรงเรียนเทคโนโลยีสยามได้ให้บริการการศึกษาในสาขาวิชาที่หลากหลายที่ผสมผสานความรู้ด้านทฤษฎีควบคู่ทักษะ โดยเน้นวัดผลจากการปฏิบัติงานได้จริงตามสภาพปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พร้อมสอดคล้องความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเป็นการเชื่อมต่อโลกแห่งการศึกษาและโลกงานที่แท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ทางโรงเรียนจึงได้จัด “โครงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” เพื่อสร้างมาตรฐานความเป็นผู้นำทางด้านอาชีพภาควิชาเครื่องกล สาขาด้านช่างเครื่องยนต์และช่างไฟฟ้ากำลัง ในระดับ ปวช. เพื่อก้าวสู่เส้นทางมืออาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในการที่จะขับเคลื่อนพัฒนาสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
“ โครงการตรงนี้เป็นไตรภาคี ทั้งภาครัฐ สถานประกอบการ และบริษัทเอกชน ที่จะรับประกันสมรรถนะด้านวิชาชีพที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ใช้ได้จริง ได้ระดับมาตรฐานตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่เป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนายจ้างก็ได้ประโยชน์เพราะบุคลากรที่ผ่านตรงนี้สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคเองก็ได้ประโยชน์จากการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้คุณภาพที่ดีเช่นกัน
...ฉะนั้นในแต่ละปีจะมีสถานประกอบการต่างๆ เข้ามาขอให้ส่งตัวศึกษาเข้าไปทำงานจำนวนมาก แต่ทางเราจัดให้ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ เพราะเด็กเลือกที่จะศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป ดังนี้นักศึกษาที่ได้ผ่านโครงการนี้ 95 % มีงานทำแน่นอน
...และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ มาตรฐานตรงนี้ยิ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดแรงงาน อย่างเช่น ทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ คนจะไม่ซื้อรถใหม่ แต่กลับยิ่งใช้บริการหลังการขายมาก เพราะต้องนำรถเก่ามาซ่อมบำรุงรักษากันมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรทางด้านนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน”อาจารย์นิพนธ์ เนียมสุวรรณ
หัวหน้าภาควิชาเครื่องกล และผู้ดูแลโครงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ บอกเล่าถึงวิกฤติคือโอกาสสำหรับมืออาชีพ
หลังจากที่น้องๆ ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกันมาอย่างดีแล้ว ในสาขาเครื่องยนต์ก็เรียนรู้ในระบบเครื่องยนต์แก๊สโซลีนและดีเซล ทั้งระบบไฟฟ้ารถยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ทั้งศึกษาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในรูปแบบต่างๆ ส่วนน้องๆ ทางด้านช่างไฟฟ้าต่างก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของระบบวงจรไฟฟ้าและแสงสว่าง ทั้งการตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน การเดินสายๆในอาคาร-โรงาน ทั้งเครื่องทำความเย็นเครื่องปรับอากาศ และหลังจากนั้นทุกคนต่างได้ออกไปปฏิบัติการจริงฝึกงานตามสถานประกอบและศูนย์บริการต่างๆ เป็นเวลา 2 เดือน
น้องๆ ทุกคนต่างสะสมประสบการณ์ความรู้มาอย่างเต็มเปี่ยมกันแล้ว และท้ายสุดทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการทดสอบภูมิปัญญากันแล้ว คือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 อีก 1 วันเต็มๆ โดยแต่ละคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมประจำการตามหน่วยต่างๆ ซึ่งต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎี 40 % และภาคปฏิบัติอีก 60 % โดยมีการกำหนดเงื่อนไข / เวลา ที่ทุกคนจะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ถึงจะเรียกว่าจบผ่านโครงการนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ศิริลักษณ์ จันทร์แย้ม หรือน้องลักษณ์ สาวน้อยวัย 18 ผู้มาดมั่นกับอาชีพช่างยนต์ เธอเล่าว่า ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงแต่ถ้ามีใจสู้เสียอย่าง เรื่องงานเครื่องยนต์ไม่หนัก ไม่ยากอย่างที่คิด
