กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส.
การดื่มเหล้าเป็นปัญหาสำคัญที่แฝงอยู่กับวัฒนธรรมไทยมาเนิ่นนาน จนก่อให้เกิดค่านิยมการดื่มเหล้าในโอกาสต่างๆ เช่นงานบุญ งานบวช แม้กระทั่งงานศพสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยนิยมดื่มเหล้าในเทศกาลงานบุญต่างๆ จนแทบจะเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตประจำวันนั่นก็คือ การมีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ วางจำหน่ายอยู่โดยทั่วไปและหาซื้อได้ง่าย โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน
จังหวัดแพร่เองก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน จากข้อมูลการเก็บภาษีเหล้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ในปี 2549 พบว่าสามารถเก็บภาษีเหล้าได้ถึงเดือนละ 230,000 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนแพร่ดื่มเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน และเมื่อศึกษาลึกลงไปยังพบว่าปริมาณการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะมาจากงานเลี้ยงและงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งตรงกับข้อมูลการสำรวจปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของสตรีวัย 15-45 ปี ในพื้นที่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย ที่พบว่าดื่มเหล้าถึงร้อยละ 69.5 และมักดื่มเมื่อมีการเข้าสังคม เช่นงานบุญ งานวัด พบปะเพื่อนฝูงถึงร้อยละ 46.5
ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมและบริบทของสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดแพร่รู้สึกว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติในชีวิต โดยไม่ได้ฉุกคิดถึงพิษภัยของการดื่มเหล้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างปัญหาด้านเศรษฐกิจให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเล่นการพนัน และนำพาไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจราจรในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุไทรฟัก จึงได้ร่วมกับ องค์กรศาสนา, สภาวัฒนธรรมตำบล และ องค์การส่วนบริหารส่วนตำบลทุ่งกวาว จัดทำโครงการ “วัฒนธรรมนำสุข งานศพงดเหล้าและการพนัน ตำบลทุ่งกวาว” ขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างวัฒนธรรมอันดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
นางสาวธาดา เจริญกุศล หัวหน้าโครงการวัฒนธรรมนำสุขฯ เปิดเผยว่า ทางโครงการฯ ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุไทรฝัก และองค์กรส่วนท้องถิ่นจัดการประชุมแกนนำชาวบ้านเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยร่วมกันกำหนดมาตรการงดเหล้าและการพนันในงานศพ รวมถึงปลุกกระแสให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“เราได้กำหนดข้อตกลงร่วมกันของชุมชนและร่างเป็นพันธะสัญญาขึ้นมาว่า เราจะไม่ดื่มสุราและไม่เล่นการพนันในงานศพ ซึ่งถ้าบ้านไหนทำตามกฎระเบียบที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้นมาจะได้รับเงินสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมตำบล ซึ่งมาจากการทำผ้าป่าของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ให้เป็นกำลังใจให้ครอบครัวละ 1,000 บาท และการที่ทางโครงการฯ ได้เน้นการทำงานไปที่กลุ่มผู้สูงอายุนั้น เนื่องเพราะผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของครอบครัว เป็นบุคคลที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ และมักจะเชื่อฟังคำแนะนำตักเตือนต่างๆ จึงต้องอาศัยผู้สูงอายุในการช่วยกระตุ้นและบอกกล่าวกับคนในชุมชนให้รู้ว่า เจ้าภาพที่จัดงานศพโดยไม่มีการดื่มเหล้าและเล่นการพนัน จะลดค่าใช้จ่ายไปได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท นอกจากนี้ยังช่วยลดอุบัติเหตุ เมื่อเล่นการพนันก็ทำให้เกิดการเสียเงิน พอได้กินเหล้าร่วมด้วยมีอาการมึนเมาก็จะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทบาดเจ็บซึ่งมีแต่ข้อเสีย” นางสาวธาดากล่าว
