กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--สสวท.
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. และวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขอเชิญครูวิทยาศาสตร์และนักเรียนสายวิทยาศาสตร์เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับละครวิทยาศาสตร์ และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (ค่ายละครวิทยาศาสตร์) ระหว่างวันที่ 6 — 8 มีนาคม 2552 ณ สสวท. หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ครูและนักเรียนมีทักษะด้านละครวิทยาศาสตร์และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจถึงการนำเอาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์บางเรื่องมาสอนโดยผ่านการแสดงละคร รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละครกับการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนปกติได้ด้วย
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องได้รับอนุญาตจากโรงเรียนที่สังกัดให้เข้ารับการอบรม ผู้เข้ารับการอบรม 1 โรงเรียน ประกอบด้วย ครูที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ 1 คน และนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ 5 จำนวน 2 คน ครูและนักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากที่พักถึง สสวท. (ไป — กลับ) โดย สสวท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรม (สามารถเข้าพักที่ สสวท. ในวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2551 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป)
ผู้สนใจดาวน์โหลดใบสมัครได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th แล้วส่งใบสมัครตามแบบฟอร์มที่แนบ ภายในวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ น.ส. มาเรียม งามขำ 0 2392 4021 ต่อ 2112 โทร. 08 9890 0735 ค่ายละครวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ดำเนินงานภายใต้โครงการสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับโลกอนาคตแก่สาธารณชน เน้นการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนัก และความเข้าใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับนักเรียนและสังคมในปีที่ผ่านมา โดยการนำการแสดงละครวิทยาศาสตร์ (Science Drama) และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมทำให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานตามที่สังคมในปัจจุบันต้องการ เนื่องจากการนำเนื้อหาวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดผ่านการแสดงละคร จะทำให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่อ และนักเรียนจะได้ซาบซึ้งและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น