“ผู้หญิงสามารถเรียนได้และเรียนได้ดีค่ะ เราต้องสู้ ต้องอดทน ทำทุกอย่าง คือเราชอบทางด้านนี้ อยากรู้อยากเรียน หากมีปัญหารถเสียเราก็ซ่อมเองได้ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย รถเคยเสียซ่อมกับมือเองเลยค่ะ สบายมาก
...แล้วผู้หญิงเรียนทางด้านนี้ดีนะคะ เพราะตอนนี้ตลาดแรงงานตามศูนย์ต่างๆ ต้องการผู้หญิง เพราะผู้หญิงทำงานละเอียดรอบคอบ ใจเย็น เวลาติดต่อกับลูกค้าก็ดี ดูอ่อนโยนกว่าผู้ชาย
...ถ้าจบปวช.แล้วจะเรียนต่ออีกจนจบปริญญา และในอนาคตถ้าจบแล้วจะเปิดอู่ซ่อมรถเป็นของตัวเองค่ะ”
และในการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบโครงการนี้ ต้องผ่าน 11 สถานี คือสถานที่ 1 ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง 15 นาที, สถานีที่ 2 งานปรับตัวช่องว่างลิ้นไอดี 10 นาที, สถานีที่ 3 งานเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเฟืองท้าย งานตรวจวัดระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ 20 นาที, สถานี 4 งานเปลี่ยนช็อกอัพ 15 นาที, สถานี 5งานเปลี่ยนน้ำมันคลัตซ์-งานปรับตั้งคันเหยียบคลัตซ์ 20 นาที
...ต่อไปสถานีที่ 6 งานสลับยางสถานี ให้เวลา 20 นาที มาถึงสถานีที่ 7 เป็นงานบริการด้านแบตเตอรี่ให้เวลา 10 นาที, สถานีที่ 8 งานแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าเบื้องต้น เวลา 20 นาที มาถึงสถานีที่ 9 เป็นงานตรวจการรั่วของระบบระบายความร้อน มีเวลา 10 นาที และสถานีที่ 10 งานเปลี่ยนผ้าดิสก์เบรก ให้เวลา 20 นาที มาถึงสถานีสุดท้ายที่ 11 เป็นงานเปลี่ยนอัลเทอร์เนเกอร์ งานเปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่อง เวลา 15 นาที เป็นอันเสร็จสรรพกระบวนการทดสอบทางด้านสาขาช่างยานยนต์
เรวัติ ทรัพย์มามูล นักศึกษาผู้ฉายแววทางด้านมืออาชีพในสาขาช่างยานยนต์ได้อย่างดีเยี่ยม จากผลงานการเรียนอยู่ในระดับเกรดเฉลี่ย 3.98 เล่าว่า ตั้งแต่เด็กเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบแกะชอบรื้อของใช้ของเล่นต่างๆ จนได้ดี จึงไม่รอช้าที่จะเลือกเรียนในสายอาชีพนี้
“ตอนแรกที่บ้านไม่ให้เรียน กลัวจะตีกัน แต่พฤติกรรมของเราไม่ใช่คนอย่างนั้น เราสนใจด้านนี้จริงๆ เพราะชอบ ใจรัก ชอบศึกษาด้วยตนเอง อยากเป็นวิศวกร และอยากมีอู่เป็นของตนเอง แต่อาชีพนี้ก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ อยู่ที่ใจต้องรัก ใช้ความอดทน เพราะต้องรื้อเครื่องออกทั้งหมด และการซ่อมก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างการจะปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ต้องให้เครื่องยนต์ร้อนก่อนจึงจะเปลี่ยนได้ แล้วการที่เครื่องร้อนจะทำให้น้ำมันใสด้วย
...ตอนที่ไปฝึกงานได้เรียนรู้อะไรมาเยอะ ได้เรียนรู้เทคนิคพิเศษต่างๆ คือแอบเรียนรู้ เขาพูดเขาคุยกัน เราก็จดจำ แล้วยังทำให้เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น สามารถที่จะเข้ากับสังคมได้”
ส่วนสาขาช่างไฟฟ้ากำลัง น้องๆ ปฏิบัติการด้วยความชำนาญและเชี่ยวชาญ ผ่านหลักสูตรทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกันอย่างเต็มที่กรกฤต แซ่โก หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ทางด้านไฟฟ้า อดีตเจ้าของรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลเหรียญเงินโอลิมปิกระดับประเทศคนแรกของประเทศไทย และระดับอาเซียนอีกด้วย บอกว่า- -
