กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส.
การเก็บข้อมูลสถิติการเสียชีวิตของประชากรใน ต.ส้าน อ.เวียงสา จ.น่านโดยสถานีอนามัยตำบลส้านพบว่า มะเร็งตับ เป็นโรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตประชากรมากที่สุด โดยชาวบ้านส้านกว่าร้อยละ 30 มีสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากสารเคมีก็คือสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน
ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลส้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบลส้าน จึงได้ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงสา และสถานีอนามัยตำบลส้าน จัดทำโครงการ “ข่วงกำกึ๊ด” วิถีทางเลือกด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความน่าอยู่ เป็นสังคมที่มีจิตใจดีงานมีความเอื้ออาทร ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายประยูร อินต๊ะวิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาส้าน ประธานโครงการข่วงกำกึ๊ดฯ เปิดเผยว่า ตำบลส้านมีประชากรอยู่ 370 ครัวเรือน มีอาชีพทำการเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด และรับปลูกเมล็ดพันธุ์พืช โดยอาศัยน้ำจากลำห้วยร่องเป้ามาใช้ในภาคการเกษตรและใช้อุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงในชุมชนพบว่า ปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชนเกิดขึ้นตั้งปี 2539 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาแหล่งน้ำขาดแคลน สารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร บรรดาพืชผัก ปลาเล็กปลาน้อยในลำห้วยก็เริ่มหายไป ชาวบ้านเริ่มดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อความยากลำบากทวีความรุนแรง ชาวบ้านจึงเริ่มตื่นตัวที่จะค้นหาต้นตอของปัญหา เริ่มจากการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันในวงเล็กๆ เริ่มขยายขึ้นเป็นวงใหญ่ ทาง อบต.จึงได้จัดเวทีการประชุมประชาคมหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการขึ้นในปี 2549 เพื่อให้เปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้ร่วมเล่า และรับฟังปัญหาในทุกแง่มุมของสมาชิกแต่ละคน
“ปัญหาที่คนในชุมชนรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก คือการประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ทำให้ได้ผลผลิตน้อย รายได้ของครอบครัวไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เมื่อทุกคนเกิดความตระหนักและเข้าใจในปัญหาแล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะเริ่มระดมความคิดหาวิธีทางแก้ไข ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ โดยทาง อบต. ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเวทีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน เป็น ‘ข่วงกำกึ๊ด’ ซึ่งคำว่า ‘ข่วง’ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ลาน ส่วนคำว่า ‘กำกึ๊ด’ แปลว่าความคิด เมื่อรวมกันจึงหมายถึงลานความคิด ที่เป็นศูนย์รวมความฝันร่วมกันของคนหลากหลายความคิดที่อยากให้เกิดเป็นสังคมที่ดีงาม ซึ่งจะทำให้สมาชิกในชุมชนรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะแง่มุมใดก็ตาม ก็คือปัญหาของตัวเอง ที่จะต้องมีส่วนร่วมแก้ไขโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นปัญหาของใคร” นายประยูรกล่าว
ลานข่วงกำกึ๊ดของชุมชน ตั้งอยู่ใน “วัดนาส้าน” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านมักจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะประเพณีงานบุญงานกุศลต่างๆ อีกทั้งเยาวชนมักมารวมตัวกันเล่นกีฬาที่ลานวัดทุกเย็น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงสา และสถานีอนามัยตำบลส้าน จะนัดหมายชาวบ้านมาร่วมกันนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินเป็นประจำทุกเดือน
ด้านนางมาลี นันทะเสน อายุ 70 ปี เกษตรกรอาวุโสของ ต.ส้าน เปิดเผยว่า กว่า 10 ปีที่ชาว ต.ส้าน ต้องประสบปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่ ทำให้การทำมาหากินยากลำบาก จะปลูกอะไรก็ต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ แม้จะได้เงินเพิ่มแต่สุขภาพกลับเสื่อมโทรมลง
“เมื่อมีมติชุมชนให้ช่วยกันสร้างฝาย ปลูกผัก เลี้ยงปลาในห้วยร่องเป้า รวมถึงเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบชีวภาพ แม้ผลผลิตทางการเกษตรจะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ทุกวันนี้ทุกคนในชุมชนต่างก็กินอิ่มนอนหลับ สุขภาพแข็งแรง มีเงินส่งลูกหลานเรียนได้ตามที่ตั้งใจ เพราะธรรมชาติที่ทุกคนได้ช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมา ได้กลายเป็นฐานทรัพยากรอาหารให้แก่ทุกคนในชุมชนได้อย่างเป็นดี” ป้า...กล่าวด้วยความภูมิใจ
เมื่อแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์แล้ว มติของชาวบ้านจากเวที “ข่วงกำกึ๊ด” ที่ดำเนินงานต่อไปคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติโดยลดการสารเคมี ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในภาคการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงรณรงค์ให้มีการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายแก่คนทั้งในและนอกชุมชนได้ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพแบบพึ่งพาตนเอง อันจะทำให้ชาวบ้านสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของชีวิตอีกต่อไป.
PP
เบอร์โทรศัพท์ : 081