คุณยายจำปา ตนาวรรณ วัย 70 ปี รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งกวาว บอกว่าหลังจากที่ชุมชนได้มีการร่วมลงนามในพันธะสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมา เท่าที่สังเกตดูในงานศพต่างๆ ที่จัดขึ้นก็แทบจะไม่เห็นภาพของการดื่มเหล้าหรือการเล่นการพนันของชาวบ้าน เพราะแกนนำชุมชนอย่างกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องจนชาวบ้านเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญ
“ในการจัดงานถ้าเราไม่กินเหล้าไม่เล่นการพนันมันก็เป็นผลดีกับเจ้าภาพ ไม่ต้องไปเสียเงินกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ อีกประการหนึ่งก็คือพิธีกรรมต่างๆ ของบ้านเราก็จะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งการดื่มเหล้าและเล่นการพนันนั้นเป็นภาพที่ดูแล้วไม่มีความสำรวม ไม่เหมาะสมกับงานศพที่มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ” รองประธานสภาวัฒนธรรมกล่าว
นับตั้งแต่ชาวตำบลทุ่งกวาวได้เริ่มทำพันธะสัญญาขึ้นมาจนถึงเดือนธันวาคม 2551 ได้มีงานศพเกิดขึ้นมาถึง 7 ครั้ง โดยมีงานที่เจ้าภาพสามารถจัดเป็นงานศพงดเหล้าและการพนันได้เพียง 3 งาน สาเหตุหลักที่ทำให้ในงานศพยังมีการดื่มเหล้าและเล่นการพนันอยู่ก็คือแขกหรือญาติๆ ของเจ้าภาพที่มีจากต่างถิ่น
“ปัญหาที่การจัดงานศพส่วนใหญ่ยังมีเหล้าและการพนันเกิดขึ้นมาจากญาติของเจ้าภาพที่มาร่วมงานเป็นส่วนมาก เพราะเพื่อนบ้านเองก็รู้แล้วว่าในชุมชนมีกฎและกติกาแบบนี้จึงไม่ได้เรียกร้องอะไรจากเจ้าของงาน แต่ญาติที่เดินทางมาจากที่อื่นๆ มักจะมีค่านิยมในการดื่มเหล้าหรือเล่นการพนันเพื่อเป็นเพื่อนศพ เจ้าภาพเองก็มีความเกรงใจไม่อยากขัดจึงทำให้หลายๆ งานยังไม่สามารถทำตามกติกาของชุมชนได้” นางประนอม โพพิรุณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ระบุ
ในส่วนของ คุณยายจำปี มั่นเหมาะ อายุ 74 ปี เจ้าภาพงานศพที่เพิ่งจัดงานไปเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่บอกว่าได้รู้เรื่องโครงการนี้มาจากการร่วมประชุมของศูนย์ผู้สูงอายุฯ และจากผู้ใหญ่บ้าน เมื่อมีศพเกิดขึ้นมาจึงได้นำป้ายพันธะสัญญาของชุมชนไปติดให้ญาติหรือแขกที่มาร่วมงานได้เห็นทำให้งานศพที่จัดขึ้นไม่มีการดื่มเหล้าและเล่นการพนันเลย
“การจัดงานศพปลอดเหล้าปลอดการพนันนั้นเจ้าภาพเองก็สบายใจว่าเป็นการจัดงานบุญจริงๆ ไม่มีอบายมุขมาเกี่ยวข้อง ผู้ที่มาร่วมงานก็ได้บุญอย่างเต็มที่ ยิ่งเราเอาป้ายงานศพงดเหล้าและการพนันไปติดไว้ที่หน้าบ้าน และบอกกับแขกหรือญาติว่าชุมชนของเรามีกติกาตรงนี้ขอร้องไม่ให้กินเหล้าที่บ้านศพ ทุกคนที่มาร่วมงานก็จะเกิดความเข้าใจ” คุณยายจำปีกล่าว
การแก้ปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมที่ผิดๆ ของประชาชนในงานศพด้วยการใช้กระบวนการทางประชาสังคม โดยคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบและแนวทางในการที่จะลด ละ เลิกเหล้าและการพนันในชุมชน จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต