ถอดรหัส ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ จ.น่าน เวทีเรียนรู้เพื่อก้าวสู่เมืองครอบครัวเข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2009 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.-- เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ถอดบทเรียนครอบครัวพอพียง” ระหว่างกลุ่มแกนนำจากชุมชนต่างๆ กว่า 20 ชุนชน ขึ้น ณ วัดอรัญญาวาส ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค้นหาวิธีการนำความพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในแต่ละครอบครัวเพื่อนำไปสู่การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นายแพทย์คณิต ตันติศิริวิทย์ ประธานศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.น่าน เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัวของคนน่านว่า มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่ทำให้หลายๆ ครอบครัวหันไปมองเรื่องของเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักที่สำคัญ ซึ่งหากมองดูแต่ภายนอกก็ดูเหมือนว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆแล้วก็มีความเสี่ยงอยู่มาก จุดที่สำคัญก็คือพ่อแม่ไม่มีโอกาสมากนักที่จะเป็นคนที่สั่งสอนเลี้ยงดูลูก มีเวลาสอนลูกน้อยลง เพราะทุกวันนี้นอกจากเรื่องเศรษฐกิจจะรัดตัวทำให้ลืมที่จะมองว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ตนเองยังจะต้องทำหน้าที่คอยสอนสั่งในสิ่งที่เป็นวิถีหรือแนวทางการดำรงชีวิตให้ลูกที่จะช่วยให้เค้าสามารถอยู่รอดในสังคมปัจจุบันได้ “คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงของเราได้ทรงตรัสไว้นั้นส่วนหนึ่งก็คือการมีภูมิคุ้มกันหรือโอกาสที่จะรู้เท่าทันสังคม แต่ในปัจจุบันต้องถือว่าคนในสังคมของเรามีความรู้เท่าทันไม่เพียงพอเท่าไหร่ เพราะสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นที่เข้ามารอบๆ ตัวเรานั้น เข้ามาอย่างรวดเร็ว และเข้ามาอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะมาทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางอื่นๆ เพราะฉะนั้นเด็กๆ จึงขาดคำแนะนำสั่งสอนจากคนที่รักเขา อย่างทีวีที่มีความรู้สารพัดอย่างทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน ถ้าลูกของเราโชคดีก็ได้รับสิ่งที่ดีไป แต่ถ้าโชคไม่ดีเขาก็จะได้รับแต่ค่านิยมที่ผิดๆ ในเรื่องของการบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยมจากในทีวี” นพ.คณิต ระบุ ด้าน นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน เปิดเผยว่า การจัดเวทีครอบครัวเข้มแข็งที่ผ่านมาทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ในเกือบทุกเวทีและทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นจะนำไปสู่ความเป็นครอบครัวที่พอเพียง เพราะความพอเพียงคือความสามารถในด้านการจัดการตนเอง การจัดระบบระเบียบของการผลิตในระดับครอบครัว “บทเรียนสำคัญของเวทีในวันนี้เราพบว่า หลังจากที่แต่ละชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันแล้วได้เกิดการนำไปสู่การจัดการให้เกิดความพอเพียงในครอบครัว ซึ่งพบว่าในการจัดการความรู้ของเราในวันนี้จะเห็นว่าแต่ละชุมชนซึ่งมีวิธีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน แต่กลับมีผลที่เหมือนกัน เพราะคำว่าพอเพียงเป็นหลักการพื้นฐาน ถ้าเราไม่เริ่มจากครอบครัวก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ความพอเพียงเป็นพื้นฐานของการจัดการตัวเองเป็นพื้นฐานของการที่จะสื่อสารกันในระหว่างครอบครัว คำว่าพอเพียงมันมีนัยยะในเชิงตัวเลข ในเชิงบริหารจัดการ ในเชิงปรัชญารวมอยู่ในนั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นกระแสพระราชดำรัสที่เราต้องน้อมนำมาปฏิบัติ ถามว่าการกระทำในระดับใดจึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คำตอบก็คือต้องทำในระดับครอบครัวโดยไม่ต้องเรียกร้องอะไรจากใคร เริ่มต้นได้ที่ครอบครัวของตนเอง” นายสำรวยกล่าว เวทีการจัดงานในวันนี้จึงเป็นการสร้างให้ทุกๆ ชุมชนได้มองเห็นหลักฐานของการกระทำตามหลักพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมว่า คำว่าพอเพียงนั้นสามารถทำได้จริงๆ โดยสามารถรับรู้ได้ผ่านวิธีการที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชนที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน