กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส.
ปัญหาการบุกรุกผืนป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินทางการเกษตรในพื้นที่ป่าต้นน้ำสายสำคัญต่างๆ ของประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบและความสมดุลทางธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ที่เคยมีในอดีตได้ลดน้อยลงไป จนเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าต้นน้ำและชุมชนที่อยู่ปลายน้ำ
อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องเพราะเป็นพื้นที่ภูเขาชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นป่าน้ำสายสำคัญคือ “ลำน้ำว้า” และ “ลำน้ำมาง” ซึ่งจะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำน่าน เมื่อป่าต้นน้ำเริ่มเสื่อมโทรมลงด้วยปัญหาการถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรและการใช้สารเคมี ทำให้ระบบนิเวศวิทยาเกิดความเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยลำน้ำทั้งสองสายหล่อเลี้ยงชีพมานานหลายชั่วอายุคน
กลุ่มคนฮักเมืองน่าน อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชนในทุกระดับได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งน้ำและพื้นที่ป่า จึงได้จัดทำ “โครงการน้ำว้า น้ำมาง สายน้ำแห่งชีวิต ชุมชนบนพื้นที่สูง” เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำเห็นถึงความสำคัญของการรักษาแหล่งน้ำและป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ให้การสนับสนุน
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ เปิดเผยว่า สสส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพราะน้ำมีความเกี่ยวโยงกับการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุมชนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการอุปโภคและบริโภค จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการลุ่มน้ำในชุมชนของตนเอง ให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนยาวนาน
“โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ต้นน้ำน่าน ได้ตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรน้ำ ซึ่งชาวบ้านจะเกิดความระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรน้ำมากยิ่งขึ้น ทั้งการนำน้ำไปใช้ในภาคการเกษตร หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ เช่น การตัดไม้ หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมเป็นต้น” นางสาวงามจิตต์กล่าว
นายเมธาวัฒน์ พุทธิธาดากุล ประธานโครงการน้ำว้า น้ำมางฯ เปิดเผยว่า โครงการฯนี้ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2551 เพื่อสานต่อโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มคนฮักบ่อเกลือที่ต้องการอนุรักษ์ป่าและน้ำซึ่งเป็นฐานทรัพยากรอาหารและอาชีพ โดยดำเนินการในพื้นที่ 4 ตำบลในอำเภอบ่อเกลือได้แก่ ต.ดงพญา ต.บ่อเกลือเหนือ ต.บ่อเกลือใต้ และ ต.ภูฟ้า ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
“ในอดีตเกษตรกรมักทำไร่เลื่อนลอย มีการตัดไม้ที่อยู่บริเวณต้นน้ำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันจึงเกิดการชะล้างพังทลายของดิน คุณภาพดินต่ำ ทำให้ต้องขยายพื้นที่ทำกิน จึงเกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ ผลกระทบที่ตามมานอกจากพื้นที่ป่าจะถูกทำลายแล้ว ยังเกิดปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน แม่น้ำปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ สร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรชุมชนบนพื้นที่สูงได้ร่วมกันอนุรักษ์ ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง” นายเมธาวัฒน์กล่าว
โครงการน้ำว้า น้ำมางฯ เริ่มดำเนินการโดยค้นหาแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ ทั้งในกลุ่มผู้นำชุมชน และผู้นำเยาวชนของท้องถิ่น ซึ่งจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับคนในชุมชนผ่านเวทีทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักและเข้าใจในแนวทางการทำงาน ซึ่ง ตำบลดงพญา เป็นอีกตำบลหนึ่งที่นำแนวทางการดำเนินของโครงการฯ มาใช้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรของท้องถิ่น โดยในตำบลแห่งมี 7 หมู่บ้าน มีประชากรราว 3 พันคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด และข้าวไร่ ซึ่งเกิดปัญหาการตัดถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
นายมี งามนิธิวุฒินันท์ รองนายก อบต.ดงพญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันตำบลดงพญาได้กำหนดให้เขตพื้นที่บริเวณที่เป็นป่าต้นน้ำให้เป็นเขตป่าชุมชน มีกฎระเบียบป่าชุมชนห้ามตัดไม้และห้ามทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้มากที่สุด
“จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ตำบลดงพญามีลำห้วยซึ่งไหลมาจากป่าต้นน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวน 239 ลำห้วย จึงได้มีการจัดพื้นที่ป่าต้นน้ำของทุกลำห้วยให้เป็นเขตป่าชุมชน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำทุกแห่งมีน้ำใช้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคโดยไม่ขาดแคลน และมีการขอความร่วมมือในการลดใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมทุกประเภท ซึ่งชาวบ้านก็เห็นด้วยเพราะต่างตระหนักดีว่าน้ำคือชีวิต” นายมีกล่าว
กิจกรรมที่ทาง อบต.ดงพญา ทำร่วมกับสมาชิกในชุมชน เน้นหนักในการสร้างจิตสำนึกให้รู้จักหวงแหนและสานต่อดูแลทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนจะมีการจัดกิจกรรม “ทำประวัติแม่น้ำ” โดยให้เยาวชนได้ขอข้อมูลจากผู้อาวุโสเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของแหล่งน้ำสายต่างๆ ในชุมชนรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่เคยมีอยู่ในอดีต แล้วนำมาเปรียบเทียบด้วยตนเองว่าในปัจจุบันมีทรัพยากรสิ่งใดที่สูญหายไปบ้าง แล้วนำมาร่วมคิดร่วมทำกับเครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์ใน อ.บ่อเกลือ ในการหาวิธีฟื้นฟูธรรมชาติในท้องถิ่น
ทางด้าน นายวัน อินสุด คณะกรรมการป่าชุมชน ต.ดงพญา กล่าวว่า กว่า 66 ปีที่ตนเองได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำน่านได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย ในอดีตป่ามีความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าหลายชนิดชุกชุม แต่ได้สูญหายไปเนื่องจากการรุกล้ำเขตป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งหากินของสัตว์ สายน้ำที่เคยใสสะอาดก็กลายเป็นน้ำโคลนสีแดงขุ่นจนใช้บริโภคไม่ได้
“ในวันนี้ชาวบ้านต่างตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำอย่างเต็มที่ ทำให้เริ่มพบเห็นสัตว์ป่าที่เคยสูญหายอีกครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าป่าเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ซึ่งหากเรามีป่าที่สมบูรณ์ก็จะทำให้ลูกหลานและเด็กรุ่นใหม่ได้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดิน ซึ่งมีสายน้ำแห่งชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ไว้คอยหล่อเลี้ยงทุกลมหายใจของคนต้นน้ำและคนปลายน้ำไปอีกนานแสนนาน” นายวัน ปราชญ์ชาวบ้านของ ต.ดงพญา กล่าวสรุป
PP
เบอร์โทรศัพท์ : 081