ผอ.กรมทรัพย์สินฯ แนะจดสิทธิบัตร ICT คุ้มครองพร้อมลุ้นต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา รูดม่านเปิดฉากกันไปแล้ว สำหรับงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 ที่มี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นแม่งาน 6-8 ก.พ.52 ณ พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน ภายในงานนอกจากงานประกวด ผลงานด้าน ICT ของ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่ถือเป็นไฮไลท์แล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสรสนเทศที่น่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของผลงาน ที่นักเรียน นักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าประกวด ว่ามีโอกาสมากน้อยและมีความยาก ง่ายแค่ไหน หากจะมีการจดสิทธิบัตรเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ร.ต. ชุมพิชัย สวัสดิ์ — ชูโต ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา บอกถึงความจำเป็นของการยื่นจดสิทธิบัตรว่าจะช่วยคุ้มครองผลงานที่เป็นการสร้างสรรค์จากความคิดของเยาวชน นอกจากนี้หากมีการนำไปต่อยอดทั้งเชิงวิชาการ และเชิงพาณิชย์ สิ่งประดิษฐ์ที่ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้วก็จะได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องกันไปด้วยเช่นกัน “แต่สิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ก่อนการที่น้องๆ เยาวชน จะคิดหรือประดิษฐ์สิ่งใดก็ตามควรที่จะค้นหาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศก่อนว่า สิ่งที่เราคิดจะทำนั้น มีใครทำมาก่อนหน้านี้หรือยัง ไม่เช่นนั้นหากเราไปทำซ้ำ เมื่อต้องการจะนำไปต่อยอดก็จะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรไปโดยทันที โดยสามารถที่จะค้นหาข้อมูลได้จากหลายแหล่ง เช่นที่เว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.org หรือที่ http ://patentsearch.go.th. ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลภาษาไทยขนาดใหญ่ของผลงานที่ได้มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว” สำหรับเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นฐานข้อมูลของบริษัทเอกชน มีให้เลือกหลายแห่ง อาทิเช่นของ Mateo, WIPS และ Thomson Dervant ซึ่งมีครอบคลุมแต่มีค่าใช้จ่ายและผู้ใช้ต้องมีภาษาอังกฤษที่แข็งแรกพอสมควร ร.ต.ชุมพิชัย ยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร กับอนุสิทธิบัตร ว่าส่วนใหญ่คนจะคิดว่าผลงานประดิษฐ์ที่มีเทคโนโลยีสูง ซับซ้อน จะต้องจดเป็นสิทธิบัตรเพื่อให้การคุ้มครองได้ยาวนานกว่าการจดอนุสิทธิบัตร แต่กลับกัน ในความจริงแล้ว ผลงานที่มีความซับซ้อน ลอกเลียนได้ยากควรจะจดเป็นอนุสิทธิบัตรมากกว่า ขณะที่ผลงานที่ลอกเลียนได้ง่าย รูปแบบการใช้งานไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง กลับควรจดเป็นสิทธิบัตรที่สามารถคุ้มครองได้ยาวนานกว่า “ยกตัวอย่างไม้จิ้มฟันก็ยังต้องจดเป็นสิทธิบัตร เพราะเลียนแบบง่าย การใช้งานไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิทธิบัตรสามารถจะคุ้มครองไปได้ยาวนานถึง 20 ปี สามารถยกให้เป็นมรดกได้ ขณะที่อนุสิทธิบัตรมีระยะเวลาการคุ้มครองยาวนานเพียง 10 ปี ก็จะกลายเป็นของสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่ ดร.ศรันย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยของเนคเทค กล่าวสนับสนุน การค้นคว้าข้อมูลการจดสิทธิบัตรว่า ควรเป็นสิ่งแรกก่อนจะเริ่มทำการประดิษฐ์ และเมื่อสำเร็จแล้วไม่ว่ามีความตั้งใจจะนำไปใช้อย่างไรในอนาคตก็ควรจะจดสิทธิบัตรเอาไว้ก่อน ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัทเอกชนมีการนำสิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยที่มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ไปผลิตในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้ขออนุญาต ทางมหาวิทยาลัยก็สามารถฟ้องร้องจนชนะเรียกค่าเสียหายกับบริษัทผู้ละเมิดสิทธิบัตรได้ อันนี้คือตัวอย่างของการจดสิทธิบัตรเอาไว้ก่อน ผลงงานของเราก็ย่อมจะได้รับการคุ้มครองไปกระทั่งจนอายุของสิทธิบัตรที่เราได้จดไว้หมดลง รายละเอียดข้อมูล นิตยา ธานินทร์ธนารักษ์ โทร. 083 244 4613,084 3572060 เบอร์โทรศัพท์ : 083 244 4613 , 084 357 2060

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