“ผมทำงานไฟฟ้ามาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 ปี เพราะที่บ้านทำธุรกิจทางด้านไฟฟ้า ก็คลุกคลีเรียนรู้มาเรื่อย และก็ได้ช่วยที่บ้านทำงานด้วย
...และจากการที่ไปแข่งขันต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ได้เห็นบ้านเมืองของประเทศต่างๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาก ทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้น ทั้งประสบการณ์จากการทำงานด้วย พอหลังจากจบที่นี่ก็ได้มาสอนน้องๆ จึงนำประสบการณ์ทักษะต่างๆที่รู้มาถ่ายทอดให้น้องๆ ได้เรียนรู้ด้วย แล้วที่นี่ก็ยังให้ทุนเรียนต่อถึงในระดับปริญญาตรีอีกด้วยครับ”
ฉะนั้นสำหรับในโครงการทดสอบมาตรฐานฯ ตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา กรกฤตจึงเรียนรู้ในโลกกว้างทางสายอาชีพนี้ที่เขาจะต้องฝึกและพัฒนาต่อไปๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นตัวเชื่อมต่อให้ก้าวไกลบนถนนสายอาชีพนี้อย่างมุ่งมั่น
สุรีรัตน์ ไชยสิงห์ สาวไฟฟ้ากำลังอีกคนที่หลงเสน่ห์ในอาชีพนี้ เธอเล่าว่า - -
“ที่เลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะเห็นคุณย่าทำงานอยู่การไฟฟ้า ก็อยากทำบ้างจึงเลือกเรียน แล้วพอเรียนก็ยิ่งชอบ ซ่อมแก้ไขไฟฟ้าในบ้านได้หมดทุกอย่าง เวลาอะไรเสียก็ต้องเป็นคนทำ
...การทดสอบฯ ทำได้ตามมาตรฐาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้หมดทุกอย่าง ไม่ยากเลย อยู่ที่ใจเรา...เรารักด้านนี้”
หนุ่มมาดเข้ม — หฤษฎ์ หอกเพชร เล่าถึงประสบการณ์ทางด้านไฟฟ้าให้ฟังว่า- -
“ที่บ้านทำธุรกิจทางด้านนี้ มาตั้งแต่คุณปู่แล้ว แล้วพอมาเรียนก็ยิ่งสนุกที่ได้เรียน เสาร์-อาทิตย์ก็ไปช่วยงานคุณพ่อ ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก แต่พอตอนนี้ได้ไปช่วยเยอะมากขึ้น
…ตอนฝึกงาน ได้ฝึกที่โรงพยาบาลศิริราช ทำเป็นช่างแอร์ ดูแลด้านนี้ ได้พบกับปัญหาจริงๆ ได้ทำได้เรียนรู้ ปฏิบัติจริงๆ ถอดประกอบสายไฟ ทำหมด ตอนนี้แอร์ที่บ้านซ่อมและล้างเองด้วยครับ และที่โรงเรียนมีส่วนร่วมในโครงการ แอร์สะอาด ลดโลกร้อน กับการไฟฟ้าฯ ด้วย ซึ่งเป็นโครงการล้างแอร์ราคาถูก ประมาณ 250 บาทในแถบละแวกใกล้ๆ โรงเรียน
...และสำหรับมาตรฐานทดสอบฯ ตรงนี้ สบายมากครับ”
นอกจากนี้ สาขาอาชีพทางด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ก็มีระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไม่แพ้สาขาอื่นๆ น้องรุ้งกานดา ช.เจริญยิ่ง เล่าถึงมาตรฐานวิชาชีพทางด้านนี้ให้ฟังว่า- -
“เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด การเรียนรู้เบื้องต้น การเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในสำนักงาน การเขียน Webpage, Homepage การทำกราฟฟิก การทำแอนิเมชั่น ทั้งอินเตอร์เน็ต พาวเวอร์พ้อยท์ ทั้งการดูแลรักษาและการซ่อมประกอบด้วย
...ตอนนี้ทำสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ระดับป.1 เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ ฝึกให้เด็กจดจำได้ง่ายๆ
...สนุกค่ะได้เรียนรู้มากขึ้น ยิ่งถ้าได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจในฝีมือในอาชีพมากยิ่งขึ้น”
ดังนั้นเป้าหมายแห่งความสำเร็จในสาขาอาชีพอยู่ที่เรามุ่งมั่น ทำให้ดีที่สุด พร้อมพัฒนาให้ก้าวหน้าทันตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพื่อเชื่อมต่อโลกแห่งการศึกษาและโลกแห่งงาน...อย่างมืออาชีพ!!!
โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม
โทร. 0 2864 0358-67
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม : Ben Communications
เบญจมา บินซูกอร์ 081 733 1856