นอกจากจะช่วยสร้างให้เกิดความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ ยังก่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวหรือชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่ง นางสุภาพ สิริบรรสพ รองประธานโครงการฯ และนักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลน่านได้สรุปบทเรียนหลังจากที่แต่ละชุมชนได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ว่าจะได้องค์ความรู้ในการนำเอาหลักความพอเพียงไปใช้ในการจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตครอบครัวทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดการสุขภาพ อาหารปลอดภัย การลดการใช้สารเคมีฯลฯ ซึ่งเป็นการนำเอาหลักความพอเพียงเข้าไปปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามบริบทของชุมชนนั้นๆ “พื้นที่ๆ เป็นชุมชนเมืองก็นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในเรื่องของการจัดการขยะและหมอกควันจากการเผาขยะ ในพื้นที่ๆ เป็นสังคมเกษตรกรรมก็จะนำเข้าไปลดต้นทุนการผลิต เข้าไปสร้างเสริมในเรื่องของสุขภาพที่เกิดจากภาวะความเสี่ยงเช่นสารพิษตกค้างในร่างกาย แหล่งน้ำปนเปื้อนสารเคมี ลดต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราพบว่าการที่จะทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งได้ ครอบครัวต้องเข้มแข็งก่อน แต่ครอบครัวจะเข้มแข็งโดยจะอาศัยเพียงแต่ประสบการณ์หรือความรู้ที่สืบต่อๆ กันมาเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้สมัยใหม่เพิ่มเข้ามา นั่นก็คือความรู้และภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เรารู้เท่าทันโลกในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งถ้าเราแห่ไปตามกระแสบริโภคนิยม เราก็จะต้องหาเงินเพิ่มความต้องการของตนเองโดยไม่ได้ดูว่ามีศักยภาพที่จะทำได้ขนาดไหน เพราะหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็คือความพอประมาณ สมเหตุสมผล และมีภูมิคุ้มกัน ถ้าคุณทำอะไรที่เกินพอดี คุณก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นครอบครัวจะเข้มแข็งก็จะต้องมีความรู้เท่าทันโลก เพราะสังคมของเรานั้นมันเป็นพลวัตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเราไม่สามารถตามโลกได้ทันตลอดเวลา แต่ความพอเพียงนั้นจะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยถ่วงดุลและทำให้เรารู้ทัน ไม่ทำอะไรที่เกินตัว ซึ่งถ้าทำอะไรที่เกินตัวมันก็จะสร้างหนี้สร้างความทุกข์ให้กับตนเองและครอบครัว” นางสุภาพระบุ การทำงานของศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.น่าน จึงเป็นการชักชวนให้ชาวบ้านหันมาสนใจในครอบครัวของตนเอง สนใจในสร้างสิ่งดีๆ ให้กับลูกหลาน ผ่านหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะจากการทำวิจัยพบว่าปัญหาในปัจจุบันเกือบทั้งหมดพบว่าเกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พอเพียงทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่พอ เมื่อไม่พอก็พยายามที่จะแสวงหารายได้หามูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นได้สร้างสิ่งที่ดีให้กับครอบครัวหรือลูกหลานของตนเองหรือไม่ “คำว่าไม่พอเพียงเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ดังนั้นการนำเอาความพอเพียงมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ จะช่วยดึงให้คนหันมาให้หาเวลาให้กับลูกหลาน สอนให้ลูกหลานของตัวเองดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง ครอบครัวจะเข้มแข็งได้ถ้าทุกคนหันกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับครอบครัวของตนเอง และมีเวลาให้กันและกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องมีกิจกรรมหรือเวทีอะไรก็ได้ที่ทำให้พ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกันได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งงานทั้งหมดจะสำเร็จได้เราต้องอาศัยภาคี ซึ่งภาคีในครอบครัวก็คือพ่อ-แม่-ลูก และที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องสร้างเครือข่าย จะต้องมีพ่อ-แม่-ลูกอีกหลายๆ ครอบครัวเข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่ายที่จะช่วยกันขยายผลความเข้มแข็งจากภายในครอบครัวออกไปสูชุมชนและสู่สังคม” นพ.คณิต กล่าวสรุป PP เบอร์โทรศัพท์ : 081